โรงเผาขยะกลางเมือง

ช่วงต้นก.ย.ที่ผ่านมา ปตท.ยุคดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ภายใต้คำขวัญกำกับแนวทางการดำเนินงานใหม่ว่า “ปตท.ต้องแข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตระดับโลกอย่างยั่งยืน” ได้นำพาสื่อมวลชนอาวุโสไปดูงานอันทรงคุณค่ายิ่ง ณ ประเทศญี่ปุ่น


ช่วงต้นก.ย.ที่ผ่านมา ปตท.ยุคดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ภายใต้คำขวัญกำกับแนวทางการดำเนินงานใหม่ว่า “ปตท.ต้องแข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตระดับโลกอย่างยั่งยืน” ได้นำพาสื่อมวลชนอาวุโสไปดูงานอันทรงคุณค่ายิ่ง ณ ประเทศญี่ปุ่น

ทั้งโรงงานวิจัยและผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจน และโรงงานเผาขยะเพื่อผลิตไฟฟ้าที่ตั้งอยู่กลางชุมชนโดยไม่ก่อมลภาวะทั้งปวง

โรงงานแรก “โคมิคูระยามา” ณ เมืองยามานาชิ เป็นศูนย์กลางวิจัยและพัฒนาการผลิตไฮโดรเจนเขียวโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์มาเดินเครื่องแยก H2 ไฮโดรเจนและ O2 ออกซิเจนออกจากน้ำบริสุทธิ์โดยเทคโนโลยี PEM (ตัวกั้นระหว่างขั้วไฟฟ้าทั้งสอง)

คณะดูงานได้เห็นกับตาว่า การผลิตพลังงานไฮโดรเจนผ่านการแยกน้ำ H2O เพื่อนำมาใช้ในกิจการขนส่งและอุตสาหกรรมนั้น เป็นพลังงานสะอาดที่สามารถทำได้จริง แต่ก็ยังต้องมีการพัฒนาทางเทคโนโลยีให้สมบูรณ์ขึ้น อีกมาก โดยเฉพาะต้นทุนที่สูงกว่าพลังงานฟอสซิลประมาณ 3 เท่า

ตู้จัดเก็บพลังงานไฮโดรเจนมีขนาดใหญ่มากเท่าโต๊ะทำงาน แต่มีความจุเพียงแค่ 30 กก.มากกว่าถัง NGV ความจุ 25 กก.เพียงเล็กน้อย คงนำไปติดตั้งในรถเคลื่อนที่ไปไหนไม่ได้หรอก

โรงงานที่ 2โรงเผาขยะเมกุโระ” เป็น 1 ใน 24 โรงงานเผาขยะของมหานครโตเกียว เผาขยะที่ผ่านการคัดแยกมาแล้วในส่วนที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้และไม่ใช่ขยะมีพิษ วันละประมาณ 600 ตัน

ระบบเผาเป็นระบบปิด ความร้อนที่เกิดขึ้นระหว่างการเผาขยะ จะถูกนำไปผลิตเป็นไอน้ำใช้ในการหมุนกังหันเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้

และมีเทคโนโลยีควบคุมการปล่อยมลพิษ อาทิอุปกรณ์ดักจับอนุภาคในก๊าซไอเสียด้วยไฟฟ้าสถิต การกำจัดก๊าซกรดเช่น SO2 และไฮโดรเจนคลอไรด์ การลดมลพิษไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) และการควบคุมไดออกซิน

เถ้าก้นเตา” หรือเศษที่เหลือจากการเผา จะถูกนำมาบำบัดและสามารถรีไซเคิลเพื่อใช้ในวัสดุก่อสร้าง เช่นซีเมนต์หรือฐานถนน

โรงงานที่ 3 “โรงเผาขยะซูรูมิ” ณ เมืองโยโกฮามา เป็นโรงงานต้นแบบในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์และนำ CO2 กลับมาใช้ใหม่ (Carbon Capture & Utilization-CCU) มีกำลังผลิตในการดักจับ CO2 จากการเผาขยะถึง 0.3 ตัน/วัน

นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับคันไซ อิเลคทริค เพาเวอร์ และคันไซ มิตซูบิชิ ผลิตสารละลายเอมีน KS-1สำหรับกำจัด CO2 จากไอเสียของก๊าซจากการเผาไหม้ โดยเทคโนโลยีนี้สามารถดักจับ CO2 ได้มากกว่า 90% คาร์บอนที่จับได้จะถูกขนส่งไปยังโตเกียว ก๊าซ โยโกฮามา เทคโนเพื่อใช้ในการผลิตเมทาเนชันต่อไป

โรงเผาขยะทั้ง 2 โรงดังกล่าวของญี่ปุ่น ไม่มีภาพอุจาดของ “ภูเขาขยะ” ที่เกิดจากการเทกองเช่นที่ซอยอ่อนนุชและส่งกลิ่นเหม็นไปทั้งซอยให้เห็น แต่เป็นโรงงานในระบบปิด ที่เผาขยะสดที่ผ่านการแยกมาทุกวัน และมีการควบคุมการปล่อยมลพิษอย่างเข้มงวด รวมทั้งการดักจับคาร์บอน

จึงเป็นโรงงานเผาขยะที่สะอาด ไร้กลิ่นเหม็น และตั้งอยู่กลางชุมชนได้ โดยปราศจากการต่อต้านจากประชาคม

สำหรับปตท.ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ ภารกิจหลักยังคงมุ่งเน้นธุรกิจไฮโดรคาร์บอน แต่ก็ต้องมุ่งแสวงหาพลังงานสะอาด และเทคโนโลยีในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการดักจับคาร์บอนและหาที่จัดเก็บ ควบคู่กันไปด้วย

เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของปตท.ปี ค.ศ. 2040 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) ปี 2050 ก็ยังคงเข้มข้น โดยปฏิบัติการลดทอนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงทุกปีนับแต่บัดนี้

ชาญชัย สงวนวงศ์

Back to top button