‘ยุโรป’ เผชิญวิกฤติพลังงาน.!

สัปดาห์ที่ผ่านมา “ราคาสัญญาซื้อขายก๊าซล่วงหน้า” แทบไม่แสดงความเปลี่ยนแปลงใด ๆ แต่ยังอยู่ที่ระดับสูงกว่า 38 ยูโรต่อหนึ่งเมกะวัตต์ชั่วโมง


สัปดาห์ที่ผ่านมา “ราคาสัญญาซื้อขายก๊าซล่วงหน้า” แทบไม่แสดงความเปลี่ยนแปลงใด ๆ แต่ยังอยู่ที่ระดับสูงกว่า 38 ยูโรต่อหนึ่งเมกะวัตต์ชั่วโมง ขณะที่ “รัสเซีย” ประกาศภาวะฉุกเฉิน เขตเมือง Kursk ที่มีพื้นที่ติดกับชายแดนของยูเครน ท่ามกลางสถานการณ์สงครามที่ยังดำเนินต่อไป หลังจาก “ยูเครน” บุกเข้าไปพื้นที่ดังกล่าว ถือเป็นที่ตั้งของจุดรับก๊าซที่สำคัญ..!!

ปัจจุบัน “ตลาดก๊าซยุโรป” ค่อนข้างผันผวน เนื่องจากอากาศร้อนบางส่วนของภูมิภาคเอเชียและยุโรป ส่งผลให้มีความต้องการก๊าซธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเพิ่มความเข้มข้นของการแข่งขันขนส่งสินค้า โดยสัญญาซื้อขายก๊าซล่วงหน้า มีราคาเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 40% นับตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา

แม้ว่าข้อตกลงของการขนส่งก๊าซจากรัสเซียผ่านยูเครน จะสิ้นสุดลงช่วงปลายปีนี้ แต่การขนส่งก๊าซที่หยุดชะงักอย่างกะทันหัน ยังคงสร้างความตื่นตระหนกให้หลายฝ่าย เนื่องจากประเทศต่าง ๆ ในยุโรปกลาง ยังต้องพึ่งพาซัพพลายดังกล่าว

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติล่วงหน้ารายเดือนของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานของราคาก๊าซในยุโรป ปรับขึ้นแตะระดับ 38.65 ยูโรต่อหนึ่งเมกะวัตต์ชั่วโมง

ขณะเดียวกันการไฟฟ้าแห่งประเทศฝรั่งเศส (Electricite de France SA) หรือ EDF ระบุว่า หน่วยงานอาจลดการผลิตพลังงานจากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เนื่องจากสภาพอากาศร้อน นั่นส่งผลให้ปริมาณน้ำที่สามารถปล่อยลงในแม่น้ำ Rhone มีจำกัด

ทั้งนี้ EDF ใช้น้ำเพื่อระบายความร้อนของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์และปล่อยกลับคืนสู่แม่น้ำ โดยหากน้ำในแม่น้ำร้อนเกินไป อาจเป็นอันตรายต่อปลาและสัตว์ป่าอื่น ๆ ได้ ขณะที่อีกไม่กี่วันข้างหน้า อุณหภูมิในเขตยุโรปตะวันตกส่วนใหญ่อาจเพิ่มสูงขึ้นอีกจากเดิมที่สูงอยู่แล้ว

สำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 56 แห่งของฝรั่งเศส มีกำลังผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 2 ใน 3 ของปริมาณพลังงานในประเทศ และถือเป็นเสาหลักของตลาดพลังงานไฟฟ้าในยุโรป โดยแม้ว่าการลดกำลังการผลิตไฟฟ้า อาจไม่ใช่ปัญหา ที่ส่งผลต่ออุปทานพลังงาน แต่อาจทำให้ราคาไฟฟ้าเพิ่มขึ้นช่วงสั้น ๆ

ล่าสุด “ราคาไฟฟ้า” สำหรับการส่งมอบในประเทศฝรั่งเศส อยู่ที่ระดับ 31.01 ยูโรต่อหนึ่งเมกะวัตต์ชั่วโมง เทียบกับระดับ 93.15 ยูโรในพื้นที่ชายแดนประเทศเยอรมนี บนตลาดซื้อขาย Epex Spot SE

ก่อนโอลิมปิก 2024 จะเริ่มต้นขึ้น รัฐบาลฝรั่งเศสได้จัดสร้างหมู่บ้านนักกีฬาที่สามารถอยู่อาศัยหรือใช้เป็นพื้นที่ทำงานได้ต่อไป หลังจบการแข่งขัน โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการทำให้โอลิมปิกปารีส 2024 เป็น “อีเวนต์การแข่งขันที่มีความรับผิดชอบและยั่งยืนสุดในประวัติศาสตร์”

หนึ่งในนวัตกรรมที่ได้รับการจับตามองมากสุด นั่นคือระบบระบายความร้อนด้วยพลังงานความร้อนใต้พิภพที่ช่วยลดความจำเป็นของการใช้เครื่องปรับอากาศ และส่งเสริมให้การแข่งขันเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

แต่ทว่า..ฝรั่งเศส กับต้องเผชิญกับคลื่นความร้อน ที่ทำให้อุณหภูมิในปารีสสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส ส่งผลให้เกิดความต้องการเครื่องปรับอากาศ และขัดแย้งกับจุดมุ่งหมายของการจัดทำระบบระบายความร้อนในหมู่บ้านนักกีฬาดังกล่าว

ด้วยความ “ไม่แน่นอนทางธรรมชาติ” และเหตุการณ์ความตึงเครียดของสงคราม..ทำให้ยุโรปต้องเผชิญวิกฤติพลังงานกันต่อไป..!??

Back to top button