“ยูบีเอส” หวั่น KKP-TISCO ปล่อยสินเชื่อ “รถมือสอง”สะดุด หลังรถยึดพุ่ง
“ยูบีเอส” มองธุรกิจปล่อยสินเชื่อรถมือสองของ KKP-TISCO จะยังมี NPL ที่ค้างอยู่ยังไม่สามารถ Cleanup ได้หมด และผลขาดทุนจากการยึดรถคงที่ในครึ่งหลังปีพ่วงแรงกดดันจาก EV เข้ามาทำการตลาดอย่างหนัก
บริษัทหลักทรัพย์ ยูบีเอส (ประเทศไทย) จำกัด (UBS) ระบุในบทวิเคราะห์ถึงสถานการณ์สินเชื่อรถมือสองที่มีต่อกลุ่มการเงินไทย โดยจากการสัมภาษณ์กับนายสุวิทย์ ชอบประดู่ รองประธานสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว พบว่ามีตัวแทนจำหน่ายรถมือสองกว่า 1 หมื่นรายในประเทศ แต่มีเพียงราว 700 รายเท่านั้นที่อยู่ในสมาคม พร้อมกับระบุว่าธุรกรรมซื้อขายรถมือสองมีอยู่ราว 2 ล้านธุรกรรมต่อปี และมีมูลค่าเฉลี่ยราว 2 แสนบาทต่อคัน โดย 40% เป็นรถยนต์ส่วนบุคคล และ 60% เป็นรถพิกอัพ
อีกทั้งให้ข้อมูลว่าอายุการใช้งานของรถใช้แล้วแบ่งได้ดังนี้ 1) น้อยกว่า 5 ปี มีจำนวนน้อยที่สุด แต่ขายได้ดีที่สุด 2) 6-15 ปี มีราคาที่คงที่ และ 3) มากกว่า 15 ปี มีจำนวนที่ล้นตลาด เนื่องจาก NPL สูงขึ้นหลังจากที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคกำหนดเพดานอัตราสินเชื่อสำหรับการให้เช่าซื้อรถยนต์
นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า การยึดหลักประกันของแบงก์ที่สูงขึ้นนั้นอยู่ในช่วงครึ่งแรกปี 2566 ในขณะที่ราคารถมือสองสูงขึ้น แต่เริ่มการยึดหลักประกันเริ่มลดลงหลังจากที่รถ EV เริ่มหั่นราคาในครึ่งหลังปี 66 ซึ่งส่งผลให้การยึดลดของธนาคารลดลงถึง 50%
อย่างไรก็ตามเชื่อว่าขณะนี้ NPL จากรถใช้แล้วเริ่มที่จะคงที่ และเชื่อว่าจะเห็นราคารถมือสอง และสินเชื่อเช่าซื้อเติบโตขึ้นในครึ่งหลังปี 67
ทั้งนี้ UBS ระบุว่า บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO,ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB และ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB เป็นผู้ให้สินเชื่อหลักแก่ตัวแทนจำหน่ายรถมือสองในไทย ในขณะที่ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP ยกเลิกบริการปล่อยสินเชื่อใหม่ตั้งแต่ปี 2566 โดย TTB และ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB หยุดให้สินเชื่อเช่าซื้อรถมือสอง ส่วน TISCO เพิ่งมีการกลับมาปล่อยสินเชื่อใหม่ ในขณะที่ KKP ยังเป็นผู้ที่ปล่อยสินเชื่อมากที่สุดอยู่ (มาจากสินเชื่อเก่า) แม้จะชะลอตัวลงในช่วง 6 เดือนแรกก็ตาม
โดยเชื่อว่า NPL ที่ทรงตัวอยู่ในขณะนี้เกิดจากการที่ธปท.กำหนดให้มีมาตรการช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ แต่มองว่าหากเศรษฐกิจไทยยังคงอ่อนแอ รายได้ครัวเรือนยังไม่เพิ่ม และผู้ให้สินเชื่อยังให้วงเงินสูงแก่ผู้กู้ที่มีความเสี่ยงสูงอยู่ จะส่งผลให้การผิดนัดชำระ และผลขาดทุนจากการยึดรถจะยังสูงขึ้นเรื่อย ๆ
ทั้งนี้ UBS ระบุว่า TISCO และ KKP จะยังมี NPL และผลขาดทุนจากการยึดรถที่คงที่ในครึ่งหลังปี 67 แต่เชื่อว่าต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อ (Credit Cost) ในปี 68-69 จะอยู่ในระดับสูง เนื่องจาก NPL ที่ค้างอยู่ยังไม่สามารถ Cleanup ได้หมด และยังเป็นความเสี่ยงต่อธุรกิจสินเชื่อ 2) แรงกดดันจาก EV ที่เข้ามาทำการตลาดอย่างหนัก ในขณะที่โรงงานที่ผลิตรถยนต์น้ำมันทยอยปิดตัวลง หรือลดการผลิตในไทย
โดยมองว่าผู้ให้สินเชื่อจำนำทะเบียนรถอย่าง บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC จะได้รับผลบวกจากสินเชื่อที่เติบโต และคุณภาพสินทรัพย์ที่ฟื้นตัวในปีนี้ แต่อาจจะพบกับปัญหา NPL อีกครั้งในปี 2568