โรบินฮู้ด สิ้นสุดทาง CSR.!
ต๊กกะใจกันทั้งบาง..!! จู่ ๆ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ก็ประกาศปิดแอปพลิเคชัน Robinhood (โรบินฮู้ด)
ต๊กกะใจกันทั้งบาง..!! จู่ ๆ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ก็ประกาศปิดแอปพลิเคชัน Robinhood (โรบินฮู้ด) ซึ่งดำเนินการภายใต้บริษัทลูกที่ชื่อบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (PPV) อย่างถาวร…นับถอยหลังจะมีเวลาอีก 35 วัน (ปิดวันที่ 31 ก.ค. 2567) เท่านั้น หลังจากนั้นก็จะไม่เห็นไรเดอร์ของโรบินฮู้ดว่อนบนท้องถนนอีกต่อไป…
ว่าไปแล้วก็น่าใจหายนะเนี่ย..!!
ถ้าย้อนดูที่มาที่ไปของโรบินฮู้ด ก่อร่างสร้างตัวมาด้วยวัตถุประสงค์อันแรงกล้าของกลุ่ม SCB ที่ต้องการช่วยลดค่าครองชีพของคนไทย โดยเฉพาะในเรื่องการสั่งอาหารมาทานที่บ้าน พร้อมกับการช่วยร้านค้ารายย่อย และไรเดอร์ให้มีอาชีพและรายได้มากขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด โดยจะไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมใด ๆ เช่น ไม่มีค่าสมัคร ไม่คิดค่า GP (Gross Profit) เป็นต้น
ถือเป็นหนึ่งในโครงการ CSR ของกลุ่ม SCB เพื่อคืนกำไรให้กับสังคม…ซึ่งต้องแลกมาด้วยเงินลงทุนก้อนโต..!?
ด้วยจุดกำเนิดเป็นโครงการ CSR ก็ทำให้ผลประกอบการของโรบินฮู้ดไม่สู้ดี…มีตัวเลขขาดทุนต่อเนื่อง เริ่มจากปี 2563 มีรายได้ 81,549 บาท ขาดทุน 87.82 ล้านบาท ถัดมาปี 2564 มีรายได้ 15.78 ล้านบาท ขาดทุน 1,335.37 ล้านบาท ปี 2565 มีรายได้ 538.24 ล้านบาท ขาดทุน 1,986.83 ล้านบาท และปี 2566 มีรายได้ 724.44 ล้านบาท ขาดทุน 2,155.72 ล้านบาท
ดูแล้วมีผลต่อ SCB บ้าง…แต่ก็เป็นส่วนน้อย
แต่ถ้ามองในเชิงสังคม ถือว่าได้ใจคนไทยเป็นเต็ม ๆ…
การปิดตัวของโรบินฮู้ด กลายเป็นกระจกสะท้อนไปยังแอปฯ สั่งอาหารออนไลน์ค่ายอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น Grab Food, Foodpanda, LINE MAN Wongnai และ ShopeeFood สถานการณ์เป็นอย่างไร..??
โอเค…การสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชัน หรือธุรกิจ Food Delivery เป็นหนึ่งในธุรกิจที่เติบโตในยุคดิจิทัล และเคยพีกสุด ๆ ในช่วงวิกฤตโควิด รับอานิสงส์ผู้คนไม่กล้าออกมารับประทานอาหารนอกบ้าน แต่พอสถานการณ์เปลี่ยน…โควิดคลี่คลาย ผู้คนออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น กระแสความนิยมในแอปฯ สั่งอาหารก็ค่อย ๆ เจือจางไป ส่งผลให้อัตราการเติบโตชะลอลง
สอดคล้องกับข้อมูลศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ประเมินว่า ในปี 2567 ตลาด Food Delivery มีมูลค่าประมาณ 86,000 ล้านบาท หรือหดตัว 1% จากปี 2566 โดยคาดประมาณการสั่งอาหารผ่านแอปฯ จะลดลงจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1)ความจำเป็นในการสั่งที่ลดลง และ 2)ราคาอาหารเฉลี่ยที่ปรับสูงขึ้น
ขณะที่ส่วนแบ่งตลาด Food Delivery ประเทศไทย มี Grab Food เป็นผู้นำตลาดอันดับ 1 ครองส่วนแบ่ง 47% ตามมาติด ๆ ด้วย LINE MAN Wongnai ที่ครองส่วนแบ่ง 36% อันดับ 3 เป็น Foodpanda ครองส่วนแบ่ง 8% ส่วน ShopeeFood ครองส่วนแบ่ง 6% และ Robinhood ครองส่วนแบ่ง 3%
แต่ด้วยโมเดลธุรกิจของ Food delivery ต้องอาศัยเงินทุนจำนวนมหาศาล เพื่อเดินเกมเผาเงินอัดโปรโมชั่น สร้างฐานลูกค้าให้มีขนาดใหญ่ และครองส่วนแบ่งตลาดให้ได้มากที่สุด โดยหวังจะไปสร้างกำไรในอนาคต ทำให้ที่ผ่านมาผู้เล่นส่วนใหญ่ต้องยอมกลืนเลือดตัวเอง
เห็นจะมีแค่ Grab Food เท่านั้น ที่ผลประกอบการเริ่มเป็นบวก โดยปี 2565 มีรายได้ 15,077.88 ล้านบาท กำไร 576.13 ล้านบาท และปี 2566 มีรายได้ 15,485.99 ล้านบาท กำไร 1,308.46 ล้านบาท
ส่วนค่ายอื่น ๆ ยังหนัก ไม่ว่าจะเป็น LINE MAN Wongnai ซึ่งงบปี 2565 มีรายได้ 7,597.59 ล้านบาท ขาดทุน 2,730.84 ล้านบาท ปี 2566 มีรายได้ 11,272.49 ล้านบาท ขาดทุน 253.80 ล้านบาท ด้าน Foodpanda ปี 2565 มีรายได้ 3,246.46 ล้านบาท ขาดทุน 3,255.10 ล้านบาท ปี 2566 มีรายได้ 2,398.53 ล้านบาท ขาดทุน 522.48 ล้านบาท ฟาก ShopeeFood ปี 2565 มีรายได้ 2,726 บาท ขาดทุน 48,813 บาท และปี 2566 มีรายได้ 6,049 บาท ขาดทุน 33,998 บาท
ก็น่าติดตามว่า สุดท้ายแล้วค่ายไหนจะช่วงชิงความเป็นหนึ่ง และใครบ้างจะเป็นผู้รอดในสงคราม Food delivery…
ใครจะเป็นของจริง ของแทร่…เกมนี้ต้องดูกันยาว ๆ…
…อิ อิ อิ…