GULF วิ่งฉิว 4% รับข่าวผงาดร่วม Google รุกธุรกิจ “คลาวด์” เต็มสูบ

GULF วิ่งฉิว 4% รับข่าวดีผนึก “กูเกิ้ล เอเชีย แปซิฟิก” ลุยให้บริการระบบคลาวด์เต็มสูบ จับกลุ่มลูกค้าบริการทางการแพทย์-พลังงานและสาธารณูปโภค รวมทั้งกลุ่มให้บริการด้านความปลอดภัยสาธารณะ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (26 มิ.ย.67) ราคาหุ้นบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ณ เวลา 10:01 น. อยู่ที่ระดับ 41.50 บาท บวก 1.50 บาท หรือ 3.75% สูงสุดที่ระดับ 42.25 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 41.50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 281.44 ล้านบาท

โดยราคาหุ้น GULF ปรับตัวเพิ่มขึ้นแรงเช้านี้ หลังวานนี้มีแจ้งข้อมูลผ่านตลาดหลักทรัพย์ว่า บริษัทในเครือได้ลงนามสัญญาความร่วมมือธุรกิจคลาวด์ในประเทศไทยกับบริษัท กูเกิ้ล เอเชีย แปซิฟิก จำกัด หรือ Google

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน GULF เปิดเผยว่า บริษัท กัลฟ์ เอดจ์ จำกัด หรือ Gulf Edge ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ GULF ถือหุ้นในสัดส่วน 100% และเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท จีเอสเอ ดาต้า เซนเตอร์ จำกัด ได้ลงนามสัญญาความร่วมมือกับบริษัท กูเกิ้ล เอเชีย แปซิฟิก จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจการให้บริการระบบคลาวด์ Google Distributed Cloud air-gapped ซึ่งเป็นระบบคลาวด์ที่อยู่ภายใต้ขอบเขตข้อบังคับทางกฎหมายของประเทศ และได้รับการออกแบบมาเพื่อใช้งานในสภาพแวดล้อมที่ไร้ซึ่งการเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสาธารณะโดยสิ้นเชิง ส่งผลให้มีเสถียรภาพและความปลอดภัยของข้อมูลสูง

ทั้งนี้ บริษัทจะดำเนินงานในฐานะ Managed GDC Provider ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจของ Google Cloud ที่จะช่วยผลักดันการใช้งาน GDC air-gapped สำหรับองค์กรในประเทศไทย ผ่านการให้คำปรึกษาและบริการจากผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงการจัดการดูแลระบบอย่างครบวงจร ทั้งนี้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของระบบ GDC air-gapped ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลที่มีความสำคัญหรือเป็นความลับ เช่น การให้บริการทางการแพทย์ พลังงานและสาธารณูปโภค หรือการให้บริการด้านความปลอดภัยสาธารณะ โดยศูนย์ข้อมูลของ GSA DC สามารถรองรับการติดตั้งระบบคลาวด์ดังกล่าวในขอบเขตความร่วมมือนี้ได้ด้วย

“บริษัทได้เล็งเห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในประเทศไทย จากเศรษฐกิจที่ถูกขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีมากขึ้น บริษัทจึงได้มีการลงทุนในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมและธุรกิจดาวเทียม อีกทั้งได้ขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจศูนย์ข้อมูล (data center) โดยมีเป้าหมายในการสนับสนุนการเติบโตของระบบนิเวศโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (digital infrastructure ecosystem) ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง” นางสาวยุพาพิน กล่าว

สำหรับ Gulf Edge ถือว่าเป็นพันธมิตรรายแรกที่ร่วมมือกับ Google เพื่อดำเนินธุรกิจดังกล่าวในประเทศไทย นับเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ในการให้บริการระบบคลาวด์ในหลายรูปแบบ รวมถึงการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ และนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence : AI) เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมของประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังเป็นการเปิดโอกาสความเป็นไปได้ให้บริษัทสามารถขยายการดำเนินงานทางธุรกิจไปสู่บริการอื่น ๆ ในระบบนิเวศของ Google Cloud ในอนาคตได้ เช่น นวัตกรรม AI และการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยเชื่อมั่นว่าการทำงานร่วมกันระหว่างทั้งสองบริษัทจะสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการเติบโตในอนาคตสำหรับภาคโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลต่อไป

ขยายอาณาจักรดาต้าเซ็นเตอร์

นายสารัชถ์ รัตนาวะดี รองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ถึงแผนงานสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผสมผสานระหว่าง “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ AI และ “การประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ” หรือ Cloud Computing เช่นธุรกิจด้านโมเดลภาษาขนาดใหญ่ หรือ LLM และ Machine Learning อื่น ๆ

โดยธุรกิจที่จะมีการประยุกต์ใช้ AI ร่วมกับ Cloud Computing จะเป็นการดำเนินการบนระบบหน่วยประมวลผลกราฟิก หรือ GPU ขนาดใหญ่ ซึ่งแตกต่างจากระบบแบบดั้งเดิม คือ CPU โดยจะมีการจัดเก็บฐานข้อมูลไว้ใน “ดาต้าเซ็นเตอร์” ที่ GULF อยู่ระหว่างการพัฒนาร่วมกับ ADVANC และ Singtel โดยมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในช่วงต้นปี 2568

“เห็นได้ชัดว่า GULF ยังคงมุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจอินฟราสตรักเจอร์ แต่อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เกิดความทันสมัย ซึ่ง Data Center ก็จัดเป็นสาธารณูปโภคประเภทหนึ่งในรูปแบบดิจิทัล เช่นเดียวกับเพลตฟอร์มของ Gulf Binance อย่างไรก็ดีเราต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการลงทุนของเรา จึงเป็นที่มาของธุรกิจด้าน AI Cloud ซึ่งไม่เพียงแต่ลูกค้าภาคเอกชนที่จะสามารถเพิ่มศักยภาพให้กับตัวเองได้ แต่ประชาชนโดยเฉพาะภาครัฐที่ต้องการบริหารจัดการข้อมูลแบบรวมศูนย์ ตลอดจนการสร้างมาตรการรักษาความปลอดภัยหรือการจัดการข้อมูลทางไซเบอร์ด้านต่าง ๆ ก็จะได้รับประโยชน์ด้วยเช่นกัน” นายสารัชถ์ กล่าว

ทั้งนี้ AI และ Cloud Computing คือกระบวนการทำงานอัตโนมัติ เช่น Data Analysis & Management และ Security รวมถึงมีศักยภาพในการเรียนรู้ในลักษณะของ Machine Learning และการตีความข้อมูลเชิงลึกอย่างเป็นกลาง โดยสามารถรองรับแอปพลิเคชันจำพวก IoT, Chatbots, Business Intelligence, AI-as-a-Service และ Cognitive Cloud Computing ได้

นายสารัชถ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจาก AI Cloud ทำงานบนระบบ GPU ที่ต้องมีการประมวลฐานข้อมูลขนาดใหญ่ในเชิงลึกและมีความเร็วสูง จึงจำเป็นต้องอาศัยพลังงานไฟฟ้าปริมาณมหาศาลและระบบหล่อเย็น หรือ Cooling System ศักยภาพสูงในการขับเคลื่อน ซึ่ง GULF ถือเป็นผู้ประกอบการที่มีความพร้อมในเรื่องเหล่านี้อย่างสมบูรณ์แบบ

ขณะเดียวกัน GULF สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนด้วยตัวเองเพื่อนำมาใช้ใน “ดาต้าเซ็นเตอร์” ได้ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม หรือพลังงานแสงอาทิตย์แบบพ่วงแบตเตอรี่ (ESS) ซึ่งจะสามารถดึงดูดกลุ่มทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ต้องการรณรงค์เรื่องการใช้พลังงานสะอาดให้เข้ามาใช้บริการศูนย์ข้อมูลของ GULF ได้อย่างคล่องตัว และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มแก่กิจการได้ตรงตามวัตถุประสงค์

Back to top button