นโยบายข้าวที่ผิดตั้งแต่กลัดกระดุมเม็ดแรก

พูดถึงนโยบายข้าวแล้วก็ขอพูดให้จบกันไปเลยว่านโยบายข้าวของประเทศไทยนั้นย้อนแย้งกันเองอย่างมาก เริ่มตั้งแต่การผลิตข้าวเลย


พูดถึงนโยบายข้าวแล้วก็ขอพูดให้จบกันไปเลยว่านโยบายข้าวของประเทศไทยนั้นย้อนแย้งกันเองอย่างมาก

เริ่มตั้งแต่การผลิตข้าวเลย เพราะชาวนาไทยนั้นปลูกข้าวไม่ได้มีประสิทธิภาพเหนือกว่าชาวนาประเทศอื่น ๆ ในแง่ผลผลิตต่อไร่ เพียงแต่ผลผลิตรวมของชาวนาไทยในแต่ละปีนั้นเกินกว่าความต้องการบริโภคในประเทศอย่างมากต้องระบายออกไปต่างประเทศปีละประมาณ 10 ล้านตันข้าวสาร

ซึ่งประเทศที่นำเข้าข้าวจากไทยนั้นมักจะเป็นประเทศที่ยากจนในทวีปต่าง ๆ  จะมีก็เพียงบางชาติที่ร่ำรวยเท่านั้นที่นำเข้าข้าวชั้นดีอย่างข้าวหอมมะลิจากไทยไปบริโภค เช่น สิงคโปร์หรือฮ่องกง แต่ก็จำนวนจำกัดเพียงปีละไม่กี่แสนตัน

ที่เหลือข้าวจากไทยจะถูกส่งไปขายในประเทศที่มีปัญหาการเงิน เช่นอิหร่านที่บริโภคข้าว 100% ชั้นสอง ซึ่งเป็นข้าวคุณภาพส่งออกที่ดีสุดของไทย แต่ก็มีเงื่อนไขการชำระเงินที่เรียกกันว่าอิเรเนียนเทอม คือกินก่อนจ่ายทีหลัง โดยกินข้าวไทยไปแล้ว 6 เดือนค่อยชำระเงิน

หรือที่หนักกว่านั้นคือเกาหลีเหนือที่มีเงื่อนไขกินก่อนแล้วชำระเงินภายใน 3 ปี

ส่วนตลาดข้าวทั่วไปนั้นจะมีการซื้อขายผ่านเทรดเดอร์รายใหญ่ของโลกที่มีชื่อเสียงรู้จักกันดีคือบริษัท รีส์ดองเรส์ของฝรั่งเศส ซึ่งอาศัยสายสัมพันธ์ที่มีกับผู้นำเข้าในประเทศยากจนในแอฟริกาทำการรับคำสั่งซื้อขนาดใหญ่มาไว้ในกำมือตั้งแต่เริ่มต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว  แล้วก็กระจาย ออเดอร์มาให้กับผู้ส่งออกจากทั่วโลก

ผู้ส่งออกข้าวของไทยนั้นจะทำหน้าที่รวบรวมข้าวในประเทศไปส่งออกตามออเดอร์

คุณสมบัติเด่นของผู้ส่งออกข้าวไทย (ซึ่งมีข้อบังคับจากกระทรวงพาณิชย์ว่าต้องเป็นสมาชิกของสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศเท่านั้น) คือความสามารถในการทำ “เปาเกา” ที่หมายถึงการผสมข้าวให้ได้คุณภาพทุกชนิดของข้าวตามที่ลูกค้าต้องการ เช่น ข้าวขาว 5%  10% หรือ 20% หรือ 35% หรือข้าวนึ่ง 100% ก็สามารถสนองตอบความต้องการของลูกค้าได้ทั้งหมด

พลังในความสามารถเปาเกาของผู้ส่งออกไทยนี้ทำให้ข้าวไทยเป็นที่นิยมในตลาดทั่วโลก แต่เนื่องจากข้าวนั้นเป็นสินค้าที่ทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “สินค้าด้อยค่า” คือคนที่ยิ่งจนมากเท่าใดจะบริโภคข้าวมากเท่านั้น แต่เมื่อมีฐานะดีขึ้นคนจะบริโภคข้าวน้อยลง ทำให้ตลาดข้าวของโลกถูกจำกัดให้ต้องแข่งขันด้านราคากันรุนแรง

ราคาข้าวส่งออกจึงมีราคานับตั้งแต่ 8,000 บาทต่อตันลงมาสำหรับข้าวคุณภาพสูงสุด แล้วข้าวที่ขายดีมากที่สุดได้แก่ปลายข้าวซึ่งเป็นข้าวคุณภาพต่ำสุดในตลาดราคาไม่เคยสูงกว่าตันละ 5,000 บาท

ราคาข้าวส่งออกที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตของชาวนาไทยที่มีต้นทุนอยู่ประมาณตันละ 10,000 บาทขึ้นไป ซึ่งเป็นราคาที่ไม่สมเหตุผล เพราะเท่ากับว่ายิ่งส่งข้าวออกมากเท่าใดก็ยิ่งขาดทุนมากเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไทยเป็นผู้แบกรับการขาดทุนนี้โดยอ้างนโยบายพยุงราคาข้าวในทุกรัฐบาล (ยกเว้นรัฐบาลประยุทธ์ที่ปล่อยให้ชาวนาขายข้าวขาดทุนโดยไม่สนใจใยดี แต่ก็ยังอวดอ้างว่าไทยเป็นแชมป์ส่งออกข้าว)

ภาพอันบิดเบี้ยวของนโยบายส่งออกข้าวไทยนั้นยังคงปิดบังข้อเท็จจริงที่ว่า ข้าวไทยไม่มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกเนื่องจากรัฐบาลไทยยังคงห้ามการนำเข้าข้าวเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นการกีดกันทางการค้าที่สำคัญอย่างผิดวิสัยผู้ส่งออกข้าว

ด้วยเหตุนี้จึงเห็นได้ว่าการสร้างภาพให้ไทยเป็นแชมป์ส่งออกข้าวของโลกจึงไม่ใช่หนทางของความรุ่งเรืองของชาวนาไทย เนื่องจากเงินที่รัฐบาลทุ่มไปผ่านหลายช่องทาง เช่น นับตั้งแต่การเปิด LC (Letter of Credit) ของแบงก์ชาติให้ผู้ส่งออกที่รับออเดอร์ข้าวล่วงหน้าในราคา short sell แล้วมากดราคารับซื้อข้าวในประเทศลงนั้นทำให้ชาวนาไม่ได้รับผลประโยชน์อะไรเลย นี่ถือได้ว่าเป็นการกลัดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก

วิษณุ โชลิตกุล

Back to top button