พาราสาวะถี

ยังไร้สัญญาณตอบรับเชิงบวกผ่านผลการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นนายก อบจ.หลายจังหวัด หรือแม้แต่เลือกตั้งซ่อม สส.เขต 1 พิษณุโลก


ยังไร้สัญญาณตอบรับเชิงบวกผ่านผลการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นนายก อบจ.หลายจังหวัด หรือแม้แต่เลือกตั้งซ่อม สส.เขต 1 พิษณุโลกเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา สวนกระแสกับโพลของหลายสำนักที่ระบุว่าความนิยมของพรรคประชาชนที่ต่อยอดมาจากก้าวไกล สืบทอดมรดกมาจากอนาคตใหม่ยังคงพุ่งสูง โดยเฉพาะกับการเลือกตั้งซ่อมล่าสุดที่มหาวิทยาลัยดังในพื้นที่ฟันธงโค้งสุดท้าย เสียงสนับสนุนของผู้สมัครจากพรรคแกนนำฝ่ายค้านทิ้งคู่แข่งจากเพื่อไทยขาดลอย

ผลออกมาอย่างที่เห็นเป็นไปในทิศทางตรงข้าม พรรคแกนนำรัฐบาลที่ส่ง “บู้” จเด็ศ จันทรา ลงชิงชัยกับ “โฟล์ค” ณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์ ที่อุตส่าห์ลงทุนไปฝังตัวอยู่กับพรรคถิ่นกาขาวชาววิไลเพื่อให้อายุการเป็นผู้สมัครพรรคครบตามที่กฎหมายกำหนด หวังรักษาพื้นที่แทน “หมออ๋อง” ปดิพัทธ์ สันติภาดา ที่กระเด็นตกเก้าอี้จากที่พรรคก้าวไกลถูกยุบ ชัยชนะที่ทิ้งขาดแถมเป็นการกลับมาได้ สส.เขต 1 พิษณุโลกในรอบ 20 ปีของพรรคนายใหญ่ แกนนำรีบประกาศทันทีนี่คือสัญญาณความไว้วางใจ สนับสนุนรัฐบาลของประชาชน

ขณะที่บรรดานักวิเคราะห์ต่างพากันมองว่า เหตุผลที่พรรคแกนนำรัฐบาลคว้าชัยได้หนนี้ เป็นเพราะมีการระดมพลบ้านใหญ่แบบเฉพาะกิจช่วยผู้สมัครหาเสียงแบบถึงลูกถึงคน มันก็พอฟังได้ แต่อย่าลืมว่า บรรดาเกจิทางการเมืองทั้งหลายต่างเชื่อมั่นว่า การเมืองยุคใหม่กระแสของพรรคเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าการใช้บารมีของบ้านใหญ่ ซึ่งก็ดูย้อนแย้งกันเป็นอย่างยิ่ง หากจะมองให้ใกล้เคียงความเป็นจริงน่าจะเป็นไปในทำนองที่ว่า ประชาชนอยากเห็นการเดินไปข้างหน้า ต้องการให้รัฐบาลได้ทำงานเพื่อแก้ปัญหาชีวิตที่กำลังเผชิญกันอยู่อย่างหนักหน่วงมากกว่า

อย่าลืมว่า นับตั้งแต่รัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน เข้ามาทำงาน หลายโครงการตั้งท่าจะเดินหน้าแต่ก็ถูกยื้อยุดฉุดดึงด้วยสารพัดวิธี จากความหวังที่จะได้เห็นการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ต้องมาผจญกับการเอาชนะคะคานกันทางการเมือง ดังนั้น เมื่อ แพทองธาร ชินวัตร เข้ามาแตะมือต่อ ผลของการเลือกตั้งที่ออกมา แม้จะเป็นเพียงแค่เขตเดียว ก็น่าจะพอเป็นภาพสะท้อนได้ว่า แท้จริงแล้วประชาชนไม่ได้สนใจกระแส แต่อยากให้ทุกฝ่ายใส่ใจต่อความเดือดร้อน สภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่มากกว่า

นับเป็นโจทย์ทางการเมืองของแกนนำพรรคประชาชนที่ต้องนำไปวิเคราะห์ แนวทางที่ทำกันอยู่ยังคงใช้ได้ และจะเดินกับแบบนี้หรือไม่ หรือต้องปรับแก้ตรงจุดไหน เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทยใช่ว่าการชนะเลือกตั้งครั้งนี้แล้ว จะกลายเป็นต้นแบบหรือบทสรุปว่า ประชาชนพอใจ และจะทำให้คะแนนนิยมกลับคืนมา หนทางยังอีกยาวไกล เอาแค่เฉพาะหน้าสารพัดเรื่องร้องเรียนในมิตินิติสงคราม ไม่มีใครการันตีได้ว่า อุ๊งอิ๊งจะปลอดภัยได้ทุกเรื่อง

นอกเหนือจากทีมกฎหมายของรัฐบาลที่มี ชูศักดิ์ ศิรินิล เป็นกุนซือใหญ่ พร้อมทั้งทีมกฎหมายของพรรคแล้ว ว่ากันว่า ทักษิณ ชินวัตร ผู้มีอำนาจตัวจริงเสียงจริง ได้มีการหารือกับนักกฎหมายมือฉมังหลายรายเพื่อเข้ามาเสริมทีม วิเคราะห์ แก้ทาง แก้ต่าง ในแต่ละเรื่องที่ลูกสาวถูกเล่นงาน รวมทั้งการหาทางที่จะใช้นิติสงครามเอาคืนฝ่ายที่ตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์ด้วย จากปมคลิปเสียงที่หลุดออกมานั่นเป็นเพียงแค่น้ำจิ้ม ยังมีอีกหลายเรื่องที่จะต้องปะฉะดะกันตลอดอายุของรัฐบาลแพทองธาร

ทั้งนี้ น่าสนใจว่า หากมองการเมืองหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 คล้ายกับว่าเป็นการจุดประกาย สร้างความหวังของการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่ใช่การเมืองน้ำเน่า จมปลักกับการสาดโคลน ให้ร้ายป้ายสีเพื่อหวังผลทางการเมืองเหมือนในอดีต พลันที่เกิดรัฐบาลพลิกขั้ว จนกระทั่งมาเป็นรัฐบาลปัจจุบัน การอภิปรายนโยบายของซีกฝ่ายค้านเห็นได้ชัดว่าเป็นการระบายความคับข้องหมองใจ ที่เรียกว่า “ความแค้น” มุ่งไปที่การซัดทอด โจมตีตัวบุคคลโดยเฉพาะนายกฯ กับอดีตนายกฯ ผู้เป็นพ่อ มากกว่าการตรวจสอบ และเสนอแนะแนวทางที่เคยเป็นความโดดเด่นเหมือนที่เคยทำมา

ไม่แน่ใจว่า ท่วงทำนองในลักษณะนี้ด้วยหรือไม่ ที่ส่งผลไปถึงการเลือกตั้งซ่อมพิษณุโลก อย่าลืมเป็นอันขาด หากต้องการได้รับความสงสารจากการเป็นผู้ถูกกระทำ ก็ต้องแสดงออกในทิศทางที่ควรจะเป็น ตามแนวทางอันเป็นหลักการ และจุดยืนของพรรค ไม่ใช่แสดงความสุดโต่ง ท้าทาย และท้าตีท้าต่อย จนถูกมองเหมือนเป็นพวกชวนทะเลาะ แบบนี้กระแสย่อมตีกลับ จากที่นิยมชมชอบ มันจะกลายเป็นหมั่นไส้จนถูกลงโทษไปเสียฉิบ 

กระบวนการจัดทัพจัดแถวภายในกองทัพบทพิสูจน์ฝีมือของ “ขงเบ้งอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย จะเห็นได้จากโผการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปีนี้ที่มีปัญหาในส่วนของกองทัพเรือ หากทุกอย่างจบได้ภายในสิ้นเดือนนี้ แสดงว่าการวางตัวบุคคลมาคุมกองทัพถูกฝาถูกตัว อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาแรงกระเพื่อมหลังจากที่ได้มีการวางตัวข้าราชการการเมืองที่จะมาช่วยงานที่อาจจะเป็นจุดอ่อนไหว ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจกันระหว่างกองทัพกับพรรคแกนนำรัฐบาลได้

เริ่มตั้งแต่เก้าอี้เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่บิ๊กอ้วนเปิดชื่อมาแล้วคือ พลเอก ไตรศักดิ์ อินทรรัศมี อดีตผู้ทรงคุณวุฒิ กองบัญชาการกองทัพไทย เตรียมทหารรุ่น 10 ที่เป็นรุ่นเดียวกับนายใหญ่ และคาดหมายว่าที่ปรึกษา รมว.กลาโหมคงหนีไม่พ้นเพื่อนรุ่นเดียวกันอย่าง พลเอก วรวิทย์ ชินะนาวิน ที่เคยนั่งเลขานุการรัฐมนตรีกลาโหมมาแล้วในยุครัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นธรรมดาที่ว่างานการเมืองต้องเลือกใช้บริการคนที่ไว้ใจได้เท่านั้น

แต่อย่าลืมว่า รอบนี้ไม่ได้มีแค่รัฐมนตรีว่าการ แต่ยังมีรัฐมนตรีช่วย พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ คนสนิทน้องรักของอดีตผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ที่น่าจะเข้ามาเพื่อประสานความร่วมมือภายในกองทัพให้เป็นปึกแผ่น หลังจากที่เกิดความบาดหมาง ขัดแย้งกันมากว่า 10 ปี นับแต่เผด็จการ คสช.ครองอำนาจ ส่วนเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายการที่มี 7 เสือกลาโหมเป็นผู้พิจารณาเห็นชอบนั้น ย่อมทำให้ฝ่ายการเมืองไม่สามารถทำตามอำเภอใจ จึงน่าจะลดแรงปะทะปะทังกันได้ในระดับหนึ่ง ที่สำคัญการจัดแถวกันรอบนี้ทั้งฝ่ายการเมืองและฝั่งกองทัพต่างรู้ดีว่า ต้องไม่ทำให้สร้างปัญหากับบ้านเมือง และไปข้องแวะกับการเมืองเหมือนในอดีตอีก

อรชุน

Back to top button