GIFT มีของ.!?

สงสัยหุ้นบริษัท กิฟท์ อินฟินิท จำกัด (มหาชน) หรือ GIFT ของ “เฮียฮ้อ”–สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ จะมีของซ่อนอยู่ป๊ะเนี่ย..??


สงสัยหุ้นบริษัท กิฟท์ อินฟินิท จำกัด (มหาชน) หรือ GIFT ของ “เฮียฮ้อ”–สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ จะมีของซ่อนอยู่ป๊ะเนี่ย..?? ถึงทำให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL แบงก์ใหญ่ระดับท็อป 3 ของตลาด ถึงขั้นเคลิบเคลิ้ม เข้าไปซื้อใบสําคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทรุ่นที่ 2 (GIFT-W2) คิดเป็นสัดส่วน 9.9877% เลยทีเดียว…

ถ้าดูจากแบบรายงานที่แจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พบว่า เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2567 BBL ได้ทำธุรกรรมซื้อ GIFT-W2 จำนวน 132 ล้านหน่วย หรือคิดเป็นสัดส่วน 9.9877% โดยเป็นการซื้อในกระดาน ทำรายการผ่านบล.บัวหลวง

ดูจากต้นทุนที่ 1.40 บาทต่อหน่วย เท่ากับว่า BBL ควักเงินราว 184 ล้านบาท ซื้อวอร์แรนต์ GIFT-W2 ของ GIFT เลยนะ..!?

เอาน่า…ต้องดูว่า BBL คิดอะไรอยู่..?? ถึงเข้าไปซื้อวอร์แรนต์ GIFT-W2 ของ GIFT

ถ้าเป็นหุ้นใน SET50 ก็ว่าไปอย่าง…คงไม่มีใครตั้งคำถามหรอก..?? นี่เป็นหุ้นนอก SET50 และนอก SET100 เสียด้วยซ้ำ…เลยถูกตั้งคำถามเยอะ…

ครั้นจะบอกว่า GIFT เป็นหุ้นน้ำดี…ก็ยังพูดได้ไม่เต็มปากเต็มคำ เพิ่งจะเทิร์นอะราวด์มาหยก ๆ โดยเมื่อปี 2566 พลิกมามีกำไร 39.95 ล้านบาท หลังขาดทุนต่อเนื่องมา 2 ปีซ้อน…แถมธุรกิจก็ยังไม่ชัด โอเค…อยู่ระหว่างการล้างคราบธุรกิจเก่า…รุกคืบสู่ธุรกิจใหม่

ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจ Tech & Innovations ที่ได้ลงทุนถือหุ้นอะลอตเท็ค (A Lot Tech) ในสัดส่วน 40% เมื่อช่วงไตรมาส 4/2566 จากเดิมที่มีเพียงธุรกิจปิโตรเคมีภัณฑ์ รวมทั้งกลุ่มธุรกิจ Food & Beverage ซึ่งปัจจุบันเปิดบริการร้านอาหารไปแล้วจำนวน 14 สาขา ภายใต้ 3 แบรนด์ ได้แก่ OKONOMI ร้านอาหารญี่ปุ่นชื่อดังจากนิวยอร์ก จำนวน 5 สาขา แฮงก์เอาต์ยอดนิยมใจกลางเมือง จำนวน 3 สาขา และ Mom’s Touch ร้านเบอร์เกอร์และไก่ทอดเกาหลี จำนวน 6 สาขา

โดยในปี 2567 GIFT ตั้งเป้าหมายจะมีรายได้รวม 2,500 ล้านบาท เติบโต 25-30% จากปีก่อนที่มีรายได้รวม 806 ล้านบาท…ซึ่งจะทำได้หรือเปล่า..?? ยังไม่รู้

ดูแล้ว GIFT ก็ไม่ได้ดีเด่อะไร..? แต่ BBL กลับใช้เงินเกือบ 200 ล้านบาท ซื้อวอร์แรนต์ GIFT-W2 หน้าตาเฉย…แปลกประหลาดป๊ะล่ะ..??

เอาเถอะ…ในเมื่อซื้อวอร์แรนต์มาแล้ว มาดูกันหน่อยดีกว่าว่า ถ้า BBL ใช้สิทธิแปลงจะคุ้มค่าหรือเปล่า..??

สมมตินะสมมติ…ถ้า BBL ใช้สิทธิแปลงวอร์แรนต์ทั้งหมดในรอบแรก ซึ่งกำหนดการใช้สิทธิแปลงในวันที่ 31 ก.ค. 2567 อัตราใช้สิทธิ 1 วอร์แรนต์ต่อ 1 หุ้นสามัญ ราคาใช้สิทธิที่ 1.60 บาท และกำหนดแปลงสิทธิอีกที ก็โน่นสิ้นปี 2567 หรือในวันที่ 30 ธ.ค. 2567 เป็นครั้งสุดท้าย

ถ้าไปดูต้นทุนของ BBL ซึ่งซื้อวอร์แรนต์ที่ราคา 1.40 บาท เมื่อบวกกับราคาแปลงสิทธิที่ 1.60 บาท เท่ากับว่าจะมีต้นทุนที่ 3 บาท เทียบกับราคาหุ้นแม่ GIFT ในกระดาน ซึ่งอยู่ที่ 3.52 บาท นั่นแปลว่าจะมีส่วนต่างกำไร 52 สตางค์ หรือคิดเป็นกำไรราว 68.64 ล้านบาท

เท่ากับว่า แปลงปุ๊บ…รับกำไรปั๊บนะเนี่ย..!!

แล้วถ้ากดเครื่องคิดเลขดู จะพบว่าอัตราผลตอบแทนครั้งนี้ คิดเป็น 37.30% ของต้นทุนเลยทีเดียว..!!

แหม๊…ถ้าใช้เวลาแค่ 2 เดือน แล้วได้ผลตอบแทนหรูขนาดนี้…ก็น่าลงทุนนะ

แต่ปกติแบงก์จะไม่ถือหุ้นที่เป็น Non-Core Business นะ…เพราะมันไม่ใช่คาแรกเตอร์ของแบงก์ แล้วทำไม BBL ถึงแหกกรอบละเนี่ย…?? อยากรู้จัง..!!

ส่วนอีกช็อตที่น่าจับตา หาก BBL ใช้สิทธิแปลงวอร์แรนต์แล้ว จะขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของ GIFT…ซึ่งไม่แน่นะ วันดีคืนดี BBL อาจจะขายหุ้นออกมาก็ได้…ใครจะไปรู้

ดังนั้น ใครที่ถือหุ้น GIFT อยู่ ระวังไว้หน่อยก็ดี…เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน..!?

…อิ อิ อิ…

Back to top button