AAV ควบ “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” จับตาใช้สูตรแลกหุ้น หวังดันกำไรทะลุ 3 พันล้านบาท

ระทึก! AAV ควบกิจการ “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” จับตาใช้สูตรแลกหุ้น (Share Swap) ออกหุ้นเพิ่มทุนราคาใกล้เคียงกระดาน ลดผลกระทบไดลูท หลังควบดันกำไรทะลุ 3,000 ล้านบาท แถมมีลุ้นจ่ายปันผลพิเศษ ส่วนระยะกลาง-ยาว ช่วยเพิ่มศักยภาพฝูงบินแข็งแกร่ง-บริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ฟาก “ธรรศพลฐ์” ยังปฏิเสธ! วงในระบุดีลจบกลางเดือน ต.ค. หรืออย่างช้าภายในปีนี้


แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมการบิน เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV (เจ้าของสายการบินไทยแอร์เอเชีย) กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาและจัดทำแผนการควบรวมกิจการกับบริษัท ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จำกัด (เจ้าของสายการบินแอร์เอเชีย เอ็กซ์) โดยกระบวนการควบรวมจะเกิดขึ้นช่วงเดือน ต.ค. 2567 หรืออย่างช้าไม่เกินภายในปีนี้

โดยเบื้องต้นรูปแบบการควบรวมกิจการครั้งนี้จะใช้วิธีการแลกหุ้น (Share Swap) โดย AAV จะมีการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนหนึ่งเพื่อใช้แลกหุ้นไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ส่วนจำนวนหุ้นและราคาหุ้นที่จะใช้แลกหุ้นยังไม่มีการสรุป แต่ประเมินว่าราคาจะใกล้เคียงกับราคากระดาน เพื่อลดการเกิดไดลูทชันกับผู้ถือหุ้น และหลังธุรกรรมควบรวมกิจการแล้วเสร็จ ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จะเข้ามาอยู่ภายใต้การบริหารจัดของ AAV ต่อไป

แหล่งข่าวจากผู้ใกล้ชิดของดีลนี้ กล่าวว่า หลังควบรวมกิจการ AAV จะมีการบันทึกกำไรจากไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เข้ามารวมกับกำไรของ AAV โดยข้อมูลจาก LSEG CONSENSUS ประมาณการว่าปี 2567 AAV จะมีรายได้อยู่ที่ 50,965 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,238 ล้านบาท ราคาเป้าหมาย 2.91 บาท (จาก 6 โบรกเกอร์)

ส่วนไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด เนื่องจากอยู่ระหว่างฟื้นฟูกิจการ แต่แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับดีลนี้ระบุอีกว่า ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จะมีกำไรสุทธิประมาณ 800-1,000 ล้านบาท

จากตัวเลขดังกล่าวจะทำให้ AAV กำไรปกติพุ่งขึ้นเป็น 3,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 50% ถือว่าเป็นการชดเชยไดลูทชันเอฟเฟกต์จากการเพิ่มทุนดังกล่าว พร้อมกันนี้หลังการควบรวม AAV อาจมีการพิจารณาจ่ายปันผลพิเศษให้กับผู้ถือหุ้นเพื่อชดเชยการถูกไดลูทอีกทางหนึ่งด้วย

ส่วนการบริหารจัดการสายการบินไทยแอร์เอเชียและไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จะมีการปรับเส้นทางบินเพื่อไม่ให้เกิดความซับซ้อน โดยไทยแอร์เอเชียจะเป็นสายการบินในประเทศและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จะบินในเส้นทางที่ไกลกว่า อาทิ ประเทศญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ เป็นต้น

นอกจากนี้ สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นทันทีนั่นคือการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ (Cost Efficiency) เนื่องจากมีการลดต้นทุนภายใน อาทิ พนักงานส่วนกลางทั้ง 2 บริษัทสามารถใช้ร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นเคาน์เตอร์การให้บริการ, พื้นที่เก็บของคลังสินค้า เป็นต้น

โดยมีลักษณะคล้ายคลึงกับธนาคารทหารไทย (TMB) และธนาคารธนชาต (TCAP) ที่ควบรวมกิจการ กลายมาเป็นธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB ที่มีการปรับลดจำนวนสาขาที่ทับซ้อนกัน ทำให้ต้นทุนการบริหารจัดการปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

“หากไทยแอร์เอเชียควบรวมกับไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ได้ จะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบริหารฝูงบินที่ยืดหยุ่นระหว่างการใช้เครื่องบินที่มีขนาดต่างกัน การบริหารตารางการบิน (สล็อตบิน) ให้เชื่อมกันได้ดีขึ้น ทำให้การบินในเส้นทางใหม่ ๆ จะสามารถทำได้ ผ่านการยืดหยุ่นในการใช้เครื่องบินให้สอดคล้องกับดีมานด์ของผู้โดยสารในแต่ละช่วงเวลา อย่างช่วงเทศกาล ไทยแอร์เอเชียอยากจะเพิ่มจำนวนที่นั่งเครื่องบินก็ไม่สามารถทำได้ เพราะใช้เครื่องบินเล็ก แต่ถ้ามีเครื่องบินของไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์มารวม ก็จะทำให้ใช้เครื่องที่ใหญ่กว่าทำการบิน เพื่อจะขายได้มากขึ้น” แหล่งข่าว ระบุ

สำหรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัท ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จำกัด ล่าสุดประกอบด้วย 1)บริษัท เร้ด เอวิเอชั่น จำกัด ถือหุ้น 49.56% 2)แอร์เอเชีย เอ็กซ์ เบอร์ฮัด ถือหุ้น 49.00% 3)ปฐมภพ ชื่นพาณิชย์กิจ ถือหุ้น 0.72% 4)นายกฤษฎา วงศ์จันทร์ดา ถือหุ้น 0.36% 5)นายสุริยา เทพาคำ ถือหุ้น 0.36% โดยมีคณะกรรมการบริษัทคือ 1)นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ 2)ศิริมาศ ปรศุพัฒนา 3)นายกล้า เนื่องนรา 4)นายแฟม ลี อี 5)นายเบนจามิน บิน อิสเมล 6)นายพิตตินันท์ อินทรศักดิ์ 7)นางภัทรา บุศราวงศ์

ด้าน นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ และกรรมการบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ผู้ถือหุ้นใหญ่ในสายการบินไทยแอร์เอเชีย เปิดเผยถึงกรณีมีกระแสข่าวว่าไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์จะมีการควบรวมกิจการกับไทยแอร์เอเชียว่า ขอยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะจากการพิจารณาและศึกษารายละเอียดธุรกิจแล้ว ทั้ง 2 บริษัท ไม่สามารถที่จะควบรวมกันได้อย่างแน่นอน เนื่องจากได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC) ที่แตกต่างกัน และได้ตารางการบิน (Slot) ที่แตกต่างกัน หากมีการควบรวมก็จะเกิดปัญหาในการให้บริการ

“ยืนยันว่าเราไม่สามารถควบรวมกันได้แน่นอน เพราะทั้ง 2 แอร์ไลน์ได้รับใบอนุญาตคนละใบ, Slot ก็ต่างกัน ยังไงก็ต้องแยกบริษัทกัน จะมาบริหารจัดการร่วมกันก็คงยาก ดังนั้นยืนยันว่าไม่สามารถควบรวมกันได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต” นายธรรศพลฐ์ กล่าว

สำหรับสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ (เที่ยวบินรหัส XJ) พร้อมกลับมาให้บริการทุกเที่ยวบินที่ท่าอากาศยานดอนเมือง (DMK) ตั้งเเต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป โดยเที่ยวบินตรงเข้าออกกรุงโซล (ประเทศเกาหลีใต้) โตเกียว โอซาก้า นาโกย่า ซัปโปโร (ประเทศญี่ปุ่น) เซี่ยงไฮ้  (ประเทศจีน) และซิดนีย์ (ประเทศออสเตรเลีย) โดยไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เชื่อมั่นการกลับมาให้บริการที่ดอนเมืองเป็นโอกาสเชื่อมต่อกับเครือข่ายการบินที่หลากหลาย ทั้งภายในเเละระหว่างประเทศกับแอร์เอเชีย สะดวก สบาย และเดินทางเข้าสู่เมืองได้ง่ายขึ้น

โดยปัจจุบันไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ มีฝูงบินแอร์บัส เอ 330 รวม 8 ลำ ทยอยเพิ่มเป็น 11 ลำ ณ สิ้นปี 2567 หลังจากนั้นวางเเผนรับเครื่องบินเพิ่มปีละ 3-5 ลำ เพื่อเพิ่มความถี่เเละเปิดบินเส้นทางใหม่ ๆ เติบโตต่อเนื่อง

ขณะที่ สายการบินไทยแอร์เอเชียจะมีจำนวนเครื่องบินเพิ่มเป็น 60 ลำ ภายในไตรมาส 4/2567 โดยให้บริการเส้นทางการบินในประเทศ เช่น เชียงใหม่, เชียงราย, อุบลราชธานี, อุดรธานี, ขอนแก่น, หาดใหญ่, ภูเก็ต เป็นต้น ส่วนเส้นทางในต่างประเทศ เช่น เวียดนาม, กัมพูชา, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์, อินเดีย, สปป.ลาว, มาเลเซีย เป็นต้น

ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ประเมินแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 3/2567 ของ AAV ว่าจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในไทยและภูมิภาค จะเป็นปัจจัยหนุนทำให้จำนวนผู้โดยสารรวม, Load Factor และค่าบัตรโดยสารเฉลี่ยเติบโตดี จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและสามารถทรงตัวจากไตรมาส 2/2567 แม้เป็น Low Season ก็ตาม

อีกทั้ง AAV ได้รับเครื่องบินใหม่ 2 ลำช่วงกลางปี 2567 ซึ่งเครื่องบินรุ่น A321neo ที่รับมามีจำนวนที่นั่งมากกว่าเดิม 50 ที่นั่ง และประหยัดน้ำมันได้ดีกว่ารุ่นเดิมประมาณ 20-30% ทำให้บริษัทมีประสิทธิภาพการให้บริการมากขึ้นและขยายฝูงบินทำให้ AAV สามารถบริหารเส้นทางและจำนวนเที่ยวบินตามดีมานด์ได้ดีขึ้น ดังนั้นจึงคาดการณ์ว่ากำไรปกติไตรมาส 3/2567 จะพลิกมีกำไรเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี โดยคงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเหมาะสมกลางปี 2568 ที่ 3.70 บาท

Back to top button