พาราสาวะถีอรชุน
ไม่ใช่เรื่องที่จะนำมาล้อเล่นหรือถ้าเป็นการประชด ก็ต้องถามว่าสมควรที่จะประชดเช่นนั้นหรือไม่ กับกรณีที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.บอกว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะนำเอารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มาใช้แทน ร้อนถึง วิษณุ เครืองาม เนติบริกรประจำรัฐบาลต้องออกมาแก้ต่างให้เป็นพัลวัน พร้อมอธิบายทางออกเป็นคุ้งเป็นแคว
ไม่ใช่เรื่องที่จะนำมาล้อเล่นหรือถ้าเป็นการประชด ก็ต้องถามว่าสมควรที่จะประชดเช่นนั้นหรือไม่ กับกรณีที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.บอกว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะนำเอารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มาใช้แทน ร้อนถึง วิษณุ เครืองาม เนติบริกรประจำรัฐบาลต้องออกมาแก้ต่างให้เป็นพัลวัน พร้อมอธิบายทางออกเป็นคุ้งเป็นแคว
โดยวิษณุยืนยันว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่สามารถนำมาใช้ได้ เพราะบทบัญญัติทั้งหมดเขียนเอาไว้ชั่วคราว ไม่มีเรื่องเลือกตั้ง ไม่มีเรื่องแถลงนโยบายและอีกหลายๆ เรื่อง หากจะบอกว่าถ้าไม่มีก็เติมเข้าไป ซึ่งตอนเติมเข้าไป 100 กว่ามาตราบวกกับของเดิมอีก 40 กว่ามาตราก็เกือบเท่า 261 มาตรา ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยแล้วซึ่งก็คือการทำใหม่
หรือแม้แต่จะเอารัฐธรรมนูญปี 2540 มาเป็นตัวตั้ง ก็ไม่ได้หมายความว่าลอกมาทั้งหมด แต่ต้องดัดแปลง โดยตัดออก 20 มาตรา แล้วใส่เข้าไปใหม่ 40 มาตรา ซึ่งก็เป็นตัวตั้ง เพียงแต่มันจะมองเห็นทิศทางว่าจะไปในแนวไหน สรุปแล้วอย่าไปตื่นเต้นกับเรื่องเหล่านี้ โดยที่วิษณุยืนยันว่า รัฐบาลและคสช.เตรียมทางออกไว้หลายทางหากร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำ
เช่นเดียวกับ นรชิต สิงหเสนี โฆษกกรธ.ที่ย้ำในเรื่องดังกล่าวว่า ในความหมายของมีชัยก็คือ หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติยังมีรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่บังคับใช้อยู่ขณะนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะเปลี่ยนรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรแต่อย่างใด ซึ่งยังไม่มีคำยืนยันใดๆ มาจากปากของคนที่ให้สัมภาษณ์ว่าหมายความตามนั้นหรือไม่
เมื่อเป็นเช่นนั้น จาตุรนต์ ฉายแสง จึงมองว่า เรื่องดังกล่าวเป็นตลกร้ายที่ไม่ขำ คำพูดของประธานกรธ.ไม่ได้พูดเล่นแต่กำลังพูดจริง ที่ว่าตลกร้ายก็เพราะว่าใครๆ ก็รู้ว่าการจะใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเป็นรัฐธรรมนูญถาวรไปเลยนั้นคงเป็นไปไม่ได้ ถ้าใครพยายามอย่างนั้นก็คงต้องแนะนำให้ไปอ่านบทความของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ใน 2-3 สัปดาห์มานี้เสียใหม่ว่า การทำอย่างนั้นเคยเป็นต้นเหตุให้ระบอบเผด็จการทหารในอดีตพังทลายมาแล้ว
เข้าใจได้ไม่ยากว่าการพูดว่า ถ้าไม่ผ่านก็ใช้ฉบับปัจจุบันนั้นมีประโยชน์ต่อการทำให้ร่างนี้ผ่านในการลงประชามติได้ง่ายขึ้น เพราะคนย่อมกลัวว่าจะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างนี้เรื่อยไป ซึ่งจะว่าไปแล้วไม่ควรเรียกว่ารัฐธรรมนูญเลยด้วยซ้ำ แต่ขอย้ำว่าการจะใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวแบบถาวรนั้นไม่มีทางเป็นไปได้แน่
ถึงอย่างไรประเทศไทยก็จะอยู่ใต้ระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างทุกวันนี้เรื่อยไปไม่ได้ สิ่งที่ควรให้ความสนใจคือ เมื่อร่างไม่ผ่านแล้วทำอย่างไรจะให้มีการร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่โดยกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยให้ประชาชนมาร่างกันเอง ไม่ใช่ปล่อยให้ใครก็ไม่รู้มาร่างกันแบบปู้ยี่ปู้ยำตามอำเภอใจอย่างที่ทำกันอยู่ในเวลานี้
ก่อนที่จาตุรนต์จะตั้งข้อสงสัยไว้อีกประการว่าด้วยเรื่องความอึมครึมเกี่ยวกับการลงประชามติ ในประเด็นจะใช้เสียงเท่าไหร่จึงจะผ่าน เพราะมีชัยเคยบอกว่าไม่ต้องแก้ แล้วแต่ว่าจะมีการตีความกันอย่างไร จะแก้หรือไม่ก็เป็นเรื่องของรัฐบาล ส่วนรัฐบาลและคสช.ก็ยังไม่ว่าอะไรในเรื่องนี้ คนสำคัญของรัฐบาลก็ออกมาตีความเสร็จสรรพว่า ใช้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง
แต่จนถึงขณะนี้ยังมีนักวิชาการและผู้สนใจจำนวนไม่น้อยตีความตามลายลักษณ์อักษรตามที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวหมายความว่า ต้องใช้เสียงมากถึงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง การตีความที่ต่างกันนี้จะมีผลอย่างมากต่อการที่ร่างจะผ่านหรือไม่ผ่านในการลงประชามติ ถ้าใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิก็เชื่อขนมกินได้เลยว่าไม่มีทางผ่าน แต่ก็อีกนั่นแหละ พอถึงเวลาจริงๆ อาจมีการตีความเป็นอย่างอื่นเสียก็ได้
ที่สำคัญ ความไม่ชัดเจนในเรื่องนี้จะมีผลต่อการออกเสียงของประชาชนโดยเฉพาะต่อผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างฯเข้าใจว่าต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ วิธีที่จะทำให้ร่างฯตกไปที่ง่ายที่สุดคือ แค่ไม่ไปออกเสียงหรือรณรงค์ให้ไม่ไปออกเสียงกันมากๆ คะแนนเสียงที่ไม่เห็นด้วยกับจำนวนผู้ที่ไม่มาออกเสียงจะถือรวมเป็นผู้ไม่เห็นด้วยไปด้วย
ปัญหามีอยู่ว่าถ้าไม่ไปออกเสียงกันมากๆ คะแนนผู้ที่เห็นด้วยซึ่งไม่มากนัก อาจกลายเป็นเสียงข้างมากของผู้ที่มาออกเสียง ถึงตอนนั้นถ้ามีการตีความว่าให้ถือเอาเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ ร่างฯก็จะผ่านในการลงประชามติไปได้โดยง่ายทันที กติกาในการการลงประชามติเป็นอย่างไรและหากร่างฯไม่ผ่านในการลงประชามติจะทำอย่างไรกันต่อไป จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำให้เกิดความชัดเจนโดยเร็ว ไม่ใช่ปล่อยให้คลุมเครืออยู่อย่างนี้
ที่น่าจับตามองหากมีปัญหาเรื่องการตีความโดยไม่ทำให้เกิดข้อชัดเจน ผู้มีอำนาจอาจใช้วิธีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ในจังหวะที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนให้อำนาจขององค์กรอิสระแห่งนี้ชนิดล้นฟ้า ถามว่าการตีความจะเป็นไปด้วยการยึดตัวบทกฎหมายหรือให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ได้ประโยชน์ เป็นโจทย์ที่รู้ผลลัพธ์กันอยู่แล้ว
และยิ่งเมื่อมองไปยังตัวบุคคลในองค์กรอิสระอย่างศาลรัฐธรรมนูญและกกต.ที่ยังเป็นชุดเดิมทำหน้าที่ ดังนั้น จึงชัดเจนในด้านตัวบุคคลที่ไม่แตกต่างจากสมัยใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ทำให้เกิดหนึ่งประเทศสองระบบ นั่นเท่ากับว่า การยกเอาการเลือกตั้งมาเป็นตัวล่อแค่ทำให้เห็นว่าเป็นประชาธิปไตยเอาไว้อวดอ้างกับชาวโลกเท่านั้น ส่วนองค์กรอิสระจะใช้อำนาจเผด็จการเพื่อควบคุมประชาธิปไตยได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ที่ตอกย้ำกันมาก่อนหน้านี้ว่า ในอนาคตไม่จำเป็นต้องใช้กำลังทหารในการยึดอำนาจอีกต่อไป