กลับสู่พื้นฐานแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น
ถือคติตีเหล็กเมื่อยามร้อนได้ดี สำหรับผู้บริหารสถาบันการเงินอย่าง กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) นำโดยนายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ที่อาศัยจังหวะที่ผลประกอบการปีล่าสุด 2558 กำไรสุทธิโดดเด่นอย่างมาก แถลงแผนธุรกิจโดยไม่รอช้า
ถือคติตีเหล็กเมื่อยามร้อนได้ดี สำหรับผู้บริหารสถาบันการเงินอย่าง กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) นำโดยนายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ที่อาศัยจังหวะที่ผลประกอบการปีล่าสุด 2558 กำไรสุทธิโดดเด่นอย่างมาก แถลงแผนธุรกิจโดยไม่รอช้า
แผนธุรกิจใหม่ ระบุว่า ปีนี้ KKP ได้ปรับเป้าสินเชื่อรวมจะขยายตัวก้าวกระโดดราว 15% จากเดิมคาดว่าจะเติบโต 5-7% สูงกว่าระบบธนาคารพาณิชย์ที่คาดว่าจะเติบโต 5-6% เนื่องจากธนาคารจะหันมาเน้นกลุ่มลูกค้ารายใหญ่และกลุ่ม Wealth Management มากขึ้น ขณะที่คาดว่าลูกค้ากลุ่มเดิมจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการจัดตั้งสายงานช่องทางการตลาดและพัฒนาฐานลูกค้าจะช่วยให้การขยายฐานลูกค้าในมิติต่างๆ ให้เห็นผลได้อย่างชัดเจนขึ้น
เพียงแต่เพื่อความไม่ประมาท ก็เลยแทงกั๊กเอาไว้นิดหน่อยว่า แผนนี้ สามารถยืดหยุ่นได้ เพราะเป็นเป้าหมายที่หากภาวะเศรษฐกิจในประเทศยังไม่ฟื้นตัวอย่างที่คาดการณ์ไว้ ธนาคารพร้อมที่จะหั่นเป้าลงในช่วงกลางปีได้
รายละเอียดของแผนที่เปิดเผยออกมาระบุว่า เป้าสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ต้องการเติบโต 5% โดยพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์คิดเป็น 65% ของพอร์ตสินเชื่อรวม และสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ปีนี้ตั้งเป้าเติบโตไม่เกิน 10% แต่สินเชื่อที่จะมีการเติบโตมากที่สุดรวมกันถึง 100% ประกอบด้วย สินเชื่อหมุนเวียนอเนกประสงค์ สำหรับลูกค้า Wealth Management, สินเชื่อบรรษัท และสินเชื่อเอสเอ็มอี
ห่ากประเมินเชิงกลยุทธ์ จะเห็นได้ชัดว่า จุดมุ่งหมายเดิมเมื่อครั้งควบรวมกิจการระหว่างธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) เข้ากับ กลุ่มทุนภัทร หรือ PHATRA เมื่อหลายปีก่อนนั้น ยังคงเดินหน้าต่อไปตามเดิม นั่นคือ ใช้ระบบธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิม เป็นตัวสร้างฐานที่เรียกว่า cash cow ส่วนธุรกิจใหม่คือ วาณิชธนกิจ เป็นตัวการสร้างผลิตภัณฑ์ดาวรุ่ง หรือ star
กลยุทธ์นี้ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะได้เห็นโครงสร้างของธุรกิจในการสร้างพลังผนึกหรือ synergy ให้กับทุกฝ่าย เพื่อปิดจุดอ่อน เสริมจุดแข็งทางธุรกิจในอนาคต ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้ KKP1 แปลงกายเป็นอินเวสเมนท์แบงกิ้ง ที่มีฐานรากของธนาคารพาณิชย์เป็นองค์ประกอบ
ผลพวงของการสร้างอาณาจักรธุรกิจใหม่ ซึ่งมีโครงสร้างการบริหารภายใน ให้กลุ่มผู้บริหารที่มาจาก PHATRA จะมีบทบาทสูงกว่ากลุ่มผู้บริหารเดิมของ KKP ชัดเจน เนื่องจากมีแนวคิดว่า รายได้จากส่วนของธนาคารพาณิชย์ แม้เป็นรายได้ที่มาก แต่มีความสามารถทำกำไรต่ำกว่าธุรกิจตลาดทุน
แนวคิดดังกล่าว ดูดี ภายใต้เงื่อนไขว่า ตลาดทุนไทยยังมีสภาพเป็นขาขึ้นยาวนาน ซึ่งไม่จริง…เสมอไป
ผลลัพธ์ที่ได้เห็นก็คือ ผลประกอบการในรูปกำไรสุทธิของ KKP ค่อนข้างหวือหวาไปกับตลาดหุ้นไทยอย่างชัดเจน เพิ่งจะมาในปี 2558 นี่แหละที่การหวนกลับมาเน้นงานด้านธนาคารพาณิชย์แบบเดิม ทำให้ผลกำไรดูดีขึ้นโดดเด่น กลบภาวะขาลงของตลาดหุ้นไทยลงไปได้
ปีนี้ แม้จะออกตัวในแผนธุรกิจมาว่า KKP จะเดินหน้าตามรอยปีที่ผ่านมาที่เน้นหนักเรื่องของธนาคารพาณิชย์ในระบบเดิมคือ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ต้องการเติบโต 5% และสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ แต่อย่างว่า …ของมันเคยมือ ผู้บริหารยังคง “สอดไส้” งานด้านตลาดทุนเอามาไว้ในแผนในฐานะดาวรุ่งดวงใหม่ต่อไป โดยตั้งเป้าว่าจะโตมากถึง 100% กันเลยทีเดียว
ผลิตภัณฑ์ที่ KKP ภาคภูมิใจนำเสนอปีนี้ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ชื่อ Lombard Loan หรือสินเชื่อหมุนเวียนอเนกประสงค์ ที่ธนาคารจะเสนอให้กับกลุ่มลูกค้า Wealth management ของ บล.ภัทร เพื่อเสริมสภาพคล่องและสร้างโอกาสในการบริหารเงินลงทุน…เป็นการ “ชงเอง กินเอง”ที่มีความหมาย
โดยสาระแล้ว Lombard Loan ถูกออกแบบมารองรับลูกค้าที่มี พอร์ตการลงทุน กับ บล.ภัทร โดยไม่จำกัดวัตถุประสงค์ในการเบิกใช้สินเชื่อ จึงสามารถใช้เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินของพอร์ต หรือ กู้เงินไปลงทุนใน กองทุน REITs กองทุนโครงสร้างพื้นฐานและตราสารอนุพันธ์ หรือ กองทุนหุ้นต่างประเทศ
เส้นทางนี้ ก็คือ การกลับสู่พื้นฐานเดิมชนิด “เสือไม่ทิ้งลาย”
วาณิชธนากร มาเป็นนายธนาคารพาณิชย์ อย่างไรเสียก็ไม่ยอมทิ้งธาตุแท้ของตนเอง ปรับตัวแค่ไหน ก็อดหวนไปกินของเก่าที่คุ้นเคยไม่ได้
ถามว่า เสียหายหรือไม่
คำตอบคือ หากรายได้ และกำไรเติบโตดี ก็คงไม่น่ามีปัญหาอะไร..
ถึงมีปัญหาก็…ยืดหยุ่นได้…ก็แทงกั๊กเอาไว้แล้วนี่นา…5555
เหตุผลเพราะ งานนี้กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างวัฒนเวคิน ที่นำโดยนายสุรพล วัฒนวเคิน ประธานกรรมการ KKP ไฟเขียวผ่านตลอดอยู่แล้วตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงปลาย…ตลอดตัว