MPJ ขายไอพีโอ 53 ล้านหุ้น เทรด mai ไตรมาส 4 ชูจุดแข็งผู้นำขนส่ง-ลานตู้คอนเทนเนอร์

MPJ ผู้นำธุรกิจโลจิสติกส์แบบครบวงจร เตรียมเสนอขาย IPO จำนวน 53 ล้านหุ้น เข้าเทรดตลาด mai ช่วงไตรมาส 4/67 มุ่งระดมทุนขยายธุรกิจขนส่ง ลานตู้คอนเทนเนอร์ และโกดังสินค้า แบบครบวงจร


นายจีระศักดิ์ มานะตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็ม พี เจ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ MPJ เปิดเผยว่า MPJ เป็นผู้นำธุรกิจโลจิสติกส์แบบครบวงจรมีประสบการณ์กว่า 16 ปี ให้บริการขนส่งทั้งในประเทศและต่างประเทศกว่า 4 ประเทศ ครอบคลุม ทางบก ทางทะเล และอากาศ ซึ่งมีจุดแข็ง คือ 1.เป็นบริษัทโลจิสติกส์ที่ให้บริการครบวงจรในตลาดหลักทรัพย์ มีธุรกิจลานตู้คอนเทนเนอร์และมีฟลีทรถบรรทุกขนาดใหญ่ 237 คัน

2.บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรด้วยตนเองควบคุมคุณภาพและบริหารต้นทุน, 3.มีลูกค้าสายเรือชั้นนำ และมีการร่วมทุนกับลูกค้าหลักคือกลุ่มของ OOCL ซึ่งได้แก่ สายเรือ OOCL และ COSCO นับเป็นสายเรือขนาดใหญ่ของสิงคโปร์ 4.ทำเล ใกล้ท่าเรือแหลมฉบังและอยู่ในเขต EEC และ 5. ทีมผู้บริหารมีประสบการณ์ 20 ปี

อีกทั้ง MPJ และ 2 บริษัทย่อย อาทิ บริษัท เอ็ม พี เจ ดีสทริบิวชั่น เซ็นเตอร์ (MPJDC) และ บริษัท เอ็ม พี เจ แวร์เฮ้าส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (MPJWD) ได้ให้บริการโลจิสติกส์ 4 ประเภท คือ ขนส่งทางบกต่อเนื่องกับทางเรือด้วยรถบรรทุกหัวลาก 237 คัน และหางพ่วง 268 คัน 2.บริหารลานตู้คอนเทนเนอร์และให้บริการซ่อมแซมตู้คอนเทนเนอร์ของผู้ให้บริการสายเรือ โดยมีลานตู้คอนเทนเนอร์ 2 แห่งตั้งอยู่ใกล้กับท่าเรือแหลมฉบัง

3.บริการจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Freight Forwarder) จัดหาระวางเรือและเครื่องบิน และ4.บริการให้เช่าคลังสินค้า ขนาด 4,900 ตารางเมตร ในย่านแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี และขนาด 12,463 ตารางเมตร ในพื้นที่จังหวัดระยอง

ขณะที่ในปี 2562 บริษัทฯ ได้เข้าร่วมทุนกับ OOCL Logistics (Hong Kong) Limited ผู้ให้บริการสายเรือระดับโลกของสิงคโปร์ OOCL และ COSCO ผ่านบริษัทย่อย MPJDC ในการจัดตั้ง บริษัท โอเอ็ม ดีโพ จำกัด (OM) ซึ่ง MPJDC ถือหุ้นในสัดส่วน 49% เพื่อการบริหารการจัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์ อีกทั้งมีลานตู้คอนเทนเนอร์ทั้งหมด 2 แห่ง ตั้งอยู่ใกล้กับท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นผู้นำด้านลานตู้อันดับต้นๆ ของประเทศ

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มุ่งเน้นการให้บริการแก่สายเรือระดับโลก โดยให้บริการลานตู้คอนเทนเนอร์และขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ เริ่มต้นจากขนส่งตู้คอนเทนเนอร์จากท่าเรือแหลมฉบัง นำมาเก็บที่ลานตู้คอนเทนเนอร์ และขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ระหว่างแหลมฉบังและกรุงเทพฯ (ลาดกระบัง)

รวมทั้ง มีธุรกิจคลังสินค้าบริการแก่ลูกค้าสายเรือและลูกค้าบริษัทขนาดใหญ่ นอกจากนั้น ยังให้บริการจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Freight Forwarder) เพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างครบวงจร

โดยจากที่กล่าวมาข้างต้นนั่น ทำให้บริษัทฯ มีแผนเข้าระดมทุนเพื่อเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไป (IPO) จำนวน 53 ล้านหุ้น ใน ตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ประมาณไตรมาสที่ 4/67 และภายหลังการ IPO คาดการณ์ว่าจะมีหุ้นประมาณ 200 ล้านหุ้น ทั้งนี้ เพื่อรองรับการขยายกิจการอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้ง จะนำเงินซื้อรถหัวลากหางพ่วง ปรับปรุงลานตู้ ลงทุนอุปกรณ์ในลานตู้รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และธุรกิจลานตู้ เป็นเงินทุนหมุนเวียน รวมถึงพัฒนาระบบการบริหารจัดการทรัพยากรองค์กร (ERP) และชำระเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน

ทั้งนี้ บริษัทฯ มีนโยบายที่จะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิจากงบการเงินเฉพาะกิจการ ภายหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และภายหลังการจัดสรรทุนสำรองตามกฎหมาย และข้อบังคับของบริษัทฯ” นายจีระศักดิ์กล่า

สำหรับผลการดำเนินงานงวด 3 เดือนแรกปี 2566 กลุ่มบริษัทมีรายได้จากการให้บริการอยู่ที่ 211.51 ล้านบาท ส่วนในปี 2567 มีรายได้อยู่ที่ 222.59 ล้านบาท ซึ่งเติบโตขึ้น 5.24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้หลักมาจากสัดส่วนธุรกิจขนส่ง 51.74% และธุรกิจ ลานตู้คอนเทนเนอร์อยู่ที่ 34.35% ธุรกิจ Freight Forwarder อยู่ที่ 13.05% และ ธุรกิจคลังสินค้าอยู่ที่ 0.86%

ส่วนในงบปี 2566 รายได้จากการให้บริการอยู่ที่ 910 ล้านบาท กำไรสุทธิ 80.45 ล้านบาท จากกำไรสุทธิ 101.34 ล้านบาทในปี 2565 และกำไรสุทธิ 76.74 ล้านบาทในปี 2564 ส่วนในปี 2565 บริษัทมีรายได้จากการให้บริการรวม 1,300.27 ล้านบาท และในปี 2564 มีรายได้จากการให้บริการรวม 1,014.74 ล้านบาทตามลำดับ

โดยในปี 2565 รายได้รวมสูงกว่าปกติเนื่องจากกลุ่มบริษัทได้รับงานโครงการขนาดใหญ่ในการจัดการการขนส่งสินค้าด้วยเรือเทกองในปี 2565 และอัตราค่าระวางเรือในการส่งออกด้วยตู้คอนเทนเนอร์มีการปรับตัวสูงขึ้นจากปริมาณระวางเรือที่จำกัดและการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์  ซึ่งได้อ่อนตัวลงสู่อัตราปกติในปี 2566 รวมถึงงานโครงการใหญ่ในปี 2565 ได้เสร็จสิ้นไป จึงทำให้รายได้ในปี 2566 น้อยกว่าปี 2565

ด้าน นายเอกจักร บัวหภัคดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด ที่ปรึกษาการเงิน กล่าวว่า MPJ เป็น บริษัทผู้ให้บริการโลจิสติกส์ที่ครบวงจรอย่างแท้จริง และมีจุดเด่นหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการให้บริการลานตู้คอนเทนเนอร์ และขนส่งด้วยฟลีทรถบรรทุกหัวลากมากถึง 237 คัน อีกทั้ง ทำให้บริษัทฯ มีปริมาณธุรกิจที่มั่นคงและต่อเนื่อง พร้อมจะเติบโตกับการขยายตัวของการส่งออกนำเข้า และการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EE

นายจีระศักดิ์ กล่าวเสริมว่า บริษัทมีแผนการเปิดพื้นที่ลาดจอดตู้สินค้าแห่งใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อรองรับการเติบโต ซึ่งโดยหลักๆ ประมาณ 50% ของรายได้มาจากธุรกิจลานตู้คอนเทอรเนอร์ เนื่องจากมีการรับรู้รายได้จากการค่าผ่านลาดจอด ค่าส่งตู้ ค่าซ่อมและยกตู้

ขณะที่ ธุรกิจให้เช่าคลังสินค้าของบริษัทจะมีรายได้เฉลี่ย ตั้งแต่ปี (64-66) อยู่ที่ประมาณ 6-7 ล้านบาท ซึ่งล่าสุดเดือน เม.. ที่ผ่าน บริษัทมีการส่งมอบคลังสินค้าให้เช่าแห่งใหม่แก่บริษัท Electrolux Thailand ซึ่งเป็นผู้ผลิตและขายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ชื่อดัง โดยคาดการณ์ว่าจะสามารถรับรู้รายได้เข้ามาในช่วงไตรมาส 3-4 ปีนี้

จากการดำเนินธุรกิจมาอย่างยาวนานกว่า 16 ปี บริษัทมีกลยุทธ์ในการบริหารงาน ในธุรกิจ 4 ธุรกิจ ที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งบริษัทมีจุดมุ่งหมายในการสร้างความครบครัน เพื่อนำเสนอให้ลูกค้าได้เห็นถึงความพร้อมในการให้บริการด้านขนส่งสินค้า หรือนำเข้าส่งออกแบบครบวงจร เพราะบริษัทมองเห็นว่าธุรกิจของประเทศไทยนั้นอิงกับภาคการส่งออกเป็นหลัก

“รวมไปถึงการมีจุดเด่นด้านสถานที่ตั้งของที่เป็นพื้นที่เหมาะสมสำหรับขนส่ง และใกล้เส้นทาง มอเตอร์เวย์ ซึ่งเป็นเส้นทางสู่พื้นที่ EEC และการมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ไม่ต่ำกว่า 15 ปี มีความสามารถในการรักษามาตรฐานของธุรกิจ ผ่านการนำหลัก ISO เข้ามาปรับใช้ อีกทั้งในอนาคตบริษัทมีแผนการปรับเปลี่ยนรถหัวลากที่ใช้ในการขนส่งในปัจจุบันเป็น EV เพื่อลดผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งที่ผ่านมามีการพูดคุยกันบ้างแล้วนายจีระศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

Back to top button