มหาดไทย มอบรางวัล “จังหวัดสะอาด” ยกย่องจัดการขยะเป็นเลิศ ปี 67

กระทรวงมหาดไทยมอบรางวัล “จังหวัดสะอาด” ยกย่องจังหวัดต้นแบบการจัดการขยะที่เป็นเลิศ และอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2567


นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานมอบรางวัลการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ประจำปี พ.ศ. 2567 และรางวัลอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2567 พร้อมด้วย นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายราชันย์ ซุ้นหั้ว รองปลัดกระทรวงมหาดไทย, นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทยและนายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดผู้แทนส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมในพิธี

จากนั้นนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เยี่ยมชมการจัดแสดงนิทรรศการถอดบทเรียนความสำเร็จของจังหวัดที่ได้รับรางวัลชนะเลิศทั้ง 4 จังหวัด หลังจากนั้นได้มอบรางวัลให้กับ 18 จังหวัดต้นแบบการจัดการขยะมูลฝอยดีเด่น และอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก ดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 15 คน โอกาสเดียวกันนี้ ได้กล่าวแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลและขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมแรงร่วมใจในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ

โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นหน่วยงานหลักในการนำมาตรการและการปฏิบัติในการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน ตั้งแต่การคัดแยกขยะต้นทาง การขนส่งไปจนถึงการกำจัดขยะมูลฝอย รวมถึงการนำขยะมูลฝอยตกค้างไปกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565 – 2570) ได้มุ่งเน้นการคัดแยกประเภทขยะที่ใช้ประโยชน์ได้ให้นำกลับมาใช้ได้อีกครั้งในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดเป็นแผนปฏิบัติการจัดการ

ทั้งนี้ ขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ประจำปี เพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนในมิติต่าง ๆ รวมไปถึงได้จัดการประกวด เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติจังหวัดที่มีการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนดีเด่น และการประกวดอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก ดีเด่นแห่งชาติ ให้กับประชาชนในท้องถิ่นที่มีจิตอาสาในการช่วยเหลืองานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยการปกป้องและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่

นายอนุทิน กล่าวว่า “การบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล เนื่องจากปัญหาขยะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของประชาชน แต่การจัดการดังกล่าวจะประสบผลสำเร็จไม่ได้ หากขาดความร่วมมือของประชาชน และทุกหน่วยงานที่ต้องบูรณาการร่วมมือกันตั้งแต่ครัวเรือน ไปสู่ชุมชนจนถึงระดับประเทศ และขอชื่นชมกับความสำเร็จของจังหวัดที่ได้รับรางวัลในวันนี้ แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดถึงความจริงจัง ในการจัดการปัญหาขยะของทุกจังหวัด

ทั้งนี้ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน และขอให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกันขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการปฏิบัติ โดยเฉพาะการรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ความตระหนักในการจัดการขยะที่ถูกต้อง ตั้งแต่ระดับต้นทาง กลางทาง และปลายทาง และสำคัญที่สุดคือการเริ่มต้นที่ตนเอง โดยมีหน่วยงานภาครัฐระดับต่าง ๆ เป็นหน่วยสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนระดับพื้นที่ต่อไป”

สำหรับผลการคัดเลือกจังหวัดที่มีการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ประจำปี 2567 แบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้

กลุ่มจังหวัดต้นแบบการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนยั่งยืน รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ จังหวัดลำพูน และรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ จังหวัดสตูล จังหวัดที่มีการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” กลุ่มทั่วไป จำนวน 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มจังหวัดขนาดเล็ก รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ จังหวัดมุกดาหาร รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต รางวัลชมเชย ได้แก่ จังหวัดชัยนาทและจังหวัดอุทัยธานี

ส่วนกลุ่มจังหวัดขนาดกลาง รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ จังหวัดเลย รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ จังหวัดลำปาง รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ จังหวัดสุโขทัย รางวัลชมเชย ได้แก่ จังหวัดตรังและจังหวัดนราธิวาส และกลุ่มจังหวัดขนาดใหญ่ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ จังหวัดสุรินทร์ รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ จังหวัดมหาสารคาม รางวัลชมเชย ได้แก่ ลพบุรีและจังหวัดอุดรธานี

สำหรับอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลกดีเด่น แห่งชาติ มีดังนี้

ประเภทหนูน้อย รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ เด็กหญิงกวินภรณ์ จันทร์เจริญ อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก สังกัดเทศบาลตำบลอุโมงค์ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ เด็กหญิงกัญญาภัทร ชาญณรงค์ อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก สังกัดเทศบาลนครภูเก็ต อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ เด็กหญิงปัณณพร กาญจนเลขา อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านงิ้ว อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานีและรางวัลชมเชย ได้แก่ เด็กหญิงพิชญ์ชา วณิชวรพงศ์ อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก สังกัดเทศบาลตำบลเกล็ดแก้ว อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี และเด็กหญิงวิราวรรณ พอกกล้า อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองที อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์

ประเภทเยาวชน มีดังนี้ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นางสาวชนิษฐา ซ้วนเล่ง อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก สังกัดเทศบาลนครสงขลา อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ นางสาวชนิกานต์ เณรมณี อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก สังกัดเทศบาลเมืองมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ นางสาวเพ็ญพิชชา เงินตาสุก อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก สังกัดเทศบาลเมืองตาก อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก และรางวัลชมเชย ได้แก่ นายติณณ์ ชัยวงศา อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก สังกัดเทศบาลตำบลโคกสำโรง อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี และนางสาวธัญญรัตน์ มณีเลิศ อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลชานุมาน อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ

ประเภทบุคคลทั่วไป รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายอภิวัฒน์ พรหมรินทร์ อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลปะตง อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ นายธนาบูรณ์ รินนรา อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองฝ้าย อำเภอหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ นางสาวนุจรี สมาน อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต และรางวัลชมเชย ได้แก่ นายศุภกร ศรีสุวรรณ อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก สังกัดเทศบาลตำบลสันโป่ง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ และนางไพรินทร์ เรืองอร่าม อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

Back to top button