BBLAM เปิดตัว 3 กองทุนใหม่อิงหุ้น “สหรัฐ-ยุโรป-ญี่ปุ่น” เปิดจองซื้อ 23-31 ก.ค.67

BBLAM คลอด 3 กองทุนใหม่ B-USPASSIVE, B-EUPASSIVE และ B-JPPASSIVE อิงหุ้นสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ขายครั้งแรกระหว่างวันที่ 23-31 ก.ค.67


บลจ.บัวหลวง จำกัด (BBLAM) เพิ่มผลิตภัณฑ์กองทุนรวมที่มีสไตล์ลงทุนแบบ Passive เพื่อให้ครอบคลุมความต้องการของนักลงทุนให้ได้มากยิ่งขึ้น เบื้องต้นจะนำเสนอ 3 กองทุนใหม่ ได้แก่ B-USPASSIVE, B-EUPASSIVE และ B-JPPASSIVE ซึ่งจะครอบคลุมโอกาสที่พร้อมเติบโตไปกับ 3 ผู้นำเศรษฐกิจโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, ยุโรป และญี่ปุ่น โดยทั้ง 3 กองทุนจะเปิดขายครั้งแรกระหว่างวันที่ 23 – 31 กรกฎาคม 2567

ทั้งนี้ 3 กองทุนดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ผลตอบแทนของกองทุนได้ใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิงมากที่สุด โดยกองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นยูเอสพาสซีฟ (B-USPASSIVE) ที่มีนโยบายลงทุนในหน่วยลงทุนของ SPDR S&P 500 ETF ซึ่งเป็นกองทุนรวม ETF ทั้งนี้ ดัชนี S&P 500 ครอบคลุมการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี การเงิน สุขภาพ และสินค้าอุปโภคบริโภค ทำให้มีการกระจายความเสี่ยง ซึ่งโอกาสลงทุนเมื่อมองไปข้างหน้าคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากทิศทางการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นผลบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น นอกจากนี้ หุ้นกลุ่ม Magnificent 7 ที่อยู่ในดัชนี S&P 500 แม้ว่าจะเติบโตขึ้นมากแล้ว แต่ก็ยังมีโอกาสไปต่อได้อีกจากแรงหนุนของ AI อีกด้วย

ถัดมาคือ กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นยุโรปพาสซีฟ (B-EUPASSIVE) มีนโยบายลงทุนในหน่วยลงทุนของ iShares STOXX Europe 600 UCITS ETF (DE) กองทุน ETF ที่มีดัชนีอ้างอิงคือ STOXX Europe 600 ซึ่งเป็นดัชนีที่รวมหุ้นขนาดใหญ่ 600 ตัวจาก 17 ประเทศในยุโรป ครอบคลุมอุตสาหกรรม เช่น เทคโนโลยี การผลิต พลังงาน การเงิน สุขภาพ สินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น เรียกได้ว่ามีครบทั้งหุ้นกลุ่ม Value และ Growth ที่มีพื้นฐานแข็งแกร่ง ซึ่งในช่วงเวลานี้ ตลาดหุ้นยุโรปกำลังมีมูลค่าที่น่าสนใจ ราคาหุ้นยังไม่ถือว่าแพงเกินไป

ปิดท้ายด้วยกองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นญี่ปุ่นพาสซีฟ (B-JPPASSIVE) มีนโยบายลงทุนในหน่วยลงทุนของ NEXT FUNDS Nikkei 225 Exchange Traded Fund กองทุน ETF ที่มีดัชนีอ้างอิงคือ Nikkei 225 Stock Average ที่สะท้อนการเคลื่อนไหวราคาหุ้นของบริษัทมหาชนญี่ปุ่น 225 แห่ง ซึ่งถูกคัดเลือกมาจากอุตสาหกรรมทั้งหมด 36 กลุ่ม ทำให้มีการกระจายลงทุนในหลากหลายธุรกิจ

สำหรับตลาดหุ้นญี่ปุ่นในช่วงเวลานี้กำลังมีปัจจัยหนุนการเติบโตหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น แนวโน้มการปรับขึ้นค่าจ้าง ซึ่งเป็นผลบวกต่อกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค นโยบายการปรับโครงสร้างธุรกิจโดยตลาดหลักทรัพย์โตเกียว ซึ่งช่วยกระตุ้นความสนใจของผู้ถือหุ้นและนักลงทุน รวมถึงการท่องเที่ยวที่กำลังเฟื่องฟูอย่างมาก โดยนอกจากจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวมากสุดเป็นประวัติการณ์แล้ว Tourist Spending หรือการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ที่ 1.80 ล้านล้านเยน หรือสูงถึง 210,000 เยนต่อคนต่อทริป

จุดเด่นของกองทุนที่มีสไตล์ลงทุนแบบ Passive ได้แก่ การจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่ถูกลง เพราะกองทุนเน้นกระจายลงทุนตามสัดส่วนของดัชนีอ้างอิงเพื่อให้ผลตอบแทนลงทุนใกล้เคียงกับดัชนี ซึ่งจะต่างจากการลงทุนสไตล์ Active ที่การลงทุนจะต้องมาพิจารณาพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ รวมไปถึงการคัดกรองข้อมูลธุรกิจเพื่อเลือกหุ้นลงทุน โดยมุ่งหวังให้ผลตอบแทนกองทุนสูงกว่าดัชนีอ้างอิง

“B-USPASSIVE, B-EUPASSIVE และ B-JPPASSIVE ทั้ง 3 กองทุนจึงเหมาะกับนักลงทุนที่มีแผนลงทุนระยะปานกลางถึงระยะยาว โดยต้องการได้ประโยชน์จากการเติบโตของผู้นำเศรษฐกิจโลกด้วยต้นทุนการลงทุนที่ถูกลง อีกทั้งไม่เสียภาษีจากการลงทุนต่างประเทศ ที่สำคัญทั้ง 3 กองทุนรวมนี้ไม่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะต้องการเปิดโอกาสให้นักลงทุนได้ผลตอบแทนที่สอดคล้องกับดัชนีอ้างอิง”

Back to top button