ก.ล.ต.เพี้ยน! ห้ามสื่อ-ผู้บริหาร บจ. คาดการณ์อนาคต

ก.ล.ต. กินยาผิดซอง จู่ๆ ลุกขึ้นมาประกาศห้ามสื่อ-ผู้บริหาร บจ. ให้ข้อมูลคาดการณ์ผลการดำเนินงาน แย้มนอกจากเอาผิดผู้บริหารแล้วจะมีการเอาผิดสื่อที่บิดเบือนข้อมูลด้วย พร้อมเดินหน้าเอาผิดโบรกเกอร์ที่ซื้อขายตัดหน้าลูกค้า (Front running) คาดแล้วเสร็จไตรมาส 3/59


นายสมชาย พงษ์พัฒนาศิลป์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการดำเนินการเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.) อยู่หลายเรื่อง โดยประเด็นหลักๆ ได้แก่การออกบทลงโทษผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่ให้ข้อมูลเท็จ ยกตัวอย่างเช่นให้ข้อมูลคาดการณ์ผลการดำเนินงาน ที่ไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้

โดยบทลงโทษดังกล่าวนั้นจะเป็นการปกป้องนักลงทุน เพราะการให้ข่าวของผู้บริหารนั้นจะมีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนในการซื้อขายหุ้น อีกทั้งการมีบทลงโทษจะทำให้ผู้บริหารใช้ความระมัดระวังในการให้ข้อมูลมากขึ้น เพราะโทษจะมีทั้งอาญา และปรับ จากปัจจุบันไม่มีบทลงโทษ ซึ่งเรื่องดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนจะเสนอให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณ ไตรมาส 3/59

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้สื่อข่าวที่มีการสัมภาษณ์ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน ควรบันทึกเสียงการให้สัมภาษณ์ไว้เป็นหลักฐาน เพราะที่ผ่านมา เมื่อสื่อเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับการให้สัมภาษณ์ของผู้บริหาร ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ มีผลต่อการซื้อขายหุ้น และทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ให้ผู้บริหาร ชี้แจงข้อมูลดังกล่าว แต่ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนชี้แจงว่า ตนเองไม่ได้เป็นผู้ให้ข่าวดังกล่าว จะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของสื่อ ทำให้ไม่ได้รับความน่าเชื่อถือ

โดยต่อไปหากมีนักลงทุนร้องเรียนเกิดขึ้นทาง ก.ล.ต.จะดำเนินการสอบสวน ซึ่งหากสื่อหลายฉบับมีการเผยแพร่ข่าวเหมือนกัน สามารถประเมินได้เบื้องต้นแล้วว่าผู้บริหารเป็นผู้ให้ข่าวจริง แต่ถ้ามีการเปิดเผยแพร่ ฉบับเดียวนั้นก็ยากที่จะตรวจสอบ เพราะไม่รู้ว่าใครพูดจริง ซึ่งหากมีเทปอัดเสียงไว้จะเป็นหลักฐานที่ดี สำหรับวิธีดำเนินการสอบสวนนั้นจะเชิญ นักข่าวและผู้บริหาร เข้ามาให้ข้อมูลและหากพบผู้ที่กระทำผิดนั้นจะต้องมีการชดเชยค่าเสียหายให้แก่นักลงทุนที่ร้องเรียน

อีกทั้ง ก.ล.ต.ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาความผิดบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ที่ซื้อขายตัดหน้าลูกค้า (Front running) เพราะพบว่าที่ผ่านมามีโบรกเกอร์บางรายมีการรับคำสั่งซื้อหรือขายหลักทรัพย์ จากนักลงทุนสถาบันต่างประเทศและมีการซื้อหรือหลักทรัพย์ดังกล่าวในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเองก่อน แล้วค่อยซื้อให้กับลูกค้า

โดย ก.ล.ต.ทราบข้อมูลดังกล่าวจากการที่การซื้อขายหลักทรัพย์จะต้องมีการรายงานข้อมูลแก่ ก.ล.ต. และพบว่ามีการซื้อขายหลักทรัพย์ตัวเดียวกันในเวลาที่ใกล้เคียงกัน ถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบลูกค้า ในการนำข้อมูลดังกล่าวที่ได้มาสร้างประโยชน์ ซึ่งที่ผ่านมานั้น ยังไม่ได้มีบทลงโทษในเรื่องดังกล่าว

Back to top button