CKP ลุ้นลานีญาพากำไรปัง!

แม้ผลประกอบการในไตรมาส 1/2567 ของ CKP ซึ่งทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า มีตัวเลขขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 460 ล้านบาท


คุณค่าบริษัท

แม้ผลประกอบการในไตรมาส 1/2567 ของบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP ซึ่งทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า มีตัวเลขขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 460 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 104 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักมาจากการรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในโรงไฟฟ้าไซยะบุรี (XPCL) จากปริมาณการขายไฟฟ้าที่ลดลง และค่าใช้จ่ายทางการเงินที่เพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ตามแนวโน้มดอกเบี้ยโลก

แต่ถ้ามองข้ามช็อต CKP ยังมีสตอรี่เชิงบวกจากการถูกมองว่า ผลประกอบการได้ผ่านจุดต่ำสุดของรอบไปแล้ว และจะเริ่มดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2/2567 เป็นต้นไป เนื่องจาก 1)โรงไฟฟ้าโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 (NN2) ได้มีการประกาศปริมาณไฟฟ้าที่จะผลิตในเดือน  พ.ค.-มิ.ย. 2567 สูงขึ้นมากจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2)อัตราการไหลผ่านของน้ำของโรงไฟฟ้าไซยะบุรีปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าและช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นเดือนแรกในปี 2567 และ 3)ต้นทุนทางการเงินของโรงไฟฟ้าไซยะบุรีสามารถทรงตัวได้ที่ระดับ 7.0% หลังผ่านรอบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดและธปท.

โดย บล.หยวนต้า ระบุเพิ่มเติมว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญที่เริ่มคลี่คลายและโอกาสในการเกิดปรากฏการณ์ลานีญาในช่วงครึ่งปีหลัง จะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนการฟื้นตัวของผลประกอบการของ CKP ในช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไป

สอดคล้องกับมุมของบล.กรุงศรี ยังคงยืนยันมุมมองว่าผลประกอบการของ CKP จะเข้าสู่วัฏจักรขาขึ้นในปี 2567 โดยคาดว่าผลประกอบการระยะสั้นรายไตรมาสน่าจะเริ่มดีขึ้นจากไตรมาส 2/2567 เป็นต้นไป ในขณะที่ผลประกอบการจากธุรกิจหลักน่าจะพลิกฟื้นจากที่ขาดทุนในไตรมาส 1/2567 มาเป็นมีกำไรจากธุรกิจหลัก 100 ล้านบาท ในไตรมาส 2/2567

เนื่องจาก 1)ปริมาณการผลิตไฟฟ้าของโครงการโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 เพิ่มขึ้น 2)รับรู้ผลขาดทุน equity loss จากโรงไฟฟ้าไซยะบุรีลดลง และ 3)ต้นทุนก๊าซของ SPP ลดลง โดยคาดว่าสภาพอากาศจะเริ่มเข้าสู่ภาวะลานีญาในเดือน ส.ค. 2567 และจะช่วยหนุนกำไรจากธุรกิจหลักในไตรมาส 3/2567 ซึ่งเป็นช่วง peak ตามฤดูกาล

ด้าน บล.เคจีไอ ระบุว่า สำหรับ CKP ยังคงประมาณการกำไรหลักในปี 2567 เติบโต 26%, ปี 2568 เติบโต 19% และปี 2569 10% จากกระแสน้ำใหม่เข้าเขื่อนมากขึ้นตามความเป็นไปได้ในการเกิดภาวะลานีญา อย่างไรก็ดียังคงมองบวกกับแนวโน้มโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำต่าง ๆ ในปี 2567 โดยเฉพาะในไตรมาส 3/2567 ซึ่งจะเห็นกำไรของ CKP ดีดขึ้นจากไตรมาสก่อนอย่างมาก เพราะเป็นไฮซีซัน และคาดเกิดภาวะลานีญาในเดือน ส.ค.- ธ.ค. 2567

นอกจากนั้น คาดกำไรในไตรมาส 2/2567 ฟื้นตัวจากไตรมาสก่อน ถูกขับเคลื่อนโดยการเข้าสู่ภาวะ “Neutral” ในเดือน เม.ย.-ก.ค. 2567 ทำให้การดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังน้ำแข็งแกร่งขึ้น ทั้งนี้คาดเกิดขาดทุนจาก FX ที่โครงการหลวงพระบางน้อยลงหากอิงระดับอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบัน

สำหรับการประเมินมูลค่า (Valuation) ปัจจุบันราคาหุ้น CKP ซื้อขายกันที่ P/E ระดับ 27.80 เท่า เทียบกับ P/E ตลาดโดยรวมที่ระดับ 17.19 เท่า ถือว่าราคาซื้อขายสูงกว่าตลาด อย่างไรก็ตามถ้าไปดู P/BV ที่ระดับ 1.17 เท่า ก็ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ส่วนใหญ่ P/BV จะอยู่ที่ระดับ 1.24 เท่า โดยมีราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่ 4.73 บาท จากราคาต่ำสุด 4.40 บาท และราคาสูงสุด 5 บาท

Back to top button