STARK จากกลต.ถึงศาลอาญา
การรวบตัว “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” ผู้ต้องหาคนสำคัญคดีทุจริตฉ้อโกง STARK ศาลฯ มีคำสั่งประทับฟ้องและส่งตัวเข้าเรือนจำ
การรวบตัว “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” ผู้ต้องหาคนสำคัญคดีทุจริตฉ้อโกง STARK ศาลฯ มีคำสั่งประทับฟ้องและส่งตัวเข้าเรือนจำ ทำให้เรื่อง STARK กลับมาสู่ความสนใจอีกครั้ง..!!?
จุดเริ่มต้นบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK นับตั้งแต่ปี 2562 เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ทางอ้อม (Back-door Listing) ผ่านบริษัท สยามอินเตอร์ มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ SMM โดย STARK เป็น Holding Company มีบริษัทย่อยที่เป็นธุรกิจหลักคือบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นผู้ผลิตสายไฟและสายเคเบิล รวมถึงบริษัท ไทยเคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสายไฟฟ้าตัวนำทองแดงและอะลูมิเนียมและ Thinh Phat Electric Cable Joint Stock Company ผู้ผลิตสายไฟฟ้ารายใหญ่แห่งประเทศเวียดนาม
โดยมี “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” อดีตประธานกรรมการ เป็นหัวเรือใหญ่ในการบริหารจัดการ และ “วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ” ทายาทคนโตของอาณาจักรสี TOA เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ช่วงปี 2562-2564 STARK ดูเหมือน “ผลงานดีมีกำไร” มาตลอด จนมีนักลงทุนรายย่อยและรายใหญ่เข้าลงทุนเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับหุ้นกู้ STARK ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตระดับ BBB+ จาก “ทริสเรทติ้ง” ทำให้ STARK มีการระดมทุนผ่านหุ้นกู้มากถึง 9,100 ล้านบาท ด้วยจำนวนผู้ถือหุ้นกู้มากกว่า 4,500 ราย
นั่นทำให้ “ชนินทร์-วนรัชต์” คิดการใหญ่กับ “แผนล่าปลาวาฬ” ด้วยการเจรจาขายหุ้น STRAK จากผู้ถือหุ้นใหญ่รายหนึ่งให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT แต่ทว่าแผนขายหุ้นดังกล่าวต้องยุติลง เมื่อบอร์ดความเสี่ยงปตท.ไม่เห็นชอบเรื่องดังกล่าว
จากนั้นจึงเบี่ยงเบนสู่ “ดีลเบอร์ลิน” นั่นคือเข้าซื้อ LEONI Kabel GmbH บริษัทผลิตเคเบิลใยแก้วสัญชาติเยอรมัน มูลค่า 560 ล้านยูโร (20,588 ล้านบาท) จากนั้นให้ STARK เพิ่มทุนแบบ PP 1,500 ล้านหุ้น มูลค่า 5,580 ล้านบาท ให้กองทุนและนิติบุคคลรวม 12 แห่ง เพื่อทำรายการดังกล่าว แต่สุดท้าย “ดีลเบอร์ลิน” ต้องล่มไป
ส่วนจุดเริ่มต้นคดีฉ้อโกง STARK เริ่มจากวันที่ 6 ก.ค. 2566 สำนักงานคณะกรรมกำกับหลักทรัพย์ฯ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษบุคคลและนิติบุคคล 10 ราย คือ 1)STARK 2)นายชนินทร์ เย็นสุดใจ 3)นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ 4)นายชินวัฒน์ อัศวโภคี 5)นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ 6)นายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม 7)บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จฯ (PDITL) 8)บริษัท ไทยเคเบิ้ลฯ (TCI) 9)บริษัท อดิสรสงขลาฯ 10)บริษัท เอเชีย แปซิฟิกฯ ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)
กรณีร่วมกันกระทำหรือยินยอมให้มีการลงข้อความเท็จในบัญชีเอกสาร STARK และบริษัทย่อยช่วงปี 2564-2565 เพื่อลวงบุคคลใด ๆ และเปิดเผยงบการเงินในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้ และร่างหนังสือชี้ชวนที่เชื่อได้ว่ามีการตกแต่งงบ รวมทั้งปกปิดความจริงในข้อมูล factsheet เสนอขายหุ้นกู้ STARK การกระทำดังกล่าว เป็นการกระทำโดยทุจริตหลอกลวงและทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากประชาชนผู้ถูกหลอกลวง พร้อมส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
จากนั้นวันที่ 30 ต.ค. 2566 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สรุปสำนวนแจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหาทั้ง 10 รายตามที่ก.ล.ต.กล่าวโทษฯ และแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มอีก 1 ราย คือ นางสาวยสบวร อำมฤต (ลูกน้องนายศรัทธา) รวมแจ้งข้อกล่าวหาทั้งสิ้น 11 ราย จากนั้นวันที่ 12 ม.ค. 2567 อัยการสูงสุด มีคำสั่งฟ้องนายศรัทธา, STARK, เฟลปส์คอด์จ, อดิสรสงขลา จำกัด, ไทยเคเบิ้ลฯ, เอเชีย แปซิฟิกฯ และนาตยา..
ในความผิดตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ พ.ศ. 2535 ฐานตกแต่งบัญชีและงบการเงิน และฐานฉ้อโกงประชาชนข้อหายักยอกทรัพย์และข้อหาฟอกเงิน โดยศาลอาญาประทับรับฟ้องคดีทุจริต STARK เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.90/2567
ถัดมาวันที่ 9 ก.พ. 2567 อัยการสูงสุด ยื่นฟ้องผู้ต้องหาคดีทุจริต STARK เพิ่มเติมอีก 2 ราย คือนางสาวยสบวร และนายกิตติศักดิ์ และศาลอาญารับฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.433/2567
จากนั้นวันที่ 12 ก.พ. 2567 อัยการสูงสุดยื่นฟ้องนายวนรัชต์ ในความผิดฐานเป็นกรรมการหรือผู้บริหารบริษัทกระทำโดยทุจริตไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวังและความซื่อสัตย์สุจริต ตามมาตรา 89/7 เป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหาย หรือทำให้ตนเองหรือผู้อื่น โดยศาลอาญามีคำสั่งประทับฟ้องเป็นคดีหมาย เลขดำที่ อ.441/2567