สรรพสามิต จ่อชง ครม. เคาะภาษีคาร์บอน – เกณฑ์ภาษีแบตฯ EV

อธิบดีกรมสรรพสามิต ลั่น 1- 2 เดือน ชงเรื่องให้ครม.เตรียมเคาะกรอบภาษีคาร์บอน ยัน ไม่กระทบประชาชน พร้อมลุยยกเครื่องภาษีแบตเตอรี่ EV สร้างเกณฑ์คุณภาพเป็นหลัก ชี้หากอึดทนทาน ใช้นาน ขนาดใหญ่ อาจเก็บภาษีน้อยกว่า 8%


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ ( 9 ก.ค.67 ) นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมฯอยู่ระหว่างการเร่งพิจารณาภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ซึ่งในระยะยาวจะเป็นฐานภาษีตัวใหม่ที่เข้ามาช่วยเสริมบทบาทของกรมที่มุ่งเน้นด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก โดยขณะนี้ได้ดำเนินการพิจารณาเรื่องภาษีคาร์บอนไปแล้ว 80-90% หลักการ คือ กรมฯ จะเข้ามาช่วยสร้างกลไกราคาคาร์บอน ซึ่งภาษีคาร์บอนจะแทรกอยู่ในภาษีสรรพสามิตน้ำมัน และการดำเนินการในช่วง 2 ปีแรก ยืนยันว่าจะไม่ให้กระทบกับประชาชนอย่างแน่นอน เช่น ปัจจุบันเก็บภาษีน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 6.44 บาทต่อลิตร ซึ่งตามมาตรฐานโลก ประเทศที่เก็บภาษีคาร์บอน จะอยู่ที่ 0.0027 ตันคาร์บอนต่อลิตร โดยระดับดังกล่าวจะไม่กระทบกับประชาชน และ ไม่กระทบกับรายได้ของกรมฯ อย่างแน่นอน

นายเอกนิติ เปิดเผยต่ออีกว่า เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ ภายใน 1-2 เดือนนี้  ส่วนตัวมองว่าประโยชน์ของภาษีคาร์บอน ไม่เพียงแต่จะทำให้ประชาชนตระหนักรู้ว่าเราปล่อยคาร์บอนกันคนละเท่าไหร่ แต่ในมิติของโรงงานอุตสาหกรรมที่ส่งสินค้าไปยังยุโรปก็จะได้ประโยชน์ด้วย

นอกจากนี้ กรมสรรพสามิต ยังได้ศึกษาแนวทางดึงดูดการลงทุนแบตเตอรี่ ซึ่งกําลังพิจารณาอยู่มองว่าคงต่ำกว่า 8% เบื้องต้นกำหนดว่า หากผลิตแบตเตอรี่มาตรฐาน อึดทนทาน ใช้นาน ขนาดใหญ่ จะเก็บภาษีน้อย หากผลิตแบตเตอรี่ คุณภาพลดลง จะเก็บภาษีสูงขึ้น เพื่อใช้มาตรการภาษีเป็นแรงจูงใจ ซึ่งเป็นหลักเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นอีกโปรเจ็คที่จะศึกษาอย่างละเอียด จะเป็นอีกอันนึงที่บทบาทใหม่ของกรมสรรพสามิตเรื่อง ESG หากทำเรื่องก็ทํา EV เสร็จแล้วจะเริ่มมาทําเรื่องแบตเตอรี่ต่อไป โดยจะเตรียมเสนอกระทรวงการคลังพิจารณาเร็วๆนี้ ในขั้นต่อไป

ทั้งนี้ สำหรับภาพรวมการจัดเก็บรายได้ในช่วง 9 เดือนของปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.66-มิ.ย.67) ว่า กรมฯ สามารถจัดเก็บรายได้อยู่ที่ 3.94 แสนล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนราว 4 หมื่นล้านบาท หรือ 12.3% มากกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโต 1-2 %

แต่ต้องยอมรับว่ายังต่ำกว่าเป้าหมาย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันในช่วงที่ผ่านมา เพื่อบรรเทาภาระของประชาชน ทำให้กรมฯ สูญเสียรายได้ราว 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งภาษีน้ำมันคิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของการจัดเก็บรายได้ของกรมฯ ทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากการจัดเก็บภาษีรถยนต์ที่ต่ำกว่าเป้าหมายราว 2.5 หมื่นล้านบาท ส่นหนึ่งเป็นผลมาจากการลดภาษีสรรพสามิตยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จาก 8% เหลือ 2% โดยภาษีรถอีวีมีสัดส่วน 10% ของภาษีรถยนต์ทั้งหมด ขณะที่อีก 90% ของภาษีรถยนต์นั้น เป็นผลมาจากภาพรวมตลาดรถยนต์ที่หดตัวลงอย่างแรง โดยยอดการผลิตรถยนต์ลดลงจากปีก่อนราว 30%

อีกทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ส่งผลต่อคุณภาพของผู้ขอสินเชื่อให้ปรับตัวลดลง โดยภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั้น คิดเป็น 20% ของการจัดเก็บรายได้ของกรมฯ ทั้งหมด ตลอดจนการชะลอตัวลงของภาษีสรรพสามิตยาสูบ ซึ่งรายได้หายไปประมาณ 8 พันล้านบาท

Back to top button