CHO บ่วงกรรม AO.!

มีข่าวดีทำให้แฟนคลับหุ้น CHO ได้ชื่นอกชื่นใจ ว่าด้วยความคืบหน้าการระดมทุนในรูปแบบ SPAC ในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ สหรัฐอเมริกา


มีข่าวดีทำให้แฟนคลับหุ้นบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO ได้ชื่นอกชื่นใจ ว่าด้วยความคืบหน้าการระดมทุนในรูปแบบ Special Purpose Acquisition Company (SPAC) ในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ประเทศสหรัฐอเมริกา ผ่าน Arogo Capital Acquisition Corp. ซึ่งล่าสุดเตรียมควบรวมกิจการกับบริษัท Ayurcann Holdings Corp หรือ AYUR ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศแคนาดา ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์กัญชารายใหญ่ในประเทศแคนาดา โดยคาดกระบวนการจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2567 นี้

งั้นถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด ปีนี้ก็จะเห็นผลการดำเนินงานของ CHO เติบโตก้าวกระโดดน่ะสิ…

ความชื่นอกชื่นใจดังกล่าว มาพร้อมกับราคาหุ้น CHO ในวันที่ 28 มิ.ย. 2567 (วันแจ้งข่าวเรื่อง SPAC) ปรับขึ้นไปแตะที่ระดับ 0.07 บาท ก่อนจะย่อตัวลงมาปิดตลาดที่ 0.06 บาท

แต่แฟนคลับชื่นอกชื่นใจได้แค่ประเดี๋ยวประด๋าวเท่านั้น ก็มีเรื่องของกองทุน Advance Opportunities Fund (AO Fund) และ Advance Opportunities Fund 1 (AO Fund 1) มาทำให้ชอกช้ำระกำใจอีกแล้ว…จากกรณีเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2567 AO Fund 1 ได้ขายหุ้น CHO ออกมาจำนวน 183.46 ล้านหุ้น คิดเป็น 7.7557% ส่งผลให้เหลือถือหุ้น 28 ล้านหุ้น คิดเป็น 1.1837%

หลายคนน่าจะพอคุ้นชื่อคุ้นตา AO Fund ที่ถูกยกให้เป็นกองทุนพ่อพระบริษัทขนาดกลาง–เล็กกันมาบ้าง เพราะมีหลายบจ.ที่มีปัญหาสภาพคล่อง แต่ไม่มีทางเลือกในการระดมทุน ครั้นจะเพิ่มทุนก็ไม่ได้ จะออกหุ้นกู้ก็มีปัญหาด้านเครดิตเรตติ้ง…AO Fund จึงเป็นทางออกของบจ.เหล่านี้…

ไม่ว่าจะเป็นบริษัท ริช เอเชีย สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ RICH, บริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ FPI, บริษัท แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AJA, บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ALL, บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ JKN, บริษัท พีพี ไพร์ม จํากัด (มหาชน) หรือ PPPM

บริษัท โรงแรมรอยัล ออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ROH, บริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ GRAND, บริษัท จี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ GCAP, บริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) หรือ CMO

นี่แค่บางส่วนเท่านั้นนะ…ยังมีอีกเพียบ ไล่กันไม่หวาดไม่ไหวหรอก..

รวมทั้ง CHO ที่ใช้บริการทางการเงินจาก AO Fund เช่นกัน…โดยย้อนไปเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2566 CHO ได้ออกหุ้นกู้แปลงสภาพ รวมมูลค่า 1,000 ล้านบาท ขายให้กับ AO Fund และ AO Fund 1…ต่อมาวันที่ 3 ก.ค. 2567 AO Fund 1 ได้ใช้สิทธิแปลงสภาพหุ้นกู้แปลงสภาพฯ จำนวน 5,000 หน่วย ที่ราคาแปลงสภาพ 0.054 บาทต่อหุ้น แปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญจำนวน 92.60 ล้านหุ้น

ข้อดีของการใช้บริการ AO Fund ในมุมของบริษัทได้เงินสดมาเติมสภาพคล่อง โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย..แล้วถามว่า AO Fund ได้อะไร ก็ได้กำไรจากส่วนต่างราคาหุ้น ซึ่งปกติจะดิสเคาต์จากราคาในกระดานประมาณ 20% ก็สูงกว่าการไปปล่อยกู้กินดอกเบี้ยที่อยู่ราว 6-7% ต่อปี

แต่คนที่เสีย…คงหนีไม่พ้นผู้ถือหุ้นของ CHO อะนะ เนื่องจาก 1)จะเกิดไดลูชันเอฟเฟกต์จากจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้น และ 2)ไดลูชันจากราคาหุ้นที่ปรับลดลง…เนื่องจากพอ AO Fund แปลงสภาพปุ๊บ ก็จะขายหุ้นออกมาปั๊บ จะไม่ถือยาว…

ที่น่าจับตา…AO Fund ยังมีหุ้นกู้แปลงสภาพของ CHO ที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิอีกจำนวน 15,000 หน่วย แบ่งเป็น AO Fund จำนวน 10,000 หน่วย และ AO Fund 1 จำนวน 5,000 หน่วย ที่จะกดดันให้หุ้น CHO ไม่ไปไหน แม้จะมีสตอรี่เชิงบวกอย่าง SPAC ก็ตาม

กลายเป็นบ่วงกรรม AO Fund ที่จะตามหลอกหลอนหุ้น CHO ไปอีกนาน…

ซึ่งบ่วงกรรมนี้จะหลุดพ้นจากคอ CHO ได้ ก็ต่อเมื่อ AO Fund แปลงสภาพหมดนั่นแหละ…แต่ต้องอดใจรอหน่อยนะ ไทม์ไลน์โน่นภายในปี 2569…

เอาเป็นว่าบ่วงกรรม AO Fund…CHO ไม่ได้รับหรอก แต่คนที่ได้รับกรรมไปเต็ม ๆ ก็เป็นผู้ถือหุ้นส่วนจะได้รับมากหรือน้อย…ก็ว่ากันไป

…อิ อิ อิ…

Back to top button