‘ยืดสัญญา’ แลก ‘ลดค่าผ่านทาง’ BEM ได้หรือเสีย ???

การ “ขยายอายุสัญญาสัมปทาน” แลกกับ “โครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2”  และ “การลดค่าผ่านทาง” BEM จะได้หรือเสีย ???


เส้นทางนักลงทุน

เกิดมุมมองที่แตกต่างกันกรณีการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจากับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ประกอบการธุรกิจก่อสร้างและบริหารทางพิเศษและบริหารจัดการโครงการระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้า รวมถึงธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง

เพื่อให้เป็นผู้ลงทุนโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 สายงามวงศ์วาน-พระราม 9 (Double Deck) วงเงินประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี รวมทั้งต้องการให้ปรับลดค่าผ่านทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 สายงามวงศ์วาน-พระราม 9 ให้เหลือไม่เกิน 50 บาทตลอดสาย

เพื่อแลกกับการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ให้ BEM ออกไปอีก 22 ปี 5 เดือน โดยคาดว่าจะเริ่มลดค่าผ่านทางได้ภายในปีนี้ จะเป็นประโยชน์แง่บวกต่อ BEM หรือจะส่งผลกระทบทางด้านลบกันแน่

ฝ่ายที่มองในด้านดี เชื่อว่าข้อตกลงนี้จะทำให้ BEM มีความคืบหน้าโครงการเป็นไปตามคาด การขยายสัมปทานทางด่วนออกไปอีก 22 ปี 5 เดือน ดีกว่าคาดการณ์ของบรรดานักวิเคราะห์ทั้งหลาย ซึ่งประเมินไว้ก่อนหน้านี้ที่ 15-20 ปี แต่การลดค่าผ่านทางเส้นทางงามวงศ์วาน-พระราม 9 ลดลงจากเดิมเพื่อแลกโครงการ Double Deck ยังต้องติดตาม

ขณะที่ ฝ่ายเห็นต่างชี้ว่าโครงการทางด่วนสองชั้นไม่ได้เป็นบวกขนาดนั้น การที่ BEM จะได้โครงการนี้ แต่ต้องแบกภาระการลงทุน 3.5 หมื่นล้านบาท และต้องปรับค่าผ่านทางเป็นไม่เกิน 50 บาท จากประมาณ 75 บาท

เพื่อแลกกับการต่อสัมปทานอีก 22.5 ปี คือจากสิ้นเดือนตุลาคม 2578 เป็นสิ้นเดือนมีนาคม 2601 นั้น การลดค่าผ่านทางจะส่งผลลบกับมูลค่าและกำไรต่อหุ้น หรือ Earning Per Share (EPS) ของ BEM

โดยเห็นว่า เมื่อมองเผิน ๆ มูลค่าของโครงการนี้จะเป็นบวก โดยจะทำให้มูลค่าของ BEM เพิ่มขึ้น แต่ถ้าหาก BEM ไม่สามารถต่อรองให้ได้ดีลที่ดีกว่านี้ โครงการทางด่วนสองชั้นจะทำมูลค่าของ BEM ลดลงไป รวมทั้งจะทำให้กำไรลดลงด้วย นับตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป จึงถือว่าการปรับลดค่าผ่านทางจะส่งผลกระทบทางลบ

บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี มองว่าการที่รัฐบาลอยากเริ่มใช้โครงสร้างราคาใหม่นี้ในปีหน้า หมายความว่าการดำเนินงานในปัจจุบันของ BEM จะถูกกระทบทั้งในส่วนของผลประกอบการ และมูลค่าหุ้น โดยในส่วนของผลประกอบการ เชื่อว่ากำไรของ BEM จะลดลง ยกเว้นหากบริษัทสามารถต่อรองที่ดีกว่านี้ได้

การลดค่าผ่านทางจะส่งผลลบกับมูลค่า และ EPS ของ BEM หากไม่สามารถต่อรองให้ได้ดีลที่ดีกว่านี้ โครงการทางด่วนสองชั้นจะทำมูลค่าของ BEM ลดลงไป 0.30 บาทต่อหุ้น และทำให้กำไรลดลง 20% จากปี 2568 เป็นต้นไป แม้จะทำให้มูลค่าของ BEM เพิ่มขึ้นประมาณ 0.75 บาทต่อหุ้น

กล่าวคือ ผลกระทบจากการกำหนดเพดานค่าผ่านทางต่อทางด่วนขั้นที่สอง (SES) ซึ่งรวมส่วน C และ D ซึ่งปัจจุบัน BEM เก็บค่าผ่านทางคันละประมาณ 25 บาท โดยส่วน C เป็นเส้นทางระหว่างประชาชื่นและแจ้งวัฒนะ และส่วน D เป็นเส้นทางระหว่างพระราม 9 และศรีนครินทร์

ในเดือนพฤษภาคม 2567 ทางด่วนสองส่วนนี้สร้างรายได้ 6.5 ล้านบาทต่อวัน หรือ 26% ของรายได้ค่าทางด่วนรายวัน การกำหนดเพดานค่าผ่านทางไม่เกิน 50 บาท หมายความว่า BEM จะสูญเสียรายได้จากส่วน C และ D ไป โดยประเมินราคาเป้าหมายที่ 9.50 บาท

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) อยู่ในฝ่ายมองเชิงบวก เบื้องต้นประเมินกำไรสุทธิไตรมาส 2 ของปี 2567 จะโตดีเมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปีก่อนและไตรมาสก่อน จากรายได้เงินปันผลรับจากบริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) หรือ TTW และบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP รวม 337 ล้านบาท

และผู้โดยสารรถไฟฟ้าฟื้นตัวสูงต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันปีก่อน ตามรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินทยอยเพิ่มการให้บริการเต็มวง รวมทั้งภาคท่องเที่ยวฟื้นตัว และการขยายตัวของอสังหาริมทรัพย์ตามแนวรถไฟฟ้า

และถือเป็นการเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 1 ที่ผ่านมา โดยปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าโดยสารจากการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ตามสถานที่รอบเส้นทางรถไฟฟ้า รวมถึงผลบวกของการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบรางครอบคลุมทั้งกรุงเทพและปริมณฑล ช่วยเพิ่มศักยภาพการส่งต่อผู้โดยสารเข้าสู่สายสีน้ำเงิน

ทั้งนี้ คาดกำไรสุทธิปี 2567 ที่ 3.7 พันล้านบาท เติบโต 8% จากปีก่อน โดยหากเทียบเป็นกำไรปกติจะทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง ให้ราคาเป้าหมาย 10.40 บาท มองนอกเหนือจากโครงการ Double Deck แล้วยังมีตัวเร่งจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม หลังศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้อง โดยเชื่อว่าโครงการดังกล่าวมีโอกาสได้ข้อสรุปก่อนภายในครึ่งหลังของปี 2567 นี้ และเบื้องต้นประเมินจะเป็นอัพไซด์ (upside) ต่อราคาเป้าหมายราว 1-2 บาทต่อหุ้น

ปัจจุบัน BEM มีรายได้หลักมาจาก 3 ส่วน ประกอบด้วย 1.รายได้จากการให้บริการ 2.รายได้จากธุรกิจทางพิเศษ 3.รายได้จากธุรกิจระบบราง และ 4.ธุรกิจพัฒนาเชิงพาณิชย์ ส่วนใหญ่จากการให้เช่าพื้นที่สื่อโฆษณาและให้เช่าพื้นที่ร้านค้าปลีกใน Metro Mall

การ “ขยายอายุสัญญาสัมปทาน” แลกกับ “โครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2”  และ “การลดค่าผ่านทาง” BEM จะได้หรือเสีย ??? ต้องรอติดตามตอนต่อไป

Back to top button