ชาติแรกอาเซียน! สว.ไฟเขียว “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” บังคับใช้ปลายปีนี้
มติที่ประชุมวุฒิสภาฯ 130 ต่อ 4 เสียง “เห็นชอบ” กฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยจะมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 120 วัน หรือประมาณช่วงปลายปีนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ มีวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ….. หรือ “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” ล่าสุดมติที่ประชุม 130 ต่อ 4 เสียง ให้ความ “เห็นชอบ” เพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมาย โดยมีผู้งดออกเสียง 18 เสียง โดยกฎหมายฉบับดังกล่าว จะมีผลใช้บังคับหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 120 วัน หรือประมาณช่วงปลายปีนี้
โดยขั้นตอนหลังจากนี้ร่างกฎหมายดังกล่าว จะถูกส่งไปยัง คณะรัฐมนตรี(ครม.) จากนั้นนายกฯ จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ
สำหรับประเด็นสำคัญในกฎหมายฉบับดังกล่าว ระบุให้ “บุคคลสองคน (ทุกเพศ)” สมรสกันได้ รวมทั้งได้รับสิทธิ อาทิ
สิทธิรับรองการหมั้น/สมรสทุกเพศ เมื่ออายุ 18 ปี
การหมั้นจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์แล้ว และการหมั้นจะสมบูรณ์ได้ เมื่อฝ่ายผู้หมั้นได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่ผู้รับหมั้น เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับผู้รับหมั้นนั้น อนึ่งเมื่อหมั้นแล้วให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้รับหมั้น
สำหรับสินสอดเป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายผู้หมั้นให้แก่ บิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองฝ่ายผู้รับหมั้น แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่ผู้รับหมั้นยอมสมรส
ส่วนกรณีการสมรส จะกระทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์แล้วเช่นเดียวกัน เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก แต่ในกรณีมีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้ เว้นแต่การสมรสกับบุคคลวิกลจริต คนที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือบุคคลสองคนซึ่งเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมาก็ดี และบุคคลที่ทำการสมรสขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่
คู่สมรสจัดการทรัพย์สินสมรสร่วมกัน
สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่คู่สมรสได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นคู่สมรสกันนั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นคู่สมรสกันอยู่หรือภายในกำหนด 1 ปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นคู่สมรสกันก็ได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอก ผู้ทำการโดยสุจริต โดยทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส นอกจากที่ได้แยกไว้เป็นสินส่วนตัว ย่อมเป็นสินสมรส
สินสมรสใดที่มีเอกสารเป็นสำคัญ คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะร้องขอให้ลงชื่อตนเป็นเจ้าของรวมกันใน เอกสารนั้นก็ได้
คู่สมรสต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ในกรณีดังต่อไปนี้
1) ขาย แลก เปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
2) ก่อตั้งหรือกระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
4) ให้กู้ยืมเงิน
5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวเพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
6) ประนีประนอมยอมความ
7) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
8) นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง
ทั้งนี้คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกสินสมรสที่เกินกว่าส่วนของตนให้แก่บุคคลใดได้
นอกจากนี้ยังรวมไปถึงสิทธิในการ “หย่า” เมื่อได้จดทะเบียนสมรสแล้ว การหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ได้ เมื่อคู่สมรสได้จดทะเบียนหย่า โดยเหตุฟ้องหย่า 10 กรณีอีกด้วย