Google กับ (อีก) ข้อหาผูกขาด.!

หลังจากศาลตัดสินให้โปรแกรมค้นหาของ Google เป็นการทำธุรกิจแบบผูกขาดที่ผิดกฎหมาย ผ่านไปเพียงแค่ 1 เดือนเท่านั้น Google ต้องเผชิญหน้ากับข้อกล่าวหาใหม่


หลังจากศาลตัดสินให้โปรแกรมค้นหา (Search Engine) ของ Google เป็นการทำธุรกิจแบบผูกขาดที่ผิดกฎหมาย ผ่านไปเพียงแค่ 1 เดือนเท่านั้น Google ต้องเผชิญหน้ากับข้อกล่าวหาใหม่ ว่าด้วยเรื่องการใช้เทคโนโลยีการโฆษณา ที่ครั้งนี้อาจทำให้จำเป็นต้องแยกบริษัทย่อยออกมา

ช่วงต้นสัปดาห์ก่อนที่เมืองอเล็กซานเดรีย รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา กระทรวงยุติธรรมร่วมกับพันธมิตรจากรัฐต่าง ๆ และ Google แถลงต่อหน้าผู้พิพากษาศาลส่วนกลาง ที่จะเป็นผู้ตัดสินว่า Google ผูกเทคโนโลยีสำหรับโฆษณาออนไลน์ไว้หรือ ไม่.!!

โดยหน่วยงานควบคุมดูแลให้การว่า Google ได้พัฒนา จัดซื้อและดูแลการทำธุรกิจแบบผูกขาดในเทคโนโลยี ที่ใช้จับคู่ผู้ให้บริการออนไลน์กับบริษัทโฆษณา การที่ Google มีอำนาจเหนือผู้ให้บริการซอฟต์แวร์นั้น ทำให้ Google สามารถทำกำไรได้ มากถึง 36% ทุกครั้งที่มีการซื้อขายระหว่างผู้ให้บริการกับบริษัทโฆษณา นอกจากนี้หน่วยงานกำกับดูแล ระบุว่า Google ยังควบคุมซื้อขายโฆษณาที่คอยจับคู่ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายด้วยเช่นกัน

ขณะที่ Google ตอบโต้กลับว่าข้อกล่าวหาของรัฐบาล ยังยึดติดอยู่กับยุคที่ผู้ใช้ยังใช้อินเทอร์เน็ตผ่านคอมพิวเตอร์ ที่ต้องพิมพ์คำสำคัญลงไปในช่องค้นหา ขณะที่บริษัทโฆษณายุคปัจจุบันส่วนใหญ่ หันไปโฆษณาผ่านโซเชียลมีเดีย อย่าง TikTok หรือระบบสตรีมมิ่งอย่าง Peacock แทน

“ปีเตอร์ โคฮาน” ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย Babson College ระบุว่า คดีดังกล่าวอาจสร้างความเสียหายรุนแรงต่อ Google โดยอาจมีการบังคับให้ Google จำเป็นต้องขายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการโฆษณา ถือเป็นส่วนที่สร้างรายได้มากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีออกไป

ทั้งนี้ Google ได้รับแรงกดดันจากหน่วยงานควบคุมการแข่งขันทางธุรกิจสหราชอาณาจักร โดยหน่วยงานกำกับกล่าวหาบริษัทเกี่ยวกับการใช้อำนาจในตลาดโฆษณาออนไลน์ เพื่อสร้างความได้เปรียบแก่บริการของตนเอง

ช่วงปีที่ผ่านมาหน่วยงานป้องกันการผูกขาดของสหภาพยุโรป มีการสืบสวนและรายงานว่าการแยกบริษัทย่อยเป็นทางเดียว ที่จะตอบสนองข้อกังวลด้านการแข่งขันเกี่ยวกับธุรกิจโฆษณาดิจิทัลของบริษัทได้

การไต่สวนที่เวอร์จิเนีย พยานฝั่งรัฐบาล ประกอบด้วยผู้บริหารหลายรายจากสื่อหนังสือพิมพ์ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของ Google โดย “ทิม วูฟล์” ผู้อำนวยการของสำนักพิมพ์กานเน็ต เจ้าของหนังสือพิมพ์อย่างยูเอสเอทูเดย์ พยานคนแรกของฝั่งรัฐบาลให้การว่า สำนักพิมพ์รู้สึกว่าไม่มีทางเลือกอื่น ๆ นอกจากต้องใช้ผลิตภัณฑ์ของ Google ในการโฆษณา ถึงแม้ว่าจะถูกเก็บค่าบริการ 20 เซนต์ ทุก ๆ ครั้งที่มีการซื้อโฆษณา

นั่นยังไม่รวมถึงค่าบริการที่ Google เก็บจากบริษัทโฆษณาอีก และสำนักพิมพ์ไม่อาจทิ้งสิทธิการเข้าถึงนักโฆษณากลุ่มใหญ่จากบริการของ Google ได้

ช่วงระหว่างการถามค้าน “วูฟล์” ยอมรับว่า ถึงแม้ Google จะมีการผูกขาดเรื่องโฆษณาออนไลน์ แต่สำนักพิมพ์กานเน็ตยังสามารถร่วมงานกับบริษัทคู่แข่งเพื่อขายพื้นที่โฆษณาได้

นอกจากนี้ฝั่งรัฐบาลพยายามใช้คำพูดของพนักงาน Google ในการต่อกรทางคดีกับ Google เองด้วย

อย่างกรณีช่วงเปิดศาลทนายของกระทรวงยุติธรรม ได้หยิบเอาอีเมลของพนักงาน Google ที่ระบุถึงความกังวลจากการที่ได้ทำการผูกขาดธุรกิจจากทั้งสามฝั่ง จะกลายเป็นปัญหาหนักหรือไม่…โดย Google ยืนกรานว่า การร่วมกันระหว่างเทคโนโลยีในฝั่งของผู้ซื้อ ผู้ขายและคนกลาง เพื่อความสะดวกและความปลอดภัยของโฆษณาบนเว็บไซต์

สำหรับ Google นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคดีความต่าง ๆ ที่ต้องเผชิญรอบกว่าทศวรรษที่ผ่านมา แต่เชื่อว่า Google ต้องเผชิญต่ออีกหลายคดีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  

Back to top button