บันได 3 ขั้นขึ้นค่าไฟรอบใหม่

เป็นที่ “ถกเถียง-ท้วงติง-เสนอแนะ” กันในวงกว้างหลัง กกพ. มีมติเห็นชอบผลการคำนวณประมาณการค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft)


เป็นที่ “ถกเถียง-ท้วงติง-เสนอแนะ” กันในวงกว้างหลังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเห็นชอบผลการคำนวณประมาณการค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) แยกเป็น 3 กรณี สำหรับงวดเดือนก.ย-ธ.ค. 67 พร้อมให้สำนักงานกกพ.นำค่าเอฟทีประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อนำไปรับฟังความคิดเห็นกรณีต่าง ๆ ผ่านเว็บไซต์สำนักงานกกพ.ตั้งแต่วันที่ 12-26 กรกฎาคม 2567 ก่อนจะมีการสรุปและประกาศค่าไฟงวดใหม่ (ก.ย.-ธ.ค.) อย่างเป็นทางการต่อไป

กรณีที่ 1 : ผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่า Ft (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างทั้งหมด) ค่า Ft ขายปลีกเท่ากับ 222.71 สตางค์ต่อหน่วย จะเป็นการเรียกเก็บตามผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่า Ft ที่สะท้อนแนวโน้มต้นทุนเดือนกันยายน-ธันวาคม 2567 จำนวน 34.30 สตางค์ต่อหน่วยและเงินเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนคงค้าง (AF) ที่เกิดขึ้นจริงของกฟผ.จำนวน 98,495 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 163.39 สตางค์ต่อหน่วย) และมูลค่า AFGAS จำนวน 15,083.79 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 25.02 สตางค์ต่อหน่วย) รวมทั้งสิ้นจำนวน 188.41 สตางค์ต่อหน่วย

โดยกฟผ.จะได้รับเงินที่รับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าแทนประชาชน ตั้งแต่เดือนกันยายน 2564-เมษายน 2567 ช่วงสภาวะวิกฤตราคาพลังงานที่ผ่านมา คืนทั้งหมดภายในเดือนธันวาคม 2567 เพื่อนำไปชำระหนี้เงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง ให้มีสถานะทางการเงินคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว และรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ จะได้รับเงินคืนส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับภาคไฟฟ้าคืนทั้งหมด เมื่อรวมค่า Ft ขายปลีกที่คำนวณได้กับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย

ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวม VAT) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.01 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 44% จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 4.18 บาทต่อหน่วย

กรณีที่ 2 : กรณีจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 3 งวด ค่า Ft ขายปลีก เท่ากับ 113.78 สตางค์ต่อหน่วยจะสะท้อนแนวโน้มต้นทุนเดือนกันยายน-ธันวาคม 2567 จำนวน 34.30 สตางค์ต่อหน่วย และทยอยชำระคืนภาระต้นทุนคงค้าง ที่กฟผ. กู้เงินมาเพื่อตรึงค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือนกันยายน 2564-เมษายน 2567 ออกเป็น 3 งวด ๆ ละจำนวน 32,832 ล้านบาท (หรือ 54.46 สตางค์ต่อหน่วย) และมูลค่า AFGAS จำนวน 15,083.79 ล้านบาท (หรือ 25.02 สตางค์ต่อหน่วย) รวมทั้งสิ้นเท่ากับ 79.48 สตางค์ต่อหน่วย เพื่อให้กฟผ.มีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้น สามารถดำเนินการตามแผนชำระคืนหนี้เงินกู้ที่วางไว้ เพื่อรักษาระดับความน่าเชื่อถือและลดภาระดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น โดยคาดว่า ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2567 จะมีภาระต้นทุนคงค้างที่กฟผ.รับภาระแทนประชาชนคงเหลืออยู่ที่ 65,663 ล้านบาท ขณะที่รัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ จะได้รับเงินคืนส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับภาคไฟฟ้าคืนทั้งหมด เมื่อรวมค่า Ft ขายปลีกกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย

ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวม VAT) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.92 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 18% จากงวดปัจจุบัน

กรณีที่ 3 : กรณีจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 6 งวด ค่า Ft ขายปลีก เท่ากับ 86.55 สตางค์ต่อหน่วย จะสะท้อนแนวโน้มต้นทุนเดือนกันยายน-ธันวาคม 2567 จำนวน 34.30 สตางค์ต่อหน่วย และทยอยชำระคืนภาระต้นทุนคงค้างที่กฟผ. กู้เงินมาเพื่อตรึงค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือนกันยายน 2564-เมษายน 2567 ออกเป็น 6 งวด ๆ ละจำนวน 16,416 ล้านบาท (หรือ 27.23 สตางค์ต่อหน่วย) และมูลค่า AFGAS จำนวน 15,083.79 ล้านบาท (หรือ 25.02 สตางค์ต่อหน่วย) รวมทั้งสิ้นเท่ากับ 52.25 สตางค์ต่อหน่วย เพื่อให้กฟผ.มีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้น สามารถดำเนินการตามแผนชำระคืนหนี้เงินกู้ที่วางไว้ เพื่อรักษาระดับความน่าเชื่อถือและลดภาระดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น โดยคาดว่า ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2567 จะมีภาระต้นทุนคงค้างที่กฟผ.รับภาระแทนประชาชนคงเหลืออยู่ที่ 82,079 ล้านบาท

ขณะที่รัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ จะได้รับเงินคืนส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติ สำหรับภาคไฟฟ้าคืนทั้งหมด เมื่อรวมค่า Ft ขายปลีกกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย

ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวม VAT) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.65 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 11% จากงวดปัจจุบัน

ทั้ง 3 กรณีที่ว่านี้..ในมุมประชาชนคนทั่วไปและบริษัทเอกชนผู้ใช้ไฟ เป็นเรื่องยากที่จะยอมรับได้ เพราะดูจากกรณีที่ว่าดีสุด (กรณีที่ 3) ต้องจ่ายค่าเพิ่มอีก 0.47 บาท ด้วยเหตุต้นทุนชีวิตและต้นทุนการประกอบการจะเพิ่มขึ้นถึง 11% นี่ยังมารวมสินค้าอุโภคและบริโภคต่าง ๆ ที่จะปรับขึ้นอีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โจทย์ใหญ่..จึงตกไปอยู่ที่ “รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน” ว่าจะเอาอย่างไร..แต่หากจะตรึงไว้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วยเช่นเดิม รอบนี้ต้องใช้เงินกว่า 28,000 ล้านบาท เพื่ออุ้มค่าไฟรอบใหม่..

ปัญหาคือรัฐบาลจะเอาเงินมาจากไหน..!? หรือสุดท้ายหวยจะไปออกที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT อีกเช่นเคยหรือไม่..แล้วอย่างนี้ผู้ถือหุ้นปตท.จะว่าไง.!?

สุภชัย ปกป้อง

Back to top button