“ไทย” ร่วมสมาชิกกลุ่ม “BRICS” ได้มากกว่าที่คิด!?
จับตา “ไทย” หลังยืนยันเจตจำนงสมัครสมาชิกกลุ่ม BRICS ตามข้อเสนอของกระทรวงการต่างประเทศ จะช่วยยกระดับบทบาทของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ
รู้จักกลุ่ม BRIC เดิมที่มีสมาชิกผู้ก่อตั้ง 4 ประเทศ คือ บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย และ จีน ภายใต้ชื่อกลุ่ม BRIC ต่อมาแอฟริกาใต้ ได้เข้าเป็นสมาชิกร่วมด้วย จึงได้เปลี่ยนชื่อ เป็นกลุ่ม “BRICS”
สำหรับความร่วมมือในกลุ่ม BRICS แบ่งเป็น 3 ด้านได้แก่ ด้านการเมืองและความมั่นคง, ด้านเศรษฐกิจและการเงิน และ ด้านมนุษยธรรมและวัฒนธรรม
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 ประเทศอียิปต์, ซาอุดีอาระเบีย, อิหร่าน, เอธิโอเปีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้เข้าเป็นสมาชิกใหม่ ทำให้ปัจจุบัน กลุ่ม BRICS มีสมาชิก 10 ประเทศ และยังมีอีกสิบกว่าประเทศที่อยู่ระหว่างการสมัครเข้าเป็นสมาชิกและรอการตอบรับ
ล่าสุดประเทศไทย ได้แสดงเจตจำนงที่จะเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ได้เข้าร่วมประชุมหารือระหว่างสมาชิกกลุ่ม BRICS กับประเทศกำลังพัฒนา ที่เมืองนิจนีนอฟโกรอด ประเทศรัสเซีย ถึงเหตุผลที่ไทยต้องการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ซึ่งหากประเทศไทยได้เข้าร่วมกลุ่ม BRICS จะสามารถมีบทบาทร่วมกับประเทศกำลังพัฒนา และประเทศพัฒนาแล้ว ในการชี้นำ หรือวางแนวทางการพัฒนาของประชาคมโลกต่อไป เพื่อให้เกิดความยุติธรรม และเสมอภาค ไม่ว่าจะกับประเทศพัฒนาแล้ว หรือประเทศกำลังพัฒนา
อย่างไรก็ตาม ภายหลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย เข้าร่วมประชุมกลุ่ม BRICS ได้ไม่นาน ทางกระทรวงการต่างประเทศได้มีแถลงการณ์
โดยระบุว่า “รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยได้ยื่นหนังสืออย่างเป็นทางการต่อเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหพันธรัฐรัสเซีย ในฐานะที่เป็นประธานกลุ่ม BRICS ในปัจจุบัน เพื่อขอเข้าร่วมกลุ่มและเพื่อให้ทางกลุ่มพิจารณา ซึ่งเชื่อว่าทางกลุ่ม BRICS จะทบทวนคำขอของไทยตามกระบวนการ”
สำหรับประโยชน์ที่ไทยหวังจากการเป็นสมาชิก BRICS โดยรัฐบาลไทยมองว่า การเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS จะช่วยยกระดับบทบาทของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ เป็นการกระชับความร่วมมือกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีศักยภาพจะก้าวขึ้นมามีบทบาททางเศรษฐกิจและการเมืองในอนาคต โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน การเงิน ความมั่นคงด้านอาหารและความมั่นคงด้านพลังงาน
อีกทั้งยังมองว่าจะช่วยเพิ่มบทบาทของประเทศไทยในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจการเงินระหว่างประเทศ การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนา และการส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศสำหรับไทยเริ่มผลักดันกระบวนการสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS อย่างจริงจังในปี 2566 และ ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอพิจารณา โดยมุ่งหวังจะเป็นสมาชิก BRICS ประเทศแรกในอาเซียน