โบรกชู BBL-KBANK ท็อปพิก! แม้ครึ่งปีหลังกลุ่ม “แบงก์” หนี้เสีย NPL พุ่ง

CGSI ชู BBL-KBANK ท็อปพิก! แม้ครึ่งปีหลังกลุ่มแบงก์เผชิญปัจจัยลบ NPL แนวโน้มสูงขึ้น เซ่นสินเชื่อที่อยู่อาศัย-สินเชื่อรถ


บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด หรือ CGSI ระบุในบทวิเคราะห์ถึงหุ้นกลุ่มธนาคารว่าผลประกอบการในไตรมาส 2/67 ของธนาคารไทยทั้ง 7 แห่ง ที่ได้ทำการศึกษา อาทิ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL, ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK, ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP, ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB, บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน)  หรือ SCB, บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO และ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB พบว่าสามารถทำกำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 5.35 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.70% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 2.50% จากไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่กำไรก่อนตั้งสำรองเติบโต เพิ่มขึ้น 1.40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเพิ่มขึ้น 1.40% จากไตรมาสก่อนหน้า

ทั้งนี้ BBL และ KTB ทำกำไรสุทธิได้สูงกว่าคาดการณ์ ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากกำไรเครื่องมือทางการเงินและ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ KKP ทำกำไรต่ำกว่าประมาณการ โดยเป็นผลจากมีอัตราการสำรองหนี้สูญสูงขึ้นและยอดสินเชื่อลดลง ส่วน SCB มีกำไรสุทธิต่ำกว่าคาดการณ์ จากค่าใช้จ่ายครั้งเดียวจากการยุติการให้บริการแอปพลิเคชั่น Robinhood

สำหรับกลุ่มธนาคารทั้ง 7 แห่ง มียอดสินเชื่อลดลง 0.10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและ ลดลง 0.70% จากไตรมาสก่อนหน้าในไตรมาส 2/67 และทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 66 ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่ธนาคารเพิ่มความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อส่วนบุคคลแบบไม่มีหลักประกัน ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตมีการชำระคืนตามฤดูกาลในไตรมาส 2

ทั้งนี้กลุ่มธนาคารมีอัตราส่วนหนี้เสีย (NPL) เพิ่มขึ้นเป็น 3.68% ในไตรมาส 2/67 จาก 3.61% ในไตรมาส 1/67 ซึ่งหากเปรียบเทียบแล้วพบว่า BBL, TISCO และ KKP มี NPL เพิ่มขึ้นมากสุด ขณะที่ SCB มีอัตราส่วน NPL เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าจากผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อลูกค้ารายย่อยทุกประเภท โดยมีเพียง KBANK ที่มี NPL ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการเคลียร์งบดุลมาอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามผู้บริหาร KBANK เผยว่าการดำเนินการเคลียร์งบดุลแล้วเสร็จภายในปีนี้ อีกทั้งกลุ่มธนาคารยังมีอัตราการสำรองหนี้สูญเพิ่มขึ้น 0.15% จากไตรมาสก่อนหน้า นำโดย KKP, BBL, SCB และ TISCO

ส่วนทางฝ่ายวิจัยมองว่า กลุ่มธนาคารไทยยังเผชิญกับปัจจัยลบจาก NPL ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ซึ่งจะมาจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย, สินเชื่อรถและสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกันเป็นหลัก ทั้งนี้มองว่า SCB น่าจะยังถูกกดดันจากประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3/67 จากการยุติให้บริการแอป Robinhood รวมถึงอัตราส่วน NPL ที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค

ขณะเดียวกันธนาคารที่เน้นสินเชื่อรถอย่าง TTB, TISCO และ KKP ต้องรับมือกับปัจจัยลบจากการชะลอตัวของสินเชื่อรถ, อาจขาดทุนสูงจากการขายรถยึดและรายได้ค่าธรรมเนียมที่อาจไม่เติบโตในช่วงครึ่งปีหลังจนถึงปี 68

อย่างไรก็ตามฝ่ายนักวิเคราะห์ยังคงมีมุมมองแนะนำ “ซื้อ” หุ้น BBL ราคาเป้าหมาย 183 บาท และ KBANK ราคาเป้าหมาย 178 บาท เนื่องจากมองเป็นหุ้น Top Pick และยังแนะนำให้คงน้ำหนักการลงทุน (Neutral) ในกลุ่มธนาคารไทยมองว่ากลุ่มนี้ยังขาดปัจจัยหนุนที่แข็งแกร่งและมีปัจจัยลบจาก NPL ของกลุ่มสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค ขณะที่กลุ่มธนาคารมีการประเมิน มูลค่าอยู่ที่ P/BV เพียง 0.57 เท่า ในปี 67 ต่ำกว่า -1SD ของค่าเฉลี่ยในอดีต 10 ปี สะท้อนว่า ROE อยู่ในระดับต่ำเพียง 8.7-8.8% ในปี 67-69

นอกจากนี้ กลุ่มธนาคารจะมี upside risk หากการบริโภคภาคเอกชนแข็งแกร่งขึ้น การส่งออกขยายตัวดีขึ้นและการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ส่วน downside risk จะมาจากคุณภาพสินทรัพย์ที่ลดลงและความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศไทย

Back to top button