ช่วงเวลาของความกลัวพลวัต 2016

ห้วงยามนี้ ความกลัว กำลังกลับมาครอบงำจิตวิญญาณของนักลงทุนในตลาดเก็งกำไรทั่วโลก เหนือความโลภ แต่สงครามชักเย่ออันยาวนานระหว่างความกลัวกับความโลกก็ยังไม่จบ หรือจบไม่ลง


วิษณุ โชลิตกุล

 

ห้วงยามนี้ ความกลัว กำลังกลับมาครอบงำจิตวิญญาณของนักลงทุนในตลาดเก็งกำไรทั่วโลก เหนือความโลภ แต่สงครามชักเย่ออันยาวนานระหว่างความกลัวกับความโลกก็ยังไม่จบ หรือจบไม่ลง

เข้าทำนอง “สงครามไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร” พอดีเป๊ะ

นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งมองเห็นว่า การที่ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกดำดิ่งจนราคาหุ้นจำนวนมากต่ำกว่าพื้นฐาน เข้าเขตขายมากเกินไปแล้วครั้งแล้วครั้งเล่า แต่การรีบาวด์แท้จริงยังไม่เกิดขึ้น เพราะส่วนใหญ่เท่าที่เห็นมา มักจะเป็นการ “แมวตายเด้ง” มากกว่า

คำถามก็คือ เมื่อใดการซื้อจะเกิดขึ้นในครั้งใหม่ เพื่อที่ขาลงที่เกินเขตขายมากเกินจะได้จบสิ้นเสียที คำตอบคือ ไม่มีใครรู้ชัดเจน เพราะยามนี้ สภาพของตลาดหุ้นมีสภาพเป็นเสมือนกับภาวะที่ชาร์ลส์ แมคคาย แห่งอังกฤษเขียนไว้ในหนังสือคือ  Extraordinary Popular Delusions  and the Madness of Crowd  เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 18 โน่นเลยทีเดียว

นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมาก ตอกย้ำว่า เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงในช่วง 2 ปีนี้ ล้วนมีหลักฐานชัดเจนว่า ไม่ได้เป็นการพังทลายแบบวิกฤติต้มยำกุ้งในไทยเมื่อ ปี ค.ศ. 1997 หรือ วิกฤติซับไพรม์ เมื่อ 7 ปีก่อน แต่เป็นการปรับโครงสร้างเพื่อให้เกิดดุลยภาพใหม่เท่านั้น ปฏิกิริยาของตลาดเงินตลาดทุนในยามนี้ เป็นเรื่องอารมณ์เหนือเหตุผลอย่างชัดเจน แต่ก็ไม่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมจึงเกิดเหตุการณ์เช่นว่า ที่ทำให้ตลาดเก็งกำไรหวั่นไหวจนถูกความกลัวครอบงำเช่นนี้

ในตลาดหุ้น ราคายุติธรรม และพื้นฐานของกิจการได้ถูกปัจจัยภายนอกคือ ราคาน้ำมันกับสินค้าโภคภัณฑ์ล้นเกิน การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดฯ และความวุ่นวายของเศรษฐกิจในจีน รบกวน จนทำให้หุ้นจำนวนมากในตลาดราคาต่ำกว่าพื้นฐานหรือต่ำกว่าบุ๊คแวลู แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอให้กลับเป็นแรงซื้อได้ เพราะอารมณ์ของตลาดอาจจะยังไม่สงบนิ่งเพียงพอ

นักการเงินในยูโรโซนระบุตรงกันว่า การที่ตลาดทุน ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ และตลาดเงินปรับตัวพร้อมกันทีเดียว แทนที่จะปรับทีละตลาด ถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่ทำให้เกิดความไหวหวั่นขึ้นจนยากแก่การควบคุม ความแปรปรวน และไม่แน่นอนที่เหนือกว่าความเสี่ยงตามปกติ เป็นสิ่งที่ทำให้อารมณ์นักลงทุนเสียศูนย์

ปัญหาใหญ่ของความหวั่นไหวในรอบนี้คือ ราคาของหลักทรัพย์ และมาร์เก็ตแคปของตลาดที่ลดลงอย่างรุนแรงพร้อมกัน จะนำมาซึ่งปัญหาสภาพคล่องของตลาดที่หดตัวลง  ซึ่งนำไปสู่ภาวะหมีที่ยาวนาน

หลายคนพยายามบอกว่า การเพิกเฉยต่อประสบการณ์ในอดีตของนักลงทุนที่คุ้นเคยกับขาขึ้นอันยาวนานของตลาดหุ้น และราคาน้ำมันมายาวนานเกือบ 10 ปี จนกระทั่งเมื่อตลาดเริ่มเป็นขาลงก็ทำตัวไม่ถูก พากันเทขายแบบกระต่ายตื่นตูมอย่างไม่ยั้ง แต่นี่ก็เป็นคำอธิบายที่ไม่เพียงพอว่า ความกลัวแบบฮีสทีเรียหมู่ในตลาดทุนและตลาดเก็งกำไรระลอกล่าสุดนี้ มีสาเหตุจากปัจจัยอะไรกันแน่

มีมุมมองที่แตกต่างออกไปว่า การที่รัฐเข้ามาใช้ “มือที่มองเห็น” ผ่านกลไกการควบคุมหลายด้านอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการใช้มาตรการทางการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ได้เริ่มพบว่า มีขีดจำกัดของการรักษาเยียวยาความอ่อนแอและเปราะบางของกลไกตลาดเงินมากขึ้นอย่างชัดเจน จนกระทั่งเกิดอาการ “ดื้อยา” ให้เห็นดังเช่นกรณีของเฟดฯ หรือกรณีของ QE โดยธนาคารกลางยุโรป หรือ ธนาคารกลางญี่ปุ่น และล่าสุดโดยธนาคารกลางจีน

ขีดจำกัดของธนาคารกลางอย่างญี่ปุ่น ยุโรป และจีนอยู่ที่ว่า ทั้ง 3 ธนาคารกลางนี้ ล้วนไม่สามารถพิมพ์ธนบัตรออกมาใช้เองได้อย่างไม่จำกัดได้ แต่โยงใยเข้ากับทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศอย่างลึกซึ้ง การแทรกแซงตลาดจะทำให้ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศร่อยหรอลง ถือเป็นขีดจำกัดที่ต่างจากเฟดฯอย่างมาก

กรณีล่าสุดที่สะท้อนความล้มเหลวของธนาคารกลางจีน ได้แก่ การที่ประกาศอัดฉีดสภาพคล่องให้ตลาดเงินอีกมากมายถึง 9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และเอเชียขานรับได้ไม่ถึงครึ่งวันเสียด้วยซ้ำ ในขณะที่ภาคบ่ายตลาดหุ้นพากันร่วงหนัก เพราะราคาน้ำมันที่พลิกกลับลงมา

ปรากฏการณ์ที่ธนาคารกลางมีอิทธิพลต่อตลาดต่ำลงเมื่อเทียบกับอารมณ์ที่ถูกความกลัวครอบงำของนักลงทุน สะท้อนว่า ความโลภนั้น ไม่อาจจะเอาชนะความกลัวได้ในทุกกรณี ซึ่งทำให้ยามนี้จะเห็นได้ชัดว่า นักลงทุนที่พยายามทำตัวเป็น “ชาวสวน” พากันเจ็บตัวกันทั่วหน้า

พฤติกรรมแบบชาวสวนของนักลงทุน เป็นความพยายามที่จะทำสิ่งตรงข้ามกับพฤติกรมโน้มเอียงของฝูงชนส่วนใหญ่ในตลาด เสมือนปลาที่ว่ายทวนกระแสน้ำ ใช้การไม่ได้เพราะการร่วงลงของตลาดยามนี้ ไม่ใช่การที่ราคาเหวี่ยงขึ้นลงผิดธรรมชาติในระยะสั้น แต่มีการ “ซึมยาว” สลับกับ “กระแทกลงแรง” สลับกัน

ช่วงเวลาดีเยี่ยมที่จะเข้าลงทุน สำหรับการลงทุนแบบชาวสวน ได้กลายเป็นความผิดพลาดภายหลังการเข้าซื้อผ่านไปไม่นาน มีส่วนบั่นทอนความโลภของนักลงทุน และเปิดทางสะดวกให้กับความกลัวออกมาเพ่นพ่านแทน

ปัจจัยพื้นฐานก็ไม่ได้เลวร้าย แถมสัญญาณทางเทคนิคก็ยังเข้าเขตขายมากเกิน แต่หุ้นยังลงต่อได้เรื่อยๆ มันบ่งบอกความผิดปกติหรือการเปลี่ยนสูตรการลงทุนที่ต้องการกระบวนทัศน์ใหม่หรืออย่างไร

เป็นปริศนาอย่างยิ่งที่ยังขบไม่แตกในยามนี้ 

Back to top button