GUNKUL ลุยพลังงานทดแทน 832 MW ย้ำ Adder หมดอายุไม่กระทบกำไร
GUNKUL เดินหน้าพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 832 MW ทยอยจ่ายไฟปี 69 มั่นใจ Adder ทยอยหมดอายุปี 70 ไม่กระทบกำไร พร้อมชูจุดแข็ง Solar-Solar+BESS-Wind หนุนรายได้โต Double-Digit
นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL เปิดเผยว่า ตามที่สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าที่มีส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) จะเริ่มทยอยหมดอายุลงตั้งแต่ช่วงต้นปี 2570 จะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อบริษัทฯ เนื่องจากจะมีโครงการโรงไฟฟ้าโครงการใหม่เข้ามาชดเชย ซึ่งจะเริ่มเปิดดำเนินการขายไฟในเชิงพาณิชย์ (COD) ในปลายปี 2569
ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังมีโครงการ Solar, โครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Solar+BESS) และโครงการพลังงานลม (Wind) ที่จะทยอย COD ในปี 2569, ปี 2571, ปี 2572 และปี 2573 ตามลำดับ ซึ่งนอกจากจะสามารถชดเชยรายได้จากผลกระทบของ Adder โครงการพลังงานลมแล้ว ยังช่วยเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทฯ ให้สามารถเติบโตเฉลี่ยแบบ Double-Digit ได้อีกด้วย
สำหรับโครงการพลังงานหมุนเวียนแบบ FiT ที่ประมูลได้ทั้ง 17 โครงการรวม 832.4 เมกะวัตต์ คาดการณ์ว่าจะช่วยหนุนรายได้ปี 2573 ของบริษัทฯ ให้เติบโตเพิ่มขึ้นอีก 5,000 ล้านบาท และ EBITDA เติบโตเพิ่มขึ้นอีก 4,200 ล้านบาท
“จะเห็นได้ว่าในช่วงที่ผ่านมา GUNKUL ได้มีการขยายการลงทุน และเข้าร่วมประมูลโครงการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อมาช่วยสร้างรายได้ให้เพิ่มมากขึ้น” นางสาวโศภชา กล่าว
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด แนะนำซื้อ GUNKUL และให้ราคาเป้าหมาย 5 บาท อิง SOTP โดยยังมีมุมมองเป็นกลาง หลังธุรกิจมีพัฒนาการตามแผนและยังไม่มีประเด็นใหม่ สรุปดังนี้ 1) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในไทยรอบล่าสุดที่บริษัทได้มาจะเริ่ม COD ในปี 2569 (3 โครงการ 177 MW) ซึ่งโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อรอก่อสร้างต่อไป 2) ธุรกิจ EPC ปัจจุบันมีแบ็กล็อกราว 6 พันล้านบาท ตั้งเป้าปี 2567 ประมูลงานเพิ่มราว 4 พันล้านบาท โดยมีงานโครงการใหญ่จากภาครัฐมูลค่ารวมกว่า 2.20 หมื่นล้านบาท เป็น potential projects 3) ธุรกิจ Trading มีมุมมองที่ดีจากการลงทุนเพิ่มเติมของหน่วยงานรัฐฯ และจากโครงการพลังงานทดแทนในไทยที่จะเริ่มทยอย COD ในปี 2567-73 (เฟสแรก 5.2 GW และ 3.6 GW เฟสสอง ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเห็นความชัดเจนในต้นปี 2568)
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยคาดราคาหุ้นมีโอกาสกลับไป outperform SET ได้จากโอกาสในการได้งาน EPC โรงไฟฟ้าเพิ่มเติม หลังโครงการพลังงานทดแทน 5.2GW จะเริ่มทยอย COD ในปี 2567 เป็นต้นไป
รวมถึงโอกาสในการได้โครงการเพิ่มในเฟสถัดไป 3.6GW เป็นอีก catalyst และมองว่าผลประกอบการกลับเข้าสู่ภาวะขาขึ้นจากการทยอยรับรู้รายได้ โครงการพลังงานทดแทนใหม่ซึ่งจะทยอย COD ในปี 2569 ถึง 2573 หนุนกำลังการผลิตจากปี 2566 ที่ 0.60 GW สู่ระดับ 1.50 GW (ราคาเป้าหมายของเรารวมกำลังการผลิตไว้ 1.30 GW เหลือโรงไฟฟ้าพลังงานลม 180 MW เป็นอัพไซด์หลังรอลงนาม PPA)