พาราสาวะถีอรชุน

ยังคงตอกย้ำซ้ำเติมประเด็นที่ว่าด้วยท่วงทำนองของเหล่านักวิชาการ สำหรับนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กล่าวผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า “นักวิชาการระดับบนขึ้นมา อย่าสอนให้มีความขัดแย้งอย่างเดียว ความรู้ไม่ค่อยได้ สอนประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนอยู่ 2-3 อย่างเท่านั้น กฎหมายไม่สนใจ สอนอย่างนี้ไม่ได้อันตราย”


ยังคงตอกย้ำซ้ำเติมประเด็นที่ว่าด้วยท่วงทำนองของเหล่านักวิชาการ สำหรับนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กล่าวผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า “นักวิชาการระดับบนขึ้นมา อย่าสอนให้มีความขัดแย้งอย่างเดียว ความรู้ไม่ค่อยได้ สอนประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนอยู่ 2-3 อย่างเท่านั้น กฎหมายไม่สนใจ สอนอย่างนี้ไม่ได้อันตราย”

แน่นอนว่าเดี๋ยวก็ต้องมีนักวิชาการออกมาตอบโต้ แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว  สมาชิกกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา ก็ได้ช่วยสะกิดท่านผู้นำมาแล้วว่า คนอย่างบิ๊กตู่เรียนแต่โรงเรียนทหาร คงไม่ทราบว่าอาจารย์สอนทุกเรื่อง ทุกวิชา แต่อยู่ที่แต่ละคนเองว่าจะตกผลึกความคิดเป็นอย่างไร ถ้าพูดให้ตรงก็คือ โลกของสถาบันอุดมศึกษานั้นเปิดกว้างทั้งในการสอน การเรียนรู้และการเลือกรับในสิ่งที่แต่ละคนสนใจ

คงไม่มีมหาวิทยาลัยใดในโลกนี้ที่จะมุ่งสอนแต่เรื่องสองสิ่ง อย่างที่ท่านผู้นำว่า และความเป็นจริงแล้วในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยไม่จำเป็นจะต้องสอนด้วยทั้งเรื่องของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ที่ถือว่าเป็นเรื่องขั้นพื้นฐานของประชาชนอยู่แล้ว ไม่จำเป็นว่าต้องมีการศึกษาหรือไม่ จะมีก็แต่เพียงบางประเทศเท่านั้นที่รู้สึกไม่ดีกับการที่คนในชาติมีประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนมากเกินไป

เช่นเดียวกับกรณีที่ท่านผู้นำย้ำนักย้ำหนาเรื่องการเคารพกฎหมาย ซึ่งจ่านิวก็ตั้งคำถามอย่างน่าสนใจว่า คิดว่าประเทศไทยกำลังมีปัญหา เพราะว่ามีการปล่อยให้คนที่ทำผิดกฎหมายล้มรัฐธรรมนูญ มาชี้หน้าว่าคนอื่นทำผิดกฎหมายที่ตัวเองเป็นคนเขียนขึ้นมาเองไม่ใช่กฎหมายของรัฐ ตรงนี้น่าจะเป็นความคิดของเด็กที่ผู้ใหญ่ทั้งหลายต้องหันมาพิจารณา โดยเฉพาะผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาที่ไปรับใช้ใกล้ชิดกับอำนาจคณะรัฐประหาร

จะว่าไปแล้วปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาสิ่งที่ทำให้ท่านผู้นำหงุดหงิดและระเบิดอารมณ์ใส่นักข่าว ทั้งที่เคยประกาศว่าจะปฏิรูปตัวเองทำใจให้เย็นลง เป็นเหตุมาจากการถูกไล่บี้ถามเรื่องการจับกุม 5 นักศึกษาที่ถูกออกหมายจับและถูกจับกุมจากการเดินทางไปอุทยานราชภักดิ์ โดยที่บิ๊กตู่มองว่าคนทำผิดกฎหมาย จะทำอะไรก็ได้ แค่นี้ก็น่าจะเป็นตรรกะทางด้านกฎหมายที่ไม่ถูกต้องแล้ว

ด้วยท่าทีเช่นนี้ของผู้นำรัฐบาลไทยตลอดจนวิธีการปฏิบัติของหน่วยงานด้านความมั่นคงนี่เอง ที่ทำให้มีองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 2 องค์กรต้องแสดงปฏิกิริยาต่อต้าน องค์กรแรกคือ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ OHCHRเรียกร้องรัฐบาลคสช. ยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมดต่อนักกิจกรรม 11 คน ที่ถูกจับกุมข้อหาละเมิดคำสั่งคสช.

พร้อมแสดงความกังวลกรณีทหารใช้ถุงคลุมศีรษะจ่านิว มีการตบและเตะในช่วงถูกควบคุมตัว โดยขอให้รัฐบาลสอบสวนการกระทำดังกล่าว พร้อมทั้งระบุว่า สิทธิที่จะชุมนุมโดยสงบและสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพด้านความเห็น เป็นสิทธิพื้นฐานและไม่ควรถือเป็นความผิดอาญาร้ายแรง ก่อนที่จะย้ำต่อว่า เรากระตุ้นให้ทางการยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมดต่อนักศึกษาเหล่านี้

นอกจากนี้ OHCHR ยังแสดงความกังวลกับการใช้คำสั่งคสช.แทนที่จะใช้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ 2558 อันเป็นเหตุให้คดีเหล่านี้ต้องเข้ารับการไต่สวนในศาลทหาร เสี่ยงที่จะเกิดการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรมและเป็นเหตุให้จำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์คดี ไม่แน่ใจว่าด้วยเหตุนี้หรือเปล่าที่ทำให้ 5 นักศึกษาที่ถูกจับกุมจึงได้รับการปล่อยตัวแบบไม่มีเงื่อนไข

ขณะที่สำนักงานเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ออกปฏิบัติการด่วนเรียกร้องสมาชิกทั่วโลกส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย เรียกร้องทางการยกเลิกข้อกล่าวหาต่อนักกิจกรรมทั้งหมด ในข้อหามั่วสุมหรือชุมนุมอย่างผิดกฎหมาย

หลังจากที่พวกเขาทำกิจกรรมอย่างสงบเพื่อเรียกร้องให้เกิดการสอบสวนตามข้อกล่าวหาว่ามีการทุจริตของเจ้าหน้าที่ ให้ดำเนินการสอบสวนกรณีการลักพาตัวและการปฏิบัติอย่างโหดร้ายต่อจ่านิว ให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และไม่ลงโทษผู้ที่ใช้สิทธิดังกล่าวอย่างชอบธรรม รวมถึงการกดไลค์หรือการแชร์ข้อมูลออนไลน์ซึ่งการรณรงค์ดังกล่าวจะมีไปถึงวันที่ 4 มีนาคมนี้

เสียงประสานจากภายนอกสอดรับกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มกิจกรรมในประเทศนั้น ถือเป็นความท้าทายของท่านผู้นำที่ย้ำระยะเวลาตามโรดแมปที่เหลือปีครึ่งอยู่ตลอดเวลาในช่วงนี้ มีการใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์มากเกินกว่าเหตุหรือเปล่า โดยไม่สนใจเรื่องสิทธิเสรีภาพ แต่ที่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยคงเป็นการใช้เพื่อปิดกั้นไม่ให้มีการตรวจสอบการทุจริต ซึ่งมีแต่ทำให้กองทัพและรัฐบาลเสื่อมเสีย

นี่คือปัญหาชีวิตของผู้มีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แม้จะยืนกระต่ายขาเดียวในความเด็ดขาด แต่คงยากที่จะปฏิเสธแรงกดดันจากภายนอก ถ้าไม่อยากสังฆกรรมกับนานาประเทศท่านผู้นำก็คงไม่ย้ำแล้วย้ำอีกว่า มีแต่ต่างชาติที่แห่แหนมาพบ เหมือนต้องการโชว์ว่า ถึงจะเป็นรัฐบาลทหารแต่หัวบันไดก็ไม่แห้ง ดังนั้น ต้องไม่เลือกที่จะรับแต่ความชอบ สิ่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตยไม่เป็นสากลก็ต้องปรับเปลี่ยนด้วย

ด้านร่างรัฐธรรมนูญที่จะคลอดร่างแรกกันสุดสัปดาห์นี้ เห็นโฉมหน้าที่ปรากฏผ่านการแถลงของทีมโฆษกรายวันแล้ว คงเหมือนอย่างที่ อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกเพื่อไทยว่าไว้ ด้อยกว่าพม่าหนักกว่าฉบับบวรศักดิ์ อุวรรณโณ    โดยโจทย์เช่นนี้จึงมีคำถามตามมาว่า แล้วจะมีโอกาสผ่านประชามติอย่างนั้นหรือ

สองพรรคการเมืองใหญ่ เพื่อไทยชัดเจนว่ารณรงค์คว่ำแน่ ขณะที่ประชาธิปัตย์ก็ตามสูตรแทงกั๊กเผื่อฟลุกไว้ก่อน ซึ่งคงไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง น่าสนใจคงเป็นพรรคนายใหญ่ปากบอกว่าต่อต้าน แต่จะมีคนจำนวนไม่น้อยหักด่านมะขามเตี้ยไปเคลื่อนไหวเพื่อให้ผ่านๆ กันไปก่อน โดยหวังจะได้เลือกตั้งกันโดยเร็ว ประเด็นนี้นี่แหละที่ฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยในพรรค ส่งสัญญาณไปถึงคนแดนไกลจะตีไพ่โง่เหมือนหลายๆ หนที่ผ่านมาหรือไม่ หลังได้เห็นร่างแรกกันแล้วน่าจะเห็นท่าทีของแต่ละพรรคชัดเจนขึ้น

Back to top button