“การเมืองเมียนมา” พ่นพิษ “บจ.ไทย” ทยอยถอนการลงทุน

“การเมืองเมียนมา” พ่นพิษ “บจ.ไทย” ทยอยถอนการลงทุน และตัดขายหุ้นทิ้งเพื่อลดความเสี่ยงออกไป ฟากเอกชนไทย หวัง รัฐบาลอุ๊งอิ๊ง เป็นตัวกลาง เจรจาสร้างสันติภาพและฟื้นฟูเศรษฐกิจในเมียนมา


ปัจจุบันประเทศไทยเป็นคู่ค้าใหญ่เป็นอันดับ 2 ในประเทศเมียนมา รองจากจีน มีมูลค่าการค้ารวม 5 ปีย้อนหลังเฉลี่ย 8,500 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี แม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะทำให้การค้าระหว่างสองประเทศลดลงเล็กน้อย แต่ก็ยังจัดได้ว่าอยู่ในระดับสูง ล่าสุดในปี 2567 กรมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า มูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยและเมียนมาระหว่างเดือนมกราคม–พฤษภาคม 2567  มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 3,048.50 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 10.46 เปอร์เซ็นต์จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

โดยไทยมีการส่งออกสินค้าไปยังเมียนมาเป็นมูลค่า 1,773.93 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 11.81 เปอร์เซ็นต์จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา การนำเข้าสินค้าจากเมียนมา มายังประเทศไทยมีมูลค่า 1,274.57 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 8.52 เปอร์เซ็นต์ จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าเป็นมูลค่า 499.37 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับการลงทุนโดยตรงของไทยไปเมียนมายังจัดว่าติดอยู่ในกลุ่ม 5 อันดับแรก ถ้าคำนวนมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศที่เคยได้รับอนุญาตสะสมจนถึงเดือนมิถุนายน 2567 มีมูลค่าทั้งสิ้น 95,506.115 ล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศที่เข้ามาลงทุนในเมียนมาสูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ , จีน , ไทย , ฮ่องกง และ สหราชอาณาจักร ตามลำดับ โดยไทยอยู่ในลำดับที่ 3 มูลค่า 11,634.673 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีโครงการที่ได้รับอนุมัติแล้วจำนวน 155 โครงการ แต่ถ้าคิดมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศของโครงการที่ยังดำเนินการอยู่จนถึงเดือนมิถุนายน 2567 มีมูลค่าทั้งสิ้น 74,871.183 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยประเทศที่ยังคงลงทุนในพม่าสูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ , จีน , ฮ่องกง, สหราชอาณาจักร และไทย เป็นรายชื่อตามเดิม ที่ยังคงลงทุนอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ หากยึดตามลำดับที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่าการลงทุนในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ไทย อยู่อันดับที่ 5 ในการลงทุนในเมียนมา ซึ่งเป็นอันดับสุดท้าย ที่ข้อมูลปรากฏเช่นนี้ มีสาเหตุมาจาก นักธุรกิจไทย แห่ปิดกิจการถอนการลงทุน เนื่องจาก ความไม่สงบภายในประเทศเมียนมา ส่งผลทำให้เมียนมาตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ลากยาว โดยไม่มีวี่แววว่าจะฟื้นตัว

ทีมข่าวหุ้นออนไลน์ ได้รวบรวมข้อมูลบริษัทเอกชนไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ บางส่วนที่ถอนการลงทุนออกจากเมียนมา โดยมีรายชื่อ ดังต่อไปนี้

1.บริษัท เจนเนอรัล เอนจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GEL แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯว่า การประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 29 ก.พ. 2567 มีมติอนุมัติยกเลิกเงินลงทุน 45% ในกิจการร่วมค้า Wisdom Tree Investment (S) PTE. Limited และ Millcon Thiha GEL Limited ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็กรูปพรรณในเมียนมา เหตุผลที่ถอนการลงทุน สืบเนื่องจาก มีผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง สาเหตุจากสถานการณ์การเมืองในเมียนมาไม่เอื้อในการประกอบธุรกิจ

2.บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ TPBI แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า การประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2567 มีมติอนุมัติให้เลิกและชำระบัญชีบริษัทย่อย “TPBI & Myanmar Star Company Limited (TPBIMS)” ธุรกิจผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ พลาสติกทั่วไป  ส่วนเหตุผลในการเลิกกิจการมาจากความไม่แน่นอนในสภาวะเศรษฐกิจ และ กฎเกณฑ์ในการดำเนินธุรกิจในเมียนมา

3.บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ CNT แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าได้จดทะเบียนเลิกกิจการบริษัทคริสเตียนีและนีลเส็น (เมียนมา) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ CNT เมื่อวันที่วันที่ 2 กรกฎาคม 2567

4.บริษัท เจนเนอรัล เอนจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GEL แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ได้มีมติอนุมัติการยกเลิกเงินลงทุนในกิจการร่วมค้า Wisdom Tree Investment (S) PTE. Limited และ Millcon Thiha GEL Limited ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของกิจการร่วมค้า ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็กรูปพรรณ ในประเทศเมียนมา โดยบริษัทมีสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 45 เนื่องจากบริษัทย่อยของกิจการร่วมค้ามีผลประกอบการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง สาเหตุจากสถานการณ์การเมืองในประเทศเมียนมาไม่เอื้อในการประกอบธุรกิจ

5.บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ GPI แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าในการประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 มีมติอนุมัติการเลิกกิจการของ GPI Myanmar Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ดำเนินกิจการเกี่ยวกับธุรกิจการจัดการแสดงสินค้าที่ประเทศเมียนมา มีทุนจดทะเบียน 50,000 เหรียญสหรัฐ โดยบริษัทถือหุ้นเป็นจำนวนร้อยละ 100 เนื่องจากปัจจุบัน GPI Myanmar Company Limited ไม่ได้ประกอบกิจการทางการค้าแล้ว

6.บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2567 ได้มีมติให้จำหน่ายเงินลงทุนใน บริษัท เมียนมาร์ โกลเด้น อีเกิ้ล จำกัด (MGE) และบริษัท เมียนมาร์ โกลเด้น กลาส จำกัด (MGG) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมค้าที่บริษัทย่อยของ OSP ถือหุ้น 35% และ 51.84% ตามลำดับ โดย MGE Group ดำเนินธุรกิจให้บริการผลิตและจัดจำหน่ายขวดแก้ว (OEM) ในประเทศเมียนมา โดยขายให้บริษัท Marlarmyaing Public Company Limited มูลค่ารายการประมาณ 50,000 ล้านเมียนมาร์จัต

นี่เป็นเพียงรายชื่อ บริษัทเอกชนไทยในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพียงส่วนหนึ่ง ที่หยิบยกมาให้เห็นภาพว่า การลงทุนในเมียนมามีแนวโน้มที่เป็นลบ มากกว่า เป็นบวก เพราะ สถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศ ที่ผ่านมา  ประเทศไทยกตกอยู่ในความคาดหวังและความเรียกร้องต้องการจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ชุมชนนานาชาติ นักการเมืองของไทย รวมไปถึง สาธารณชนทั้งภายในและนอกประเทศ ว่า ไทยอยู่ในฐานะที่เหมาะสมที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขวิกฤตการณ์ในเมียนมา เพื่อฟื้นฟูสันติภาพและประคับประคองให้ประเทศเมียนมาสามารถเดินหน้าพัฒนาไปตามครรลองแห่งสันติภาพและฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศ

ย้อนกลับไป ในช่วงรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน  ได้แสดง “ท่าที” มาตลอดระยะเวลาเกือบปีที่อยู่ในตำแหน่งว่าต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมืองและสร้างสันติภาพในเมียนมา โดยนายเศรษฐาและรัฐมนตรีต่างประเทศในขณะนั้น คือ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร ได้ริเริ่ม ‘โครงการระเบียงแห่งมนุษยธรรม’ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนชาวเมียนมาด้วยความมุ่งหวังที่แรงกล้าว่าจะใช้เป็นบันใดขั้นแรกในการฟื้นฟูเสถียรภาพด้านสันติภาพและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ แต่ด้วยเหตุการณ์พลิกผันของการเมืองไทย ทำให้โครงการดังกล่าว ต้องชะลอไป ดำเนินการได้ไม่เต็มกำลังมากนัก

ปัจจุบัน รัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ยังไม่พบนโยบายที่ชัดเจนว่า ไทยจะเป็นตัวกลางในการแก้ไขปัญหาทางด้านสันติภาพและเศรษฐกิจในเมียนมา หากยังไม่มีนโยบายด้านการต่างประเทศที่ชัดเจน คาดว่า นับต่อจากนี้ บริษัทเอกชนไทย จะทยอยถอนการลงทุน มากกว่าเดิม เพราะ ไม่เห็นแนวโน้มที่น่าลงทุน

Back to top button