เปิดปัจจัยหนุน “ส่งออกไทย” ขยายตัวก.ค. นิวไฮรอบ 28 เดือน
กระทรวงการคลัง เผยส่งออกโตต่อเนื่อง แรงหนุนจากท่องเที่ยวไทย เชื่อภาคเอกชนโดดลงทุน ธุรกิจอสังหาฯ - ธุรกิจนำเข้าสินค้าต่างประเทศ ด้าน กระทรวงพาณิชย์ เร่ง ออกมาตรการ ปรามสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ห่วงนักลงทุน คว้าน้ำเหลวในการลงทุน
จากกรณี นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังช่วงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทย (GDP) ในเดือน ก.ค.67 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง และการส่งออกสินค้าที่กลับมาขยายตัวได้ในระดับสูง จากตัวเลขการส่งออกที่กลับมาขยายตัวคาดการณ์ว่า ภาคเอกชนโดยเฉพาะต่างชาติจะกลับมาลงทุนเพิ่มในไทย
ทีมข่าวข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์ ได้ค้นหาข้อมูลว่า สาเหตุหลักที่ทำให้การส่งออกของไทยขยายตัวแรงในเดือนที่ผ่านมามาจากเหตุผลใดได้บ้าง นอกจากแรงสนับสนุนที่ได้จากภาคการท่องเที่ยว พบว่า มีเหตุผลหลัก ดังต่อไปนี้
1.การชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั่วโลก ช่วยเพิ่มอำนาจซื้อให้กับผู้บริโภค
2.การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นและการปรับตัวของค่าจ้างในประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะในยุโรป ส่งผลให้การบริโภคฟื้นตัว
3.เศรษฐกิจตลาดหลักที่กลับมาฟื้นตัวได้ดี อาทิ สหรัฐฯ จีน อาเซียน และสหภาพยุโรป สอดคล้องกับการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจยุโรปที่ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดแล้ว
เมื่อดูภาพรวมการส่งออกไทยช่วง 7 เดือนแรกของปี 2567 ยังขยายตัว 3.8% สำหรับดุลการค้าในเดือนกรกฎาคม 2567 ขาดดุล 1,373.2 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นเงินบาท 61,470 ล้านบาท ทำให้ภาพรวม 7 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 6,615.9 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นเงินบาท 307,935 ล้านบาท
สำหรับแนวโน้มการส่งออกในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์คาดว่าการส่งออกของไทยในปี 2567 จะทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกที่กำลังปรับตัวดีขึ้น รวมถึงสัญญาณการฟื้นตัวของภาคการผลิตอุตสาหกรรมของโลก ขณะเดียวกันคาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลจะสนับสนุนสินค้าที่เกี่ยวเนื่องให้เติบโตตลอดทั้งปี
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่กดดันการส่งออกจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ และความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าหลังการเลือกตั้งในหลายประเทศที่สำคัญ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
ทั้งนี้ หากเจาะลึกลงไปในความต้องการด้านการลงทุนของภาคเอกชน จะพบว่า ภาคเอกชน ให้ความสนใจในการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ และการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งหากดูตัวเลขของทั้งสองด้าน สามารถแบ่งรายละเอียดได้ ดังนี้
จากการสำรวจกลุ่มผู้มีรายได้สูงในกรุงเทพฯ จำนวน 156 คน ระหว่างวันที่ 26 มิถุนายน ถึง 5 กรกฎาคม 2567 พบว่า นักลงทุนไทยสนใจลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ญี่ปุ่น
ผลสำรวจ ยังระบุว่า ช่วงราคาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอยู่ที่ 4-5 ล้านบาท และ 10-25 ล้านบาท โดยเกือบ 60% ของนักลงทุนเน้นลงทุนในช่วงราคาดังกล่าว นอกจากนี้ 58% ของนักลงทุนมองว่าผลตอบแทน 4% จากการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ญี่ปุ่นมูลค่าประมาณ 6 ล้านบาทเป็นตัวเลขที่น่าสนใจ
ส่วนการลงทุนด้านการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ยังได้รับความนิยมจากนักลงทุน ภายหลังยอดการส่งออกของไทยขยายตัว แต่อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ ออกมาประกาศเตือนนักลงทุนว่า ต้องจับตาสถานการณ์การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และสถานการณ์การแข่งขันทางการค้าระหว่างสินค้า SMEs ไทยกับสินค้าจากต่างประเทศ โดยที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ ได้หารือกับ กลุ่มผู้ประกอบการบางราย ที่ลงทุนในการนำเข้าสินค้า แต่ได้สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน
แหล่งข่าวในกระทรวงพาณิชย์ ว่ากรณีที่นักลงทุน ลงทุนในการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ แต่ได้รับสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานนั้น จะมีแนวทางในการเยียวยาอย่างไร แหล่งข่าวรายดังกล่าว ตอบกลับว่า ในส่วนของมาตรการเยียวยาทางการค้า (AD/CVD/AC/ Safeguard) ทางกระทรวงพาณิชย์ ได้อธิบายให้ผู้ประกอบการรับทราบและทำความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอน ระบบการจัดเก็บข้อมูล กระบวนการไต่สวน
รวมทั้งผลกระทบจากการใช้มาตรการ ซึ่งดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ. AD/CVD และ พ.ร.บ. Safeguard โดยหากผู้ประกอบการพิจารณาแล้วว่าได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้าที่มีราคาไม่เป็นธรรม หรือมีการทะลักของสินค้านำเข้า สามารถยื่นคำขอใช้มาตรการดังกล่าวได้ ซึ่งต้องมีเอกสารหลักฐานที่เพียงพอและน่าเชื่อถือ ทั้งนี้ กรมฯ มีแผนจะจัดการอบรมให้ความรู้กับผู้ประกอบการไทยเกี่ยวกับกฎหมาย วิธีการยื่นคำขอและไต่สวนด้านมาตรการเยียวยาทางการค้าโดยเฉพาะ
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ อยู่ระหว่างการจัดทำแนวทางและข้อเสนอมาตรการเยียวยาเชิงนโยบาย รวมทั้งโครงสร้างของคณะทำงานระดับชาติในการขับเคลื่อนมาตรการที่มีผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเสนอต่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ผ่านทาง ภูมิธรรม เวชยชัย ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ภายในสัปดาห์หน้า