KBANK มองกรอบบาทสัปดาห์หน้า 36.00-36.50 บ. จับตาฟันด์โฟลว์-ตัวเลขศก.สหรัฐ-ประชุม ECB
“ธนาคารกสิกรไทย” คาดเงินบาทสัปดาห์หน้า (15-19 ก.ค.67) เคลื่อนไหวในกรอบ 36.00-36.50 บาท/ดอลลาร์ จับตาฟันด์โฟลว์-ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ-ประชุม ECB
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK มองกรอบการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทสัปดาห์หน้า (15-19 ก.ค.) ที่ 36.00-36.50 บาท/ดอลลาร์ จากปิดตลาดที่ 36.18 บาท/ดอลลาร์ในวันศุกร์ที่ 12 ก.ค. 67 โดยเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นเกือบตลอดสัปดาห์ เงินบาทและสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชียแข็งค่าขึ้นท่ามกลางแรงกดดันต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ จากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาด ซึ่งอาจทำให้มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าหนึ่งครั้งในปีนี้
นอกจากนี้ดอลลาร์ยังอ่อนค่าลงต่อเนื่องสอดคล้องกับการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังถ้อยแถลงของประธานเฟดและตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ เดือนมิ.ย. ที่ชะลอลงมากกว่าที่คาด หนุนให้ตลาดปรับเพิ่มน้ำหนักความเป็นไปได้สำหรับโอกาสการลดดอกเบี้ยของเฟดในการประชุม FOMC เดือนก.ย.ที่จะถึงนี้
โดย CPI Inflation ของสหรัฐฯ ชะลอลงลงมาที่ 3.0% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ในเดือนมิ.ย. (ตลาดคาดที่ 3.1% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน) นอกจากนี้ เงินบาทยังมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกและสัญญาณซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติในระหว่างสัปดาห์ด้วยเช่นกัน
สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 8-12 ก.ค.67 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 3,149.7 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 8,716 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตร 10,347 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 1,631 ล้านบาท)
ส่วนในสัปดาห์หน้าปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์สกุลเงินในภูมิภาค ถ้อยแถลงของประธานเฟดและเจ้าหน้าที่เฟด และผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กเดือนก.ค.ยอดค้าปลีก ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้าน การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย. ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนก.ค. รายงาน Beige Book ของเฟด และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/67 และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนมิ.ย. ของจีน รวมถึงอัตราเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. ของอังกฤษยูโรโซน และญี่ปุ่น