พาราสาวะถีอรชุน

ไม่น่าแปลกใจที่ผลสำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯกับความเชื่อมั่นที่มีต่อ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม.จะลดลงทุกด้าน คงไม่ใช่เพราะการตรวจสอบปมทุจริตของคนจากพรรคประชาธิปัตย์ คงไม่ใช่ข่าวคราวความขัดแย้งกับพรรคต้นสังกัด หากแต่เกิดจาก”น้ำมือ”ในการทำงานของคุณชายหมูล้วนๆ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม


ไม่น่าแปลกใจที่ผลสำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯกับความเชื่อมั่นที่มีต่อ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม.จะลดลงทุกด้าน คงไม่ใช่เพราะการตรวจสอบปมทุจริตของคนจากพรรคประชาธิปัตย์ คงไม่ใช่ข่าวคราวความขัดแย้งกับพรรคต้นสังกัด หากแต่เกิดจาก”น้ำมือ”ในการทำงานของคุณชายหมูล้วนๆ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม

จากเดิมคนเมืองหลวงเคยท่องกันว่าถ้าฝนตกหนักเกิน 60 มิลลิเมตรต่อเนื่องกันเป็นเวลานานเกินชั่วโมงขึ้นไป จะทำให้เกิดน้ำท่วมซ้ำซาก 11 จุด แต่เวลาผ่านไปเข้าสู่ยุคคุณชายมาดูแล กลายเป็นว่าแค่ฝนตกหนักประเดี๋ยวประด๋าว ก็ทำเอาคนกรุงหัวเสียกันเป็นแถวเพราะไปทางไหนก็มีแต่น้ำท่วมขัง แทนที่จะได้รับการเอาใจใส่ ท่านผู้ว่าฯกลับไล่ให้คนวิจารณ์ไปอยู่บนดอยเสียอย่างนั้น

คะแนนเสียงที่บอกว่าสนับสนุนคุณชายหมูหากวันนี้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ที่ร้อยละ 27.2 ลดลงถึงร้อยละ 15.8 ยังถือว่าสูงเสียด้วยซ้ำไป ถ้าสังเกตจากการส่ายหน้าต่อผลงานของท่านผู้ยิ่งใหญ่แห่งเมืองหลวง จากสโลแกนทั้งชีวิตเราดูแล(ตัวเอง)จนมาถึงรักกรุงเทพฯร่วมสร้างกรุงเทพฯกับหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ น่าจะเกิดเครื่องหมายคำถามหลายประการต่อทีมบริหารกทม.ชุดนี้

ยังไม่นับรวมกรณีโครงการประดับไฟลานคนเมืองมูลค่า 39 ล้านบาท เอาแค่กรณีกล้องวงจรปิดที่มีปัญหามาตั้งแต่คุณชายดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.สมัยแรก จนมาถึงวาระสอง ก็ยังเต็มไปด้วยกล้องดัมมี่ ที่ตอนเกิดเหตุระเบิดแยกราชประสงค์เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนสอบสวนถึงกับบ่นอุบเพราะกล้องของกทม. ใช้การไม่ได้จำนวนมากที่ใช้ได้ก็ไม่ชัด

เรื่องดังกล่าวยังเป็นที่โจษขานและโจมตีกันของมือตรวจสอบจากพรรคเก่าแก่ แค่นี้คงพอจะยืนยันการลดฮวบฮาบของคะแนนนิยมได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้นี่กระมังที่เป็นสาเหตุสำคัญให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไฟเขียวเด็กในสังกัดตั้งโต๊ะแถลงข่าวตะเพิดคุณชายแบบไม่เหลือเยื่อใย ศึกในประชาธิปัตย์ยังไม่จบง่ายๆต้องมองกันยาวๆ

แต่ถ้าจะว่าการขยับครั้งนี้ของพรรคเก่าแก่เพื่อหวังที่จะสร้างฐานคะแนนนิยมไว้เตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า ก็ยังมีเครื่องหมายคำถามว่า จากเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่เห็นๆกันอยู่ ดูเหมือนว่าการตั้งป้อมแสดงความรังเกียจนักการเมืองและจำกัดเส้นทางเดินไว้นั้น ไม่ได้จำเพาะเจาะจงแค่เพียงพรรคเพื่อไทยหรือเครือข่ายของ ทักษิณ ชินวัตร เพียงเท่านั้น

วันนี้ได้เห็นบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างคร่าวๆ ประเด็นเรื่องนายกรัฐมนตรีคนนอก สำหรับคนที่จับจองไว้แล้วตั้งแต่นาทีนี้ น่าพอที่จะเห็นเค้าลาง เมื่อ กรธ.ไม่ได้บัญญัติให้ คสช.ต้องเว้นวรรคทางการเมืองตามคาด มิหนำซ้ำ ยังกำหนดไว้ว่า ทั้ง คสช. ครม. สนช. และ สปท.หาจะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. หรือ ส.ว. ต้องลาออกจากตำแหน่งภายใน 90 วันนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้

เท่ากับว่าเป็นการเปิดช่องให้เต็มที่สำหรับคนที่อยากจะเดินเข้าสู่ถนนสายการเมืองไม่ว่าจะโดยไปผ่านการเลือกตั้งของประชาชนหรือจะได้รับการเชิญมาจากพรรคการเมืองที่วางฐานปูทางกันไว้แล้วก็ตาม ซึ่งก็น่าจะได้เห็นภาพอะไรหลายๆอย่างชัดเจนมากขึ้น หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการทำประชามติไปสู่การบังคับใช้

ประเภทที่บอกว่าไม่อยากได้ใคร่มีไม่อยากเป็นโน่นนี่นั่น แนะนำให้เขียนชื่อแปะข้างฝาไว้ได้เลย เมื่อถึงเวลานั้น คนเหล่านี้นี่แหละที่จะกระโดดเข้าสู่เก้าอี้แห่งอำนาจก่อนใครเพื่อน จากนั้นจะยกสารพัดข้ออ้างมาสร้างเกราะป้องกันให้กับตนเอง ประมาณว่าเสียสละเพื่อชาติอะไรอย่างนั้น นี่คือความจริงของทฤษฎีตรงข้าม อะไรที่บอกว่าไม่จะกลายเป็นจริงเสมอ

ส่วนผู้ร่างรัฐธรรมนูญถ้าร่างผ่านประชามติในบทเฉพาะกาลก็ให้อยู่ทำหน้าที่ต่อไปอีก 8 เดือนเพื่อร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นอีก 10 ฉบับก่อนจะส่งให้ สนช.พิจารณาเห็นชอบภายใน 60 วัน นั่นหมายความว่า มีชัย ฤชุพันธุ์ และคณะจะอยู่ในตำแหน่งต่อไปอีก 10 เดือนก่อนจะแยกย้ายสลายตัว โดยมีข้อกำหนดไว้ห้าม 21 อรหันต์ยุ่งเกี่ยวทางการเมืองในระยะเวลา 2 ปี

มาถึงตรงนี้ถือว่าโค้งสุดท้ายแล้วสำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ก่อนที่จะได้เห็นร่างแรกกันในวันศุกร์นี้ แต่ที่ยังเป็นคำถามก็คือ เหตุใดคณะยึดอำนาจตั้งแต่ รสช.ปี 2534 มาถึง คมช.ปี 2549 และ คสช. จึงไว้วางใจเลือกใช้บริการมีชัยให้เป็นผู้ร่างกฎหมายต่างๆ แน่นอนว่า ผลงานเนติบริกรใหญ่ที่ผ่านมาล้วนแล้วแต่เข้าตาคณะเผด็จการทหาร

สิ่งสำคัญที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น คงเป็นเรื่องของจุดยืนที่มีความเหมือนกันนั่นก็คือ ไม่ศรัทธาประชาธิปไตยและไม่ชื่นชอบให้ประชาชนมีอำนาจแสดงออกทางการเมือง ส่วนเรื่องของการเลือกตั้งที่ขับเน้นกันนั้น ก็เพื่อจัดฉากให้เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น นั่นหมายความว่า สำหรับมีชัยแล้วแม้จะไม่ได้แต่เครื่องแบบเป็นคนมีสี คุมกองทัพใช้รถถังในการรัฐประหาร แต่ก็ถือว่าเป็นนักยึดอำนาจพลเรือนคนสำคัญของประเทศไทย

สำหรับภาพเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ที่เกิดการสูญเสียอันเนื่องมาจากการเขียนรัฐธรรมนูญของมีชัยให้คณะ รสช.สืบทอดอำนาจนั้น ถือเป็นอดีตที่เจ้าตัวและผู้มีอำนาจไม่ได้อินังขังขอบ การกลับมาภาคนี้จึงใช้วิธีการที่แยบยลซับซ้อนกว่า ด้วยการให้พรรคการเมืองเสนอ 3 รายชื่อนายกฯ โดยไม่ระบุว่าจะต้องเป็นส.ส.หรือไม่ ก่อนที่จะโยนไปให้เป็นความผิดของนักการเมืองถ้าไปเลือกคนนอกมาเป็นนายกฯว่าไม่เกี่ยวกับ กรธ.

ไม่เพียงเท่านั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังสร้างกลไกทำลายล้างโดยให้องค์อิสระมีอำนาจล้นฟ้า ถ้ายึดโยงเอาจากผลงานในอดีตก็จะเห็นได้ชัดว่า องค์กรเหล่านั้นยึดมั่นหลักการหรือหลักกู มุ่งพิทักษ์ความยุติธรรมหรือมุ่งทำลายแค่บางคนบางพวก ทั้งหมดที่ว่ามาคงพอจะอธิบายได้แล้วว่า เหตุใดมีชัยจึงเป็นที่ชื่นชอบศรัทธาของคณะรัฐประหาร ส่วนเหตุการณ์ในวันข้างหน้าจะจบลงเหมือนปี 2535 หรือไม่ ไม่มีใครคาดเดาได้

Back to top button