พาราสาวะถีอรชุน

ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าเริ่มขยับหารือแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 กันแล้วสำหรับรัฐบาล คสช. โดย วิษณุ เครืองาม มือกฎหมายประจำรัฐนาวา อ้างว่าเป็นการพูดคุยกันแบบเงียบๆ เนื่องจากไม่อยากให้แตกตื่นมองว่า คสช.กลัวร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ แน่นอนว่า หากหน้าตาเป็นอย่างที่เห็นกันโอกาสที่จะถูกตีตกย่อมมีสูง


ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าเริ่มขยับหารือแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 กันแล้วสำหรับรัฐบาล คสช. โดย วิษณุ เครืองาม มือกฎหมายประจำรัฐนาวา อ้างว่าเป็นการพูดคุยกันแบบเงียบๆ เนื่องจากไม่อยากให้แตกตื่นมองว่า คสช.กลัวร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ แน่นอนว่า หากหน้าตาเป็นอย่างที่เห็นกันโอกาสที่จะถูกตีตกย่อมมีสูง

 มาถึงนาทีนี้ไม่ต้องฟังเสียงนักการเมืองที่ผู้มีอำนาจมองว่าเป็นปรปักษ์ต่อกันดังนั้นจึงย่อมมองร่างรัฐธรรมนูญฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ ด้วยอคติเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเช่นนั้นก็ต้องไปดูความเห็นของผู้ที่ได้ชื่อว่าผ่านการแต่งตั้งมาจาก คสช.เหมือนกันดูก็แล้วกันว่า คิดเห็นอย่างไรต่อกฎหมายสูงสุดของประเทศที่กำลังดำเนินการกันอยู่

อดีต สปช.จังหวัดนนทบุรี ดิเรก ถึงฝั่ง เห็นว่า เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญในภาพรวมทั้งการเปิดช่องนายกรัฐมนตรีคนนอก ที่มา ส.ว. ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม รวมไปถึงการให้องค์กรอิสระ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจที่ 4 ซึ่งเหนือกว่าทั้งอำนาจบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ จะเป็นปัญหา เพราะเห็นชัดว่ากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ.ไม่ต้องการให้รัฐบาลเข้มแข็งซึ่งอันตรายมาก

ถ้ารัฐบาลไม่เข้มแข็งจะบริหารประเทศให้พัฒนาได้อย่างไร ขนาด พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีอำนาจตามมาตรา 44 ยังพูดเลยว่า กฎหมายบางอย่างไม่เอื้อให้กับรัฐบาล ดังนั้น ต้องทำให้รัฐบาลเข้มแข็งจึงจะบริหารประเทศได้ จึงคิดว่ารัฐธรรมนูญไม่สามารถแก้ไขปัญหาทุจริตได้ เพราะเป็นเรื่องของคน มีกฎหมายมากมายที่สามารถเอาผิดคนทุจริตได้ เพียงแต่ขอให้บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและเท่าเทียม

สิ่งที่ต้องขีดเส้นใต้ในความเห็นของดิเรกก็คือ บิ๊กตู่ ย้ำอยู่เสมอว่า อยากให้รัฐธรรมนูญเป็นสากล แต่เนื้อหาตามร่างฉบับมีชัยยังไม่เป็นสากลเท่าไหร่ เพราะเป็นความคิดที่ย้อนยุคไป สิ่งที่เป็นปัญหาควรมาแก้กันที่คน แล้วปล่อยให้กระบวนการของประชาธิปไตยแก้ไขด้วยตัวมันเอง การสร้างรูปแบบใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ จะทำให้ความขัดแย้งไม่สิ้นสุด

เพราะเมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามา ก็จะมาแก้รัฐธรรมนูญกันอีก จากนั้นก็จะต้องมีคนมาขวางที่สุดก็จะวนเวียนมาที่การรัฐประหารอีก ถ้าจะเขียนรัฐธรรมนูญให้แก้ไขยากก็ผิดอีก เพราะรัฐธรรมนูญต้องแก้ได้ มองดูแล้วเนื้อหาของร่างฉบับนี้ไม่หนีฉบับที่ถูก สปช.คว่ำ หากไปถึงประชาชนก็น่าเป็นห่วง และหนักใจแทนรัฐบาลถ้าเนื้อหายังเป็นแบบนี้จะผ่านประชามติยาก

เช่นเดียวกับความเห็นของ บัณฑูร เศรษฐศิโรจน์ อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่มองถึงโอกาสการผ่านประชามติว่า ความรู้สึกมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของของประชาชนไม่มากนัก ดังนั้นขึ้นอยู่กับเนื้อหาว่าตอบโจทย์โดนใจแค่ไหน ถ้าเนื้อหาคนส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ตอบโจทย์ปัญหาทางการเมืองที่เพียงพอ ก็จะยากในการจะให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน

หากไม่ผ่านประชามติแล้วจะต้องทำอย่างไร โจทย์แรกคือองค์ประกอบของผู้ร่างต้องเปลี่ยนไป อย่างต่อมาคือที่มาของคนที่เข้าไปร่างรัฐธรรมนูญ อาจจะต้องมีที่มาซึ่งทำให้เกิดการยอมรับมากขึ้น ซึ่งทั้งสองปัจจัยคือที่มาและองค์ประกอบจะส่งผลต่อตัวเนื้อหาที่ร่างออกมา ส่วนที่สามคือกระบวนการร่างควรจะต้องเปลี่ยนไปจากสองครั้งเดิม

ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศการมีส่วนร่วม การสร้างเนื้อหาที่มาจากความหลากหลายของสังคมพหุนิยม ต้องมาคิดกันว่าจะปรับอย่างไรไม่ให้เหมือนสองครั้งเดิม แล้วก็ไม่ให้ตกร่องการไม่ผ่านซ้ำซาก แต่คำตอบที่หลายคนอยากฟังจากบัณฑูรในฐานะผู้ที่เคยร่างรัฐธรรมนูญจากการแต่งตั้งของ คสช.นั่นก็คือ หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติใครต้องรับผิดชอบ

แน่นอนว่า รัฐบาลหนีไม่พ้นความรับผิดชอบในฐานะผู้ที่กำหนดกติกาคัดเลือกคนมาร่าง สำหรับคนที่ไม่ใช่รัฐบาลความรับผิดชอบคืออะไร การที่เราไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาเราไปตัดสินใจกาไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแล้วคนจำนวนมากคิดแบบนี้ถือเป็นการใช้สิทธิตามกติกาที่กำหนดขึ้น และก็เป็นที่ยอมรับร่วมกันว่านี่เป็นกติกาที่จะทำให้เราเดินไปด้วยกัน และเมื่อเราเห็นว่าเราไม่สามารถโหวตรับได้ ก็ไม่น่าจะมีความรับผิดชอบอะไร

เป็นการตบหน้าใครบางคนก่อนหน้านี้หรือเปล่าไม่ทราบ ที่เรียกร้องว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านผู้ที่เคลื่อนไหวให้ล้มร่างต้องแสดงความรับผิดชอบ นั่นเป็นโจทย์ของรัฐบาลว่าด้วยร่างรัฐธรรมนูญ ยังมีอีกหนึ่งปัญหาที่ถ้าปล่อยให้คาราคาซังเนิ่นช้าออกไป อาจจะกลายเป็นกระแสเคลื่อนไหวต่อต้านบิ๊กตู่และชาวคณะได้ ประเด็นนั้นก็คือการแต่งตั้งพระสังฆราชองค์ที่ 20

จากการที่มหาเถรสมาคม หรือ มส.มีมติเลือกสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์หรือสมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญให้เป็นสมเด็จพระสังฆราชและส่งรายชื่อไปให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบแล้ว แต่กลับติดเงื่อนไขปัญหาที่มีกลุ่มของพุทธะอิสระและพวกออกมาคัดค้านทั้งการยื่นร้องกรณีเป็นพระอุปัชฌาย์ของธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายและการครอบครองรถหรู

มิหนำซ้ำ ยังยื่นให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตีความมาตรา 7 ของกฎหมายคณะสงฆ์โดยอ้างว่านายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้เสนอชื่อสมเด็จพระราชาคณะผู้อาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ให้ที่ประชุม มส.ลงมติเลือก จนเกิดข้อคำถามว่า บิ๊กตู่กล้าที่จะทำตามการชงของผู้นำทางจิตวิญญาณและขบวนการต่อต้านสมเด็จวัดปากน้ำหรือไม่

กลายเป็นว่ากรณีนี้ท้ายที่สุดน่าจะมีการดึงและดองเรื่องให้ยืดยาวออกไป ด้วยการยกสารพัดเหตุผล หากทุกคนสงบนิ่งให้ท่านผู้นำตัดสินใจได้อย่างเต็มที่ก็คงไม่มีปัญหา แต่ข่าวที่ได้ยินมาคือพระส่วนใหญ่ที่ไม่พอใจกำลังเริ่มเคลื่อนไหวเพียงแต่ยังไม่แสดงออกให้เห็นเท่านั้น ว่ากันว่าถ้าขยับกันโครมเดียวพลังมวลชนที่จะเป็นแนวร่วมมากมายกว่าที่ร่วมเคลื่อนไหวกับพุทธะอิสระหลายเท่าตัว ข่าวในลักษณะนี้เชื่อว่าบิ๊กตู่น่าจะได้รับรายงานจากฝ่ายความมั่นคงแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าจะตัดสินใจอย่างไรเลือกคนส่วนใหญ่หรือพระอาจารย์

Back to top button