CFARM บวกแรง 4% ลุ้นงบครึ่งปีหลังฟื้น รับราคาขายไก่เพิ่ม-ต้นทุนลด พ่วงแผนขยายธุรกิจใหม่

CFARM วิ่ง 4% ส่งซิกผลงานไตรมาส 3-4 สดใส หลังส่งมอบไก่ให้คู่สัญญา น้ำหนักไก่เพิ่มขึ้น ต้นทุนอาหารลดลง และราคาขายสูงขึ้น พร้อมแย้มศึกษาขยายธุรกิจปศุสัตว์ทางเลือกใหม่ที่ไม่ใช่สัตว์ปีก ส่วนปีหน้าคาดโตกระโดด รับขยายธุรกิจฟาร์มไก่ 17 ล้านตัว และมีรายได้ธุรกิจใหม่เสริม


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ส.ค.67) ราคาหุ้น บริษัท ชูวิทย์ฟาร์ม (2019) จำกัด (มหาชน) หรือ CFARM ณ เวลา 10:27 น. อยู่ที่ระดับ 1.40 บาท บวก 0.06 บาท หรือ 4.48% สูงสุดที่ระดับ 1.40 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 1.36 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 15.32 ล้านบาท

นางสาวมธุชา จึงธนสมบูรณ์ รองกรรมการผู้จัดการสายงานการจัดการ CFARM เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/67 จะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งมอบไก่ให้กับคู่สัญญาหลัก ทั้งเบทาโกร ซันฟู้ด และแหลมทอง ยังเป็นไปตามมาตรฐาน และมีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น ทั้งขั้นตอนการเลี้ยง ต้นทุน และค่าใช้จ่ายทุกภาคส่วน

โดยในไตรมาส 3/67 บริษัทสามารถสร้างการเติบโตได้ แม้มีฐานการผลิตเท่าเดิม เนื่องจากมีอัตราการเลี้ยงรอดที่ดีกว่าเกณฑ์ 96% และน้ำหนักดีกว่าที่ 2.80-3 กิโลกรัม (ตลาดเฉลี่ย 2.70-2.80 กิโลกรัม) บวกกับไก่ผิดมาตรฐานน้อย ทำให้ไม่มีค่าปรับ และอัตราการกินของไก่น้อยลง สวนทางน้ำหนักตัวไก่ ทำให้ต้นทุนอาหารดีขึ้นด้วย  และราคาขายที่สูงกว่าครึ่งปีแรก

นอกจากนี้ ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาหาโอกาส และพิจารณาการลงทุนในธุรกิจใหม่ หรือธุรกิจปศุสัตว์ทางเลือกใหม่ (ไม่ใช่สัตว์ปีก) เบื้องต้นกำลังเจรจากับพันธมิตรระดับต้นๆ ของประเทศไทย ทั้งในเรื่องรายละเอียดและข้อสรุปต่างๆ คาดว่าจะประกาศได้ภายในไตรมาส 4/67

ส่วนแนวโน้มในช่วงไตรมาส 4/67 มองว่ายังคงดำเนินธุรกิจได้ดีตามแผนที่วางไว้ ดังนั้นภาพรวมผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังของปี 67 น่าจะดีกว่าช่วงครึ่งปีแรกที่มีรายได้รวม 110.88 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 3.17 ล้านบาท เนื่องจากผลการดำเนินงานโดยรวมดีขึ้น และปกติแล้วรอบการเลี้ยงมากกว่า (5 รอบต่อปี หรือ 40-45 วันขาย) ภายใต้ปริมาณการผลิต 15 ล้านตัวต่อปีใน 121 โรงเรือน

ขณะที่เป้าหมายปี 67 บริษัทยังคงเป้าหมายจะมีรายได้รวมใกล้เคียง หรืออาจเติบโตมากกว่าปี 66 ที่มีรายได้รวม 240.99 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนเป็นรายได้จากการขาย 90% และรายได้จากการขายมูลไก่ 10% ซึ่งเป็นไปตามการบริโภคมากขึ้น และภาคส่งออกไก่ของไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งปัจจุบันกำลังขยับขึ้นเป็นอันดับ 3 ของโลก และความสามารถในการทำกำไรจะยืนสูงในระดับ 8 หลัก เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่มีกำไรสุทธิ 30.49 ล้านบาท หลังบริหารต้นทุนโดยรวมได้ดี

สำหรับความคืบหน้าของการขยายฟาร์มไก่ หรือโรงเลี้ยงไก่ ยังอยู่ระหว่างการเจรจารับโควตาจากคู่สัญญา ทั้งรายเดิมและรายใหม่ คาดว่าจะสามารถสรุปและเริ่มดำเนินการก่อสร้างในช่วงไตรมาส 1/68 ซึ่งจะทำให้ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นเกือบ 2 ล้านตัว หรือเป็น 17 ล้านตัวต่อปี จากปี 2567 อยู่ที่ 15 ล้านตัวต่อปี

ส่วนผลการดำเนินงานทั้งปี 68 บริษัทมั่นใจว่ารายได้รวมจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งจากการเติบโตของธุรกิจฟาร์มไก่ที่มีการขยายปริมาณการผลิตขึ้น และธุรกิจปศุสัตว์ทางเลือกใหม่ที่จะสร้างรายได้เข้ามาเสริมพอสมควร ที่สำคัญยังคงมุ่งเน้นในเรื่องความยั่งยืน (ESG) และการสนับสนุนสังคม (CSR)

Back to top button