“ส.อ.ท.” เปิดยอดผลิตรถยนต์ พ.ค. รวม 1.2 แสนคัน หดตัว 16%

“ส.อ.ท.” เปิดเผยยอดผลิตรถยนต์ เดือนพ.ค. 67 รวม 126,161 คัน ลดลง 16.19% ด้านยอดขายหดตัว 23.38% เซ่นสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ จากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่การส่งออกเพิ่มขึ้น 3.39% หวั่นยอดผลิต-ยอดขายติดลบกระทบเศรษฐกิจ


นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนพฤษภาคม 2567 มีทั้งสิ้น 126,161 คัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2566 16.19% โดยการผลิตรถกระบะขายในประเทศลดลง 54.66% และการผลิตรถยนต์นั่งขายในประเทศลดลง 14.35% ตามยอดขายในประเทศที่ลดลงจากเศรษฐกิจในประเทศที่เติบโตในอัตราต่ำ และการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่พร้อมเต็มที่ แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2567 20.54%

โดยจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 644,951 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2566 16.88% ส่วนการผลิตเพื่อส่งออกเดือนพฤษภาคม 2567 ผลิตได้ 88,808 คัน หรือคิดเป็น 70.39% ของยอดการผลิตทั้งหมด โดยลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2566 1% ส่วนเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2567 ผลิตเพื่อส่งออกได้ 434,416 คัน คิดเป็น 67.36% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากปี 2566 ในระยะเวลาเดียวกัน 2.54%

ขณะที่การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเดือนพฤษภาคม 2567 ผลิตได้ 37,353 คัน คิดเป็น 29.61% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2566 38.57% และเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2567 ผลิตได้ 210,525 คัน หรือ 32.64% ของยอดการผลิตทั้งหมด โดยลดลงจากเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2566 36.23%

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนพฤษภาคม 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 49,871 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2567 6.70% แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว 23.38% เนื่องจากสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งเศรษฐกิจในประเทศขยายตัวในอัตราต่ำ จากการล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ทำให้การลงทุนของภาครัฐลดลง โดยดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงติดต่อกันมากกว่า 10 เดือน โรงงานหลายแห่งลดเวลาทำงานลง และมีการเลิกจ้างพนักงานหลายหมื่นคน ทำให้ขาดรายได้

ทั้งนี้ ประชาชนจึงระมัดระวังการใช้จ่ายเพราะความไม่แน่นอนในเรื่องรายได้รวมทั้งค่าอาหาร ค่าเดินทาง และพลังงานมีราคาสูงขึ้น คาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังปีนี้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 และปี 2568 ที่กำลังพิจารณาในสภาฯ แต่เศรษฐกิจจะขยายตัวถึง 3% หรือไม่ ยังเป็นเรื่องน่ากังวลหากยอดผลิตรถยนต์,ขายรถยนต์ และขายอสังหาริมทรัพย์ยังติดลบ เพราะทั้งสองอุตสาหกรรมมีอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และมีแรงงานมากซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศเป็นอย่างมาก โดยตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2567 รถยนต์มียอดขาย 260,365 คัน ลดลงจากปี 2566 ในระยะเวลาเดียวกัน 23.80%

สำหรับการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เดือนพฤษภาคม 2567 ส่งออกได้  89,284 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 27.26% และเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2566 3.39% ขณะที่ผลิตเพื่อส่งออกลดลง เพราะมีรถยนต์ที่ยังไม่ได้ส่งออกเดือนที่แล้วมาส่งออกเดือนนี้ จึงทำให้การส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดเอเชีย, ตลาดออสเตรเลีย, ตลาดตะวันออกกลาง, ตลาดอเมริกาเหนือ, ตลาดอเมริกากลางและอเมริกาใต้

โดยมูลค่าการส่งออกรถยนต์อยู่ที่ 63,073.52 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2566 14.74% รวมมูลค่าส่งออกรถยนต์เดือนพฤษภาคม 2567 เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และอะไหล่ มีมูลค่า 83,754.09 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2566 12.93%

ขณะที่ยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท BEV เดือนพฤษภาคม 2567 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (BEV) จดทะเบียนใหม่มีจำนวน 8,166 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม ปีที่แล้ว 14.50%  โดยเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2567 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (BEV) จดทะเบียนใหม่สะสมมีจำนวน 43,921 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม-พฤษภาคม ปีที่แล้ว 31.64%

ส่วนยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท HEV เดือนพฤษภาคม 2567 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (HEV) จดทะเบียนใหม่มีจำนวน 10,789 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว 34.64% โดยในเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2567 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (HEV) จดทะเบียนใหม่สะสมมีจำนวน  59,317 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม-พฤษภาคม ปีที่แล้ว 53.48%

ในส่วนของยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท PHEV เดือนพฤษภาคม 2567 จดทะเบียนใหม่มีจำนวน 704 คัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว 31.32% และยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสมประเภท BEV ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 175,316 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 168.34%

Back to top button