“บล.กรุงศรี” ชี้ AWC-GPSC-EA เสี่ยงหลุด MSCI สูง
บล.กรุงศรี ชี้ AWC, GPSC, EA เสี่ยงหลุด MSCI สูง ส่วน IVL เสี่ยงหลุดกลาง และ KTC เสี่ยงหลุดต่ำสุด แนะเลี่ยงลงทุนไปก่อน
บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ดัชนี MSCI จะมีกำหนดการประกาศผลการ Rebalance รอบใหม่วันที่ 12 ส.ค. (ไทยทราบผลเช้า 13 ส.ค.) โดยการ Rebalance จะมีผล 30 ส.ค. เบื้องต้นคาดหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงหลุดออกจากดัชนี ได้แก่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC, บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ส่วนบริษัทที่เสี่ยงระดับกลางคือ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL และเสี่ยงต่ำคือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC
อย่างไรก็ตาม ระยะสั้นมีโอกาสที่หุ้นชุดดังกล่าวจะเคลื่อนไหว Underperform เชิงกลยุทธ์ให้เลี่ยงลงทุนไปก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยวานนี้ (23 ก.ค.) ปิดตลาดที่ระดับ 1,301.54 จุด ลดลง 15.60 จุด หรือ -1.18% มูลค่าการซื้อขายราว 40,319.60 ล้านบาท
นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัด กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยวานนี้ปรับลงแรง กลับไปใกล้แนวรับจิตวิทยาที่ 1,300 จุด จากแรงกดดันผลประกอบการกลุ่มแบงก์ไม่ได้โดดเด่น แม้ออกมาใกล้เคียงคาด แต่ยังคงตั้งสำรองสูง ทำให้เห็นสัญญาณความกังวล ส่งผลไปยังหุ้นกลุ่มอื่น ๆ เช่น ไฟแนนซ์ อีกทั้งหุ้น EA ร่วงแรง สร้างความกังวลต่อตลาดหุ้นกู้ ส่งผลกระทบต่อหุ้นขนาดกลางและเล็กปรับตัวลงถ้วนหน้า
ขณะที่ ตลาดฯ ยังไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามาหนุน และกองทุน Thai ESG ก็ยังไม่เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
แนวโน้มวันนี้ (24 ก.ค.) คาดตลาดแกว่งออกข้างรอปัจจัยต่าง ๆ แนะติดตามนายกรัฐมนตรีแถลงความชัดเจนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ส่วนประเด็นทางการเมืองศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณาคดีคุณสมบัตินายกฯ วันนี้คาดยังไม่ได้ข้อสรุป จึงเป็นประเด็น Overhang ตลาดหุ้นไทยต่อไป อีกทั้งต้องติดตามการทยอยประกาศงบเป็นปัจจัยใหญ่ถัดไปที่ตลาดจับตา หากงบบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด จะหนุนตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวได้
ส่วนปัจจัยต่างประเทศติดตามตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI), ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือน มิ.ย. และแนวโน้มการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นต้น ให้แนวรับไว้ที่ 1,290 จุด และแนวต้าน 1,315 จุด
นายประกิต สิริวัฒนเกตุ นักกลยุทธ์การลงทุน กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการปรับตัวลดลงของดัชนีตลาดหุ้นไทยวานนี้ ส่วนหนึ่งเป็นการชดเชยช่วงวันหยุดที่ตลาดหุ้นเอเชียส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ประกอบกับมีแรงขายหุ้น EA, บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BYD และบริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX เข้ามาเป็นแรงกดดัน รวมถึงจากการประกาศผลการดำเนินงานของหุ้นกลุ่มแบงก์ที่ออกมาในปลายสัปดาห์ก่อน (19 ก.ค. 2667) ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง โดยเฉพาะธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP
“ต้องยอมรับว่าหุ้นกลุ่มแบงก์ที่เป็นแรงกดดันวานนี้ค่อนข้างคละเคล้ากันไป แต่ก็ไม่ใช่หุ้นแบงก์ทุกตัว ขณะเดียวกันตลาดหุ้นไทยก็ยังไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามาช่วยหนุน ปัจจัยทางการเมืองยังคงมีความไม่แน่นอน”
ส่วนหุ้นกลุ่มอื่น ๆ ก็ยังเป็นการปรับตัวลดลงอย่างไม่มีนัยสำคัญ แม้ว่าทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จะเริ่มใช้มาตรการ Uptick Rule เพื่อเข้ามาช่วยลดความร้อนแรงของการขายชอร์ต (Short Sell) และทำให้การขายชอร์ตเป็นไปได้ยากขึ้น แต่ก็ยังพอมีหนทางอยู่ เช่น การตั้งขายชอร์ตล่วงหน้า ทำให้พอถึงเวลาก็มีแรงขายออกมาในตลาดอยู่
บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ปัจจัยกดดันตลาดหุ้นไทยวานนี้ มาจาก 1.ความกังวลกำลังซื้อภายในอาจหดตัวลงต่อในช่วงที่เหลือของปี ตามภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว หลังสภาพัฒน์ฯ มอง NPL มีโอกาสเพิ่มขึ้น 18.1% เทียบกับปีก่อน โดยหากรวมหนี้ที่ยังไม่ปรับโครงสร้าง และสินเชื่อที่ไม่ปกติ NPL อาจแตะระดับ 21.8% ของสินเชื่อทั้งหมด ขณะที่หนี้ครัวเรือนไทยแตะระดับ 90% ของ GDP ซึ่งสูงกว่าระดับมาตรฐานสากลที่ 80% ของ GDP
2.ความกังวลภาพเศรษฐกิจจีนที่ยังไม่ฟื้นตัว หลังวานนี้หุ้นที่มีความเกี่ยวข้องกับจีนปรับตัวลง แม้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย LPR อายุ 1 ปี และ 5 ปี สู่ระดับ 3.35% และ 3.85% ตามลำดับ สะท้อนว่าจีนในปัจจุบันกำลังเผชิญปัญหาอยู่จริง ทั้งในภาคอสังหาฯ และการใช้จ่ายภายใน ด้านปัจจัยภายนอกยังมีแรงกดดันจากการพยายามสกัดกั้นการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีของจีนจากสหรัฐฯ ผ่านการจำกัดการส่งออกชิปที่ผลิตโดยใช้เทคโนโลยีของสหรัฐฯ
3.ความกังวลในประเด็นหุ้น EA หลัง EA ได้มีการแจ้งเลื่อนการไถ่ถอนตั๋วแลกเงินระยะสั้น 2 ชุด ที่ถึงกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 23 ก.ค. และ 1 ส.ค. ซึ่งจะชำระดอกเบี้ยเพิ่มเติม 7% ต่อปี จำนวน 600 ล้านบาท โดยแจ้งวันไถ่ถอนใหม่เป็นวันที่ 9 ส.ค. สร้างความกังวลให้ตลาดโดยรวม