“ชัชชาติ” ยันพร้อมจ่ายหนี้ “บีทีเอส” 1.1 หมื่นล้าน คาดใช้เวลา 140 วัน

“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” เตรียมประชุมแนวทางการใช้หนี้วันที่ 1 ส.ค.67 ยืนยันกทม.จ่ายหนี้ค่าจ้างเดินรถสายสีเขียวจำนวน 1.1 หมื่นล้านบาท ตามคำสั่งศาล ย้ำต้องรอบคอบ คาดใช้ระยะเวลา 140 วัน


ผู้สื่อข่าวรายงาน (31 ก.ค.67) ว่าที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงกรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาสั่งให้ กทม.จ่ายหนี้ค่าจ้างเดินรถสายสีเขียวกับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส จำนวนกว่า 11,755 ล้านบาท ว่า กทม.ต้องทำตามคำสั่งศาล ซึ่งในวันพรุ่งนี้ 1 สิงหาคม 2567 จะมีการประชุมแนวทางการใช้หนี้ เพราะในคำสั่งศาลมีรายละเอียดมากกว่าร้อยหน้า ทั้งนี้ การที่ศาลสั่งมาเป็นเรื่องดี ทำให้มีความชัดเจน ทำให้ กทม.รู้ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร

“ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนว่า เรื่องการไม่จ่ายเงินค่าจ้างเดินรถ ไม่ได้เริ่มในสมัยผู้บริหาร กทม.ชุดนี้ แต่เรื่องเกิดขึ้นมาตั้งแต่ผู้บริหาร กทม.ในอดีตแล้ว เมื่อผู้บริหารชุดนี้เข้ามา จะจ่ายเงินก็จ่ายไม่ได้ เพราะเรื่องอยู่ในขั้นตอนของศาล” นายชัชชาติกล่าว

โดยการจ่ายเงินนั้นมีขั้นตอนทางกฎหมาย เมื่อศาลสั่งมาแล้ว กทม.ก็เคารพ แต่เงินทุกบาทที่จะนำไปจ่ายต้องผ่านสภา กทม. ผู้บริหาร กทม.ไม่สามารถนำเงินสะสมจ่ายขาดไปจ่ายหนี้ได้เลยทันที ซึ่งขั้นตอนการดำเนินการของ กทม.ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 140 วัน แต่ กทม.จะรีบดำเนินการ เนื่องจากมีเรื่องดอกเบี้ยที่ต้องคำนึงถึง และเป็นตัวกดดันให้เร่งดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม กทม.จะมีการจ่ายหนี้ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ตามที่บีทีเอสเรียกร้องหรือไม่ นายชัชชาติกล่าวว่า ดำเนินการตามคำสั่งศาลคดีแรกก่อน ส่วนคดีที่ค้างอยู่ในศาล จะต้องหารือกันอีกครั้งว่าจะมีการจ่ายหนี้อย่างไร โดยจะต้องดำเนินทีละขั้นตอน และดูฐานะทางการเงินของ กทม.ประกอบด้วย ยืนยัน กทม. พยายามจะทำให้ดีที่สุด โดยที่ผ่านมา กทม.ได้มีการจ่ายหนี้ค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) จำนวน 2.3 หมื่นล้านบาท ไปแล้ว

“ค่อนข้างหนักใจ เพราะเรื่องนี้มีผลกระทบกับประชาชนเป็นอย่างมาก เป็นการใช้เงินจำนวนมหาศาลทำให้ส่งผลกระทบต่อโครงการอื่นๆอีกมากมาย ทั้งสาธารณสุข การศึกษา รวมถึงผลกระทบในระยะยาว เนื่องจากค่าจ้างของส่วนต่อขยายที่ 1 และที่ 2 ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 8 พันล้านบาท แต่ทำรายรายได้ปีละประมาณ 2 พันล้านบาท จึงต้องหาเงินส่วนต่างถึง 6 พันล้านมาจ่ายสัญญาที่ทำไว้ในอนาคต จึงถือเป็นเรื่องที่หนักสำหรับ กทม. เนื่องจาก กทม.ได้รับงบประมาณเพียงปีละ 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งการปรับขึ้นค่าโดยสาร ก็ไม่สามารถที่จะผลักภาระไปให้ประชาชนได้ ดังนั้น จึงต้องพิจารณาให้ละเอียดครั้ง” นายชัชชาติ กล่าว

Back to top button