SCB EIC ชี้ “ราคาทอง” ครึ่งปีหลังพุ่งต่อ! รับความหวัง “เฟด” ลดดอกเบี้ย
SCB EIC ประเมิน “ราคาทองคำ” ครึ่งปีหลังมีโอกาสปรับตัวขึ้นอีก จากแนวโน้มการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ช่วงไตรมาส 3-4 ปี 67 ของ “เฟด” ชี้ผลตอบแทนที่ลดลงส่งผลให้นักลงทุน หันมาลงทุนในทองคำมากขึ้น
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC ระบุในบทความวันนี้ (16 ก.ค. 67) ว่า ในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน “ทองคำ” เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe-Heaven Asset) ที่ทำหน้าที่เป็นหลักประกัน และการสะสมความมั่งคั่งมาอย่างยาวนาน โดยมูลค่าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของทองคำ ส่งผลให้มีความต้องการครอบครองทองคำ ตั้งแต่ระดับประเทศ ระดับสถาบันต่างๆ ลงมาจนถึงระดับบุคคล โดยมีวัตถุประสงค์ในการครอบครองที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นการถือครองเพื่อเป็นทุนสำรองของธนาคารกลางของแต่ละประเทศ การลงทุน เครื่องประดับ ไปจนถึงการใช้งานในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าประเภทต่าง ๆ ที่มีทองคำเป็นส่วนประกอบ
โดยอุปสงค์ทองคำโดยรวมของโลกอยู่ที่ราว 4,000 ตัน/ปี เกือบครึ่งหนึ่งเป็นอุปสงค์ทองรูปพรรณ และเครื่องประดับที่มีทองคำเป็นส่วนประกอบ อุปสงค์ทองคำโดยรวมของโลกในปี 2566 อยู่ที่ 4,500 ตัน ในจำนวนนี้ 49% เป็นอุปสงค์ทองรูปพรรณ และเครื่องประดับที่มีทองคำเป็นส่วนประกอบ รองลงมาเป็นอุปสงค์การถือครองทองคำของธนาคารกลางทั่วโลก และอุปสงค์ทองคำเพื่อการลงทุนคิดเป็นสัดส่วน 23% และ 21% ตามลำดับ สัดส่วนที่เหลืออีก 7% เป็นอุปสงค์ทองคำในการผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ทั้งนี้ ประเทศผู้ถือครองทองคำมากที่สุดของโลกเป็นลำดับต้นๆ คือ สหรัฐอเมริกา, เยอรมนี, อิตาลี, ฝรั่งเศส, รัสเซีย และจีน ซึ่ง 6 ประเทศดังกล่าวครอบครองทองคำคิดเป็นสัดส่วนรวมกันถึง 58% ของปริมาณการถือครองทองคำทั่วโลก
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เช่น ภาวะสงคราม ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ นำมาซึ่งความเสี่ยงให้เกิดสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัวในหลายประเทศ และก่อให้เกิดความท้าทายในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลทั่วโลกตามมา นำมาซึ่งการถือครองทองคำที่ปรับตัวสูงขึ้นของธนาคารกลาง โดยดัชนี Economic Policy Uncertainty (EPU) มีทิศทางเดียวกันกับการเข้าถือครองทองคำเพื่อเป็นทุนสำรองของธนาคารกลางทั่วโลก สะท้อนว่านอกจากทองคำจะเป็นทุนสำรองของประเทศแล้ว ทองคำยังเป็นเป็นสินทรัพย์ที่เป็นหลักประกันความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆ ดังเช่นในปี 2565 ที่เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน เป็นเหตุให้ราคาพลังงาน และเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นมาก ส่งผลให้การเข้าถือครองทองคำเพื่อเป็นทุนสำรองของธนาคารกลางปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก
โดยการผลิตทองคำโดยรวมทั้งโลกยังมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างจำกัด และยังต้องติดตามหลายปัจจัย ที่ส่งผลให้ราคาทองคำมีความผันผวน และมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การผลิตแร่ทองคำโดยรวมทั้งโลกขยายตัวโดยเฉลี่ยเพียง 0.3% ต่อปี ซึ่งการผลิตที่ลดลงอย่างต่อเนื่องของจีนเป็นแรงกดดันต่ออุปทานทองคำ นอกจากนี้ การเข้าถือครองทองคำอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางประเทศต่างๆ ประกอบกับ SCB EIC ประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงไตรมาส 3-4 ของปีนี้ โดยผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง จะส่งผลให้นักลงทุนหันมาลงทุนในทองคำมากขึ้น และจะส่งผลให้ราคาทองคำโลกมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี
ขณะที่การสร้างมูลค่าเพิ่มของธุรกิจทองคำของไทยยังจำกัดอยู่ที่การผลิตสินค้าขั้นปลาย โดยปัจจุบันโรงงานสกัดทองคำในไทยแม้จะมีความสามารถสกัดทองคำให้มีความบริสุทธิ์ได้ที่ 99.99% แต่ยังมีทองคำบางส่วนถูกส่งออกไปยังโรงงานสกัดทองคำในต่างประเทศ โดยเฉพาะสวิตเซอร์แลนด์ ที่สามารถสกัดทองคำให้มีความบริสุทธิ์ตามมาตรฐานสากล หลังจากนั้นจึงนำเข้าทองคำบริสุทธิ์กลับเข้ามาผลิตที่ไทยเป็นสินค้าขั้นปลาย ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง การสร้างมูลค่าเพิ่มของธุรกิจทองคำของไทยจึงยังจำกัดอยู่ที่การผลิตสินค้าขั้นปลาย เช่น เครื่องประดับที่มีส่วนประกอบของทองคำ ทองคำแท่ง และเหรียญทองคำ
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจทองคำยังเผชิญกับความท้าทายด้านต้นทุน จากราคาทองคำที่พุ่งสูงขึ้นมาก แต่ความนิยมถือครองทองคำของคนไทยยังเป็นโอกาส แม้ว่ารายได้ของธุรกิจค้าทองในช่วงปี 2562-2565 โดยรวมจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 17% ต่อปี แต่ผู้ค้าทองต้องเผชิญกับความท้าทายด้านต้นทุนขายที่ปรับตัวสูงขึ้น จนส่งผลให้อัตรากำไรต่ำมาก อย่างไรก็ดีในภาพรวมธุรกิจค้าทองยังมีสภาพคล่องในการประกอบธุรกิจที่สูง ซึ่งปริมาณการซื้อขายทองคำที่หมุนเวียนในตลาด ทั้งจากผู้บริโภคและนักลงทุน ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจค้าทอง
โดยความนิยมถือครองทองคำของคนไทย ทั้งเครื่องประดับ และการลงทุน ยังเป็นโอกาสของธุรกิจการผลิต และธุรกิจค้าทอง ทั้งนี้ SCB EIC ประเมินว่า ตลาดทองคำในประเทศที่ถือครองโดยผู้บริโภคในปี 2566 มีมูลค่าแตะระดับ 91,000 ล้านบาท ปรับตัวสูงขึ้นจากราว 66,000 ล้านบาทในปี 2562 จากราคาทองคำโดยเฉลี่ยที่ปรับตัวสูงขึ้น ปริมาณการถือครองทองคำที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการถือครองทองคำต่อประชากรของไทยที่ปรับตัวสูงขึ้น
สำหรับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า เช่น การออกแบบลวดลาย รวมถึงการขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีกำลังซื้อ เป็นกลยุทธ์สำคัญสำหรับผู้ผลิต และผู้ค้าทอง โดยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการส่งออก เพื่อสกัดทองคำให้มีความบริสุทธิ์ตามมาตรฐานสากล และนำเข้าทองคำกลับมาที่ไทย เป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิตสินค้าทองคำขั้นปลาย อีกทั้ง ต้นทุนยังมีความผันผวนไปตามราคาทองคำในตลาดโลก และค่าเงินบาท ที่ต้องอาศัยประสบการณ์ในการบริหารจัดการต้นทุนราคาทองคำ และสต็อกวัตถุดิบทองคำ รวมถึงบริหารจัดการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนอีกด้วย
โดยผู้ผลิตสินค้ากลุ่มเครื่องประดับทองคำ ควรมุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า เช่น การออกแบบลวดลายทองรูปพรรณให้มีเอกลักษณ์ เพื่อดึงดูดกำลังซื้อจากผู้ซื้อเครื่องประดับทองคำเพื่อสะท้อนความมั่งคั่ง และเก็บสะสม รวมถึงขยายฐานลูกค้า ทั้งผู้บริโภคในประเทศ เช่น ผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว และผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีการเติบโตของรายได้แบบก้าวกระโดด แต่รายได้ไม่แน่นอน จึงต้องการสะสมสินทรัพย์เพื่อเป็นหลักประกันในอนาคต คนรุ่นใหม่ที่มีกำลังซื้อ รวมถึงกลุ่มผู้บริโภคในประเทศเพื่อนบ้านที่นิยมเครื่องประดับทองคำจากไทย และนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ อย่างชาวตะวันออกกลาง และชาวฮ่องกง
ทั้งนี้ ผู้ค้าทองรายใหญ่ยังสามารถขยายการให้บริการ ด้วยการเป็นพันธมิตรกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น สถาบันการเงิน การขายทองคำผ่าน E-Wallet รวมถึงอาจเป็นพันธมิตรกับธุรกิจการท่องเที่ยว เพื่อขยายช่องทางการขายไปสู่นักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มที่มีศักยภาพ ขณะที่ผู้ค้าทองรายกลางและเล็กอาจขยายธุรกิจสู่การให้บริการออมทอง โดยเฉพาะกับผู้ซื้อรายย่อย และกลุ่มนักลงทุนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงแพลตฟอร์ม หรือบัญชีการซื้อขายออนไลน์ของผู้ค้าทองรายใหญ่ได้