EA-BYD ร่วงต่อ! แพนิก ตลท.สั่งแจงงบ Q2 หวั่นปัญหา “ลูกหนี้การค้า” กระทบสภาพคล่อง

EA-BYD ลบต่อ หลังตลาดสั่งแจงงบไตรมาส 2/67 ด่วน หวั่นปัญหาลูกหนี้การค้าลุกลามกระทบสภาพคล่อง ผวา NEX ค้างจ่ายหนี้กว่า 6,794 ล้านบาท ส่วน BYD โดนปัญหาเดียวกัน หลังบริษัท ไทย สมายล์ บัส ขอพักชำระหนี้ 9,697 ล้านบาท ไม่มีกระแสเงินสดจากดอกเบี้ยรับ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (18 ก.ย.67) ณ เวลา 10:03 น. ราคาหุ้น บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA อยู่ที่ระดับ 8.75 บาท ลบ 0.55 บาท หรือ 5.91% สูงสุดที่ระดับ 9.05 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 8.60 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 645.09 ล้านบาท

ด้านราคาหุ้น บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BYD อยู่ที่ระดับ 1.56 บาท ลบ 0.08 บาท หรือ 4.88% สูงสุดที่ระดับ 1.57 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 1.52 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 37.65 ล้านบาท

โดยราคาหุ้น EA และ BYD ยังปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากวานนี้ หลังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ทั้งสองบริษัทชี้แจงงบไตรมาส 2/67 เนื่องจากกังวลสภาพคล่องของทั้งสองบริษัทอาจมีปัญหาจากลูกหนี้การค้า

ทั้งนี้ ลูกหนี้ค้างชำระส่วนใหญ่เป็นการขายรถให้บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX ซึ่งได้ยกเลิกการเพิ่มทุน โดยอาจกระทบต่อการบันทึกค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน และสภาพคล่องของ EA อย่างมีนัยสำคัญ จึงขอให้ชี้แจงข้อมูลผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในวันที่ 1 ต.ค.67 โดยขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลงบการเงินของ EA และติดตามคำชี้แจงของบริษัท

ขณะที่ EA ระบุว่า ในงวด 6 เดือนแรกปี 67 มีลูกหนี้การค้ากิจการที่เกี่ยวข้องกันมีจำนวน 6,794 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 66 และ 65 ที่มี 5,526 ล้านบาท และ 3,452 ล้านบาท ตามลำดับ โดยเป็นหนี้ค้างชำระทั้งหมด 6,616 ล้านบาท แบ่งเป็นค้างเกิน 3-12 เดือน จำนวน 4,480 ล้านบาท ค้างเกิน 12 เดือน จำนวน 912 ล้านบาท ส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ มีจำนวน 133 ล้านบาท

โดยรายได้จากธุรกิจยานยนต์ เป็นหนึ่งในรายได้หลักของบริษัท คิดเป็น 38% และ 22% ของรายได้ขายปี 66 และ 6 เดือนปี 67 แต่ลูกหนี้กิจการที่เกี่ยวข้องกันเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเกือบทั้งหมดค้างชำระเกิน 3 เดือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยอดค้างชำระจาก NEX

ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้คณะกรรมการบริษัทให้ความเห็นในประเด็น ดังนี้

1) ความเพียงพอที่บริษัทบันทึกค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ 2% ของยอดหนี้ค้างชำระ

2) นโยบายและมาตรการติดตามลูกหนี้การค้าที่ค้างชำระ ผลกระทบต่อฐานะการเงิน สภาพคล่อง และการดำเนินธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าของ AAB และ EA

3) รูปแบบในการดำเนินธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าของ EA ในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันที่ขายผ่าน NEX ตามรูปแบบข้างต้นหรือไม่ อย่างไร รูปแบบดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทอย่างไร

4) นโยบายการดำเนินธุรกิจและผลประกอบการของ บริษัท เปย์ป๊อป ซึ่งเป็นบริษัทย่อย 100% และมาตรการติดตามการดำเนินธุรกิจของบริษัทย่อย

แหล่งข่าวจาก EA เปิดเผยว่า กรณีของตลาดฯ ให้ชี้แจงงบไตรมาส 2/67 นั้น บริษัทขอแจ้งว่า งบดังกล่าวได้ผ่านการตรวจสอบตามมาตรฐานบัญชีและตามระเบียบของตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมด ส่วนกรณีหนี้การค้าของ NEX ได้มีการทำหนังสือทวงถามไปก่อนหน้านี้แล้ว

หวั่นสภาพคล่อง BYD มีปัญหา

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ขอให้ BYD ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินไตรมาสที่ 2 ปี 67 ซึ่งมีรายได้หลักมาจากดอกเบี้ยรับเงินให้กู้ยืมกับบริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด (TSB) คิดเป็น 65% ของรายได้โดย TSB ขอพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 ปีส่งผลให้งวด 6 เดือนปี 67 บริษัทไม่มีกระแสเงินสดจากดอกเบี้ยรับ ซึ่งอาจกระทบต่อฐานะการเงิน การตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ผลการดำเนินงานและสภาพคล่องของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ จึงขอให้ชี้แจงข้อมูลผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในวันที่ 1 ต.ค.67 โดยขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลงบการเงินของ BYD และติดตามคำชี้แจงของบริษัท

โดยงวด 6 เดือนปี 67 พบเงินให้กู้ยืมกับ TSB จำนวน 9,697 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 65 และปี 66  มีจำนวน 8,550 ล้านบาท และ 9,150 ล้านบาท ตามลำดับ และดอกเบี้ยค้างรับจาก TSB งวด 6 เดือนปี 67 จำนวน 285 ล้านบาท เพิ่มจากปี 66 ที่มี 4 ล้านบาท

ทั้งนี้ เงินให้กู้ยืมคิดเป็น 77% ของสินทรัพย์รวม โดยมีการวางหลักประกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหุ้นของบริษัทที่มีส่วนผู้ถือหุ้นติดลบ ทำให้มูลค่าหลักประกันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และ TSB ได้พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 ปี เริ่มชำระ 31 ม.ค.70

ขณะที่รายได้หลักของ BYD มาจากดอกเบี้ยจาก TSB แต่ไม่ได้รับชำระดอกเบี้ยตั้งแต่ต้นปี 67 ส่วนหลักประกันเป็นหุ้น บ.เอช อินคอร์ปอเรชั่น (ACE) บ.สมาร์ทบัส บ.ไทยสมายล์ โบ้ท และ บ.เบลี่ เซอร์วิส ซึ่งในปี 66 มีผลขาดทุนทุกบริษัทเว้น บ.เบลี่ เซอร์วิส

ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้คณะกรรมการบริษัทให้ความเห็นในประเด็น ดังนี้

1) ผลกระทบจากการพักชำระหนี้ให้กับ TSB ต่อฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน และสภาพคล่องของบริษัท

2) นโยบายการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของเงินให้กู้ยืมกับ TSB เนื่องจากปี 66 TSB มีผลการดำเนินงานขาดทุนและส่วนผู้ถือหุ้นติดลบ

3) ความเพียงพอของมูลค่าหลักประกันเงินให้กู้ยืมกับ TSB และมาตรการดูแลความเสี่ยงและการดำเนินการของบริษัทในการดูแลลูกหนี้ TSB

Back to top button