เตือนนักลงทุน! กีบอ่อนค่า เงินเฟ้อพุ่ง เลี่ยงลงทุนในสปป.ลาว

สปป.ลาว เผชิญปัญหาหนี้สินต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นสองเท่า รัฐบาลขอเลื่อนการชำระหนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ หลังเงินกีบอ่อนค่า เงินเฟ้อพุ่ง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงการคลังของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ( สปป.ลาว ) เปิดเผยข้อมูลว่า การชำระหนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 507 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.85 หมื่นล้านบาท) ในปี 2565 เป็น 950 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท) ในปี 2566 ส่งผลให้ สปป.ลาว ต้องขอเลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 670 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท) ในปี 2566 รวมถึงภาระหนี้สินที่เลื่อนชำระไปแล้ว 1.22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.44 หมื่นล้านบาท) ตั้งแต่ปี 2563

นอกจากนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ( IMF ) มีคำเตือนว่า ภาระหนี้ของ สปป.ลาว ทำให้ประเทศที่มีประชากรเกือบ 8 ล้านคน มีความเสี่ยงสูงที่จะผิดนัดชำระหนี้ท่ามกลางปัญหาสภาพคล่อง หากนักลงทุน มีแผนการลงทุนใน สปป.ลาว ควรระมัดระวัง และ พิจารณาอย่างถี่ถ้วน หรือ หากจะตัดสินใจลงทุน ควรเป็นธุรกิจขนาดเล็ก สิ้นปีที่แล้ว สปป.ลาว มีหนี้สาธารณะและหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกันรวม 1.38 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5.02 แสนล้านบาท) ลดลงเพียง 1% จากปีก่อนหน้า และ คิดเป็น 108% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โดยประมาณครึ่งหนึ่งของหนี้รัฐบาลต่างประเทศของ สปป.ลาว เป็นหนี้ของ จีน

อย่างไรก็ตาม คาดว่าภาระหนี้สินจะยังคงอยู่ในระดับสูงในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าการชำระหนี้ต่างประเทศต่อปีจะอยู่ที่ประมาณ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.7 หมื่นล้านบาท) ระหว่างปี 2567-2571

ล่าสุด ( 19 ก.ค.67 ) โลกออนไลน์ของ สปป.ลาว ผุดแคมเปญ #Savelaokip หรือ เซฟเงินกีบลาว โดยเป็นการกระตุ้นให้พ่อค้า- แม่ขาย รวมถึงนักลงทุนและนักธุรกิจ ใน สปป.ลาว รับแต่เงินกีบ ไม่รับเงินต่างประเทศ หรือ หากนักท่องเที่ยวต่างประเทศต้องการใช้จ่ายเงินก็สามารถใช้จ่ายได้ แต่ต้องมีเงื่อนไขคือร้านค้าจะเป็นผู้กำหนดเรทราคาใหม่เอง หวังแก้ปัญหาเงินกีบอ่อนค่า ลดอัตราเงินเฟ้อ เงินลาว หยุดการอ่อนค่าเงินกีบที่เกิดอยู่ในขณะนี้

ขณะที่ นายจตุรงค์ บุนนาค ประธานสภาธุรกิจไทย-ลาว ประเมินสถานการณ์ความล้มเหลวทางสถาบันการเงินที่เกิดขึ้นกับ สปป.ลาว ว่า การไม่รับเงินต่างประเทศในการซื้อขายสินค้าในประเทศของตนเองเป็นระบบสากลอยู่แล้ว อย่างไทยก็มีระเบียบในการรับเงินตราต่างประเทศอยู่เช่นกัน ทางประเทศลาวก็เช่นกัน แต่ที่ผ่านมาที่ลาวรับเงินบาทเป็นเพราะอุปสงค์ อุปทานในตลาดการค้า โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยจำหน่ายอยู่ในตลาดลาวมากประมาณ 80-90 % ซึ่งสินค้าซื้อมาจากไทย ดังนั้น ดีมานด์เงินบาทก็ตามมา จึงทำให้เงินบาทไทยสามารถนำไปใช้จ่ายในประเทศลาวได้ โดยอาจทำให้ค่าเงินกีบดีมานด์ลดลง

ที่ผ่านประเทศลาวเองก็รณรงค์ให้คนในประเทศใช้เงินกีบ แต่ก็เป็นเพียงแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้นเพราะสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยเข้าไปจำหน่ายในตลาดลาวมากก็หันกลับมาซื้อขายด้วยเงินบาทอีก

ปัจจุบันสถานการณ์รณรงค์ให้ใช้เงินกีบแทนเงินบาทกลับมาอีกครั้ง ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะลาวมีปัญหาเรื่องการชำระเงินและค่าเงินกีบที่อ่อนค่ามากขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันเงินกีบ 700 กีบต่อ 1 บาท ซึ่งเงินกีบอ่อนค่ามาเป็น 10   ปีเมื่อเทียบกับเงินบาทเพราะลาวขาดดุลการค้ามากเพราะลาวเป็นประเทศที่นำเข้าสินค้าเป็นหลักจึงทำให้ขาดดุลการค้ามาโดยตลอด ดังนั้นกลไกอัตราแลกเปลี่ยนจึงไม่สามารถสร้างสมดุลได้ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงเรื่อย ๆ ประกอบกับการลงทุนจากต่างประเทศหรือเอฟดีไอก็ก็ลดลงเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อสูง ทำให้นักลงทุนไม่กล้าเข้ามาลงทุนในลาวมากนัก เนื่องจากเมื่อคำนวณอัตราผลตอบแทนลบด้วยอัตราเงินเฟ้อออกมาเป็นลบ นักลงทุนก็ไม่มาลงด้วย

Back to top button