ย้ายราคาหน้าโรงกลั่นมากรุงเทพฯ
เป็นอันว่า พรรคการเมืองที่มีสส.มากที่สุดในประเทศไทย ต้องถูกยุบโดยง่ายดายด้วยมติเสียงข้างมาก 9:0 ของศาลรัฐธรรมนูญ
เป็นอันว่า พรรคการเมืองที่มีสส.มากที่สุดในประเทศไทย ต้องถูกยุบโดยง่ายดายด้วยมติเสียงข้างมาก 9:0 ของศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมกับตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 10 ปี
ในสายตาต่างประเทศ ดูเป็นเรื่องรุนแรง เพราะอยู่ ๆ พรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากที่สุด ต้องหลุดหายไปทั้งพรรค แต่ปฏิกิริยาในสังคมไทย ดูจะไม่ตกใจอะไรมากนัก ตลาดหุ้นก็ไม่ได้มีแพนิกอะไร
แต่ก็น่าเสียดายอย่างหนึ่งว่า พรรคฝ่ายค้านคุณภาพพรรคหนึ่ง หายไป แกนนำต้องโดนปลิดชีพทางการเมือง รัฐบาลไม่ได้ถูกตรวจสอบจากฝ่ายค้านคุณภาพ ระบบการเมืองเดินหน้าแบบไทย ๆ กันต่อไป
หรือที่เรียกว่า Ultra Conservative Guided Democracy แปลได้ว่าระบอบประชาธิปไตยแบบอนุรักษ์วิถีเข้มข้น
มาดูการบริหารราชการแผ่นดินในปัจจุบัน ผมว่านอกจากเรื่อง “ดิจิทัลวอลเล็ต” แล้ว นโยบาย “รื้อ–ลด–ปลด–สร้าง” ของรมว.พลังงาน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ก็คงเป็นเรื่องหนึ่งที่ผู้คนให้ความสนใจ
กล่าวโดยรวมของนโยบายดังกล่าวแล้วก็คือ การหาทางปรับลดและรื้อระบบกฎเกณฑ์เก่า เพื่อการลดราคาหรือตรึงราคาพลังงาน ซึ่งที่ผ่านมา 1 ปีกว่า ก็มีบทพิสูจน์แล้วว่าได้ผลในระดับหนึ่ง
แต่จะเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืน หรือแก้ปัญหาหนึ่งแต่ก่อปัญหาใหม่หรือไม่ คงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่ต้องดูกันโดยรอบด้าน
กรณีแก้ปัญหาราคาค่าไฟฟ้า ซึ่งในงวดต่อไป (ก.ย.-ธ.ค.) รัฐก็จะใช้แนวทางเดิมในการตรึงราคา 4.18 บาท/หน่วยอีกคือ ให้เป็นภาระแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นร่วมกันระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ กับปตท.
นั่นหมายความว่า ให้กฟผ.ต๊ะค่าเชื้อเพลิง LNG ที่ปตท.เป็นผู้ขายให้ไว้ก่อน ซึ่งหนี้ค้างจ่ายปตท.ของกฟผ.มาตั้งแต่สมัยรัฐบาลก่อน สะสมกันมาขณะนี้เป็น 1.1 แสนล้านบาทแล้ว
ปตท.ก็ต้องขาย LNG โดยไม่รับค่าสินค้าไปจนกว่ากฟผ.จะมีเงินมาชำระ ซึ่งดูไปแล้วจะกลายเป็น “ดินพอกหางหมู” ไปทุกที เพราะแนวโน้มราคาก๊าซ ยังไม่มีวี่แววจะลดราคาลงมาแต่อย่างใด
หนี้สินกฟผ.ยิ่งจะพอกหนาขึ้น และปตท.ก็จะกลายเป็นพ่อค้าใจบุญที่ขายของโดยไม่รับชำระราคาอย่างไม่มีกำหนด
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานก็ใช้วิธีเรียกค่าปรับชอร์ตฟอลจากปตท.เป็นจำนวน 4,300 ล้านบาท เพื่อนำเงินมาอุดหนุนราคาค่าไฟฟ้า ซึ่งปตท.กำลังยื่นอุทธรณ์อยู่ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม
แนวทางแก้ปัญหา โดยโยนภาระไปให้หน่วยงานอื่นของรัฐ หรือแก้ปัญหาหนึ่งแต่ก่อปัญหาใหม่คงจะไม่ใช่แนวทางรื้อ–ลด–ปลด–สร้างที่จิรังยั่งยืนแต่ประการใด
ส่วนกรณีตรึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงรวมทั้งราคาแก๊สหุงต้มโดยใช้กองทุนน้ำมันอุดหนุนนั้น ผมว่าโครงสร้างราคาน้ำมันอันประกอบไปด้วย ราคาเนื้อน้ำมัน (หน้าโรงกลั่น)++ภาษีและเงินกองทุนต่าง ๆ ในปัจจุบัน คงจะทำอะไรให้ลดราคาหรือตรึงราคาไปมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว
แม้ว่ารมต.พีระพันธุ์จะมีแนวคิดว่า “ทีมาม่าจะขึ้นราคายังต้องขออนุมัติจากรัฐ แต่น้ำมันขึ้นราคาไม่เห็นมาขออนุมัติ” ฟังดูดีจริง แต่ยังไม่เห็นแนวทางปฏิบัติจะแก้ไขอะไรได้ ยิ่งคิดจะเอาการกำหนดราคามาไว้ที่กระทรวงพลังงาน ให้คลังเป็นแค่ผู้จัดเก็บรายได้ หรือเปลี่ยนมานำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป ก็ดูจะเข้ารกเข้าพง!
รมต.พีระพันธุ์เองก็เคยยอมรับว่า โครงสร้างราคาจำหน่ายปลีกที่มีราคาเนื้อน้ำมันปาเข้าไป 35% (กรณีดีเซล) และ 45% สำหรับเบนซิน คงจะไปปรับลดอะไรไม่ได้อีกแล้ว
ยิ่งนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรโดยเอา B100 และ E100 ซึ่งมีราคาแพงกว่าเนื้อน้ำมันไปผสมเป็น B7, E10 คงไม่ใช่เรื่องจะกระทำได้ง่ายดายนัก
แต่ผมว่า เรื่องนี้น่าจะมีทางออกในการเปลี่ยนระบบอ้างอิงราคา ณ หน้าโรงกลั่นสิงคโปร์มาเป็นราคา ณ หน้าโรงกลั่นกรุงเทพฯ เสีย เนื่องจากราคาอ้างอิงสิงคโปร์ปัจจุบันเป็น “ราคาทิพย์” ที่มีการบวกค่าขนส่ง+ประกัน+ค่าสูญเสีย
การเปลี่ยนมาอ้างอิงราคาหน้าโรงกลั่นกรุงเทพฯ จะได้รู้ต้นทุนแท้จริงมากกว่า และน่าจะมีราคาต่ำกว่าราคาอ้างอิงสิงคโปร์แน่นอน อย่างน้อยก็บาท–สองบาท
ผมว่า การให้เหตุผลที่ใช้ราคาอ้างอิงสิงคโปร์ จะได้เป็น “ออยล์ ฮับ” ในภูมิภาค เป็นเรื่องเท่แต่กินไม่ได้ และอ้างจะได้ไม่มีราคาลักลั่นให้มีการลักลอบ ก็เป็นเรื่องของการปราบปรามจับกุม มันคนละเรื่องไปแล้ว
ชาญชัย สงวนวงศ์