ACAP แจงคลิปฉาว! ผู้บริหารบุกทวงหนี้ “พีเพิล โซไซตี้” หลังเบี้ยวจ่าย 481 ล้านบาท

ACAP แจงคลิปวิวาทะเดือดของผู้บริหาร เป็นการใช้สิทธิทวงหนี้ตามกฎหมายจาก “พีเพิล โซไซตี้” หลังเบี้ยวหนี้ 481 ล้าน โดยการเข้าบังคับคดีให้ลูกหนี้ส่งมอบพื้นที่ “ห้างพิเพิล พาร์ค” ตามคำสั่งศาล


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ สำนักข่าวหลายสำนักนําเสนอคลิปวีดีโอเกี่ยวกับการเข้าพื้นที่ ห้างพีเพิลพาร์ค ซึ่งได้นําเจ้าพนักงานบังคับคดีสำนักงานบังคับคดีแพ่ง กรุงเทพมหานคร 5 เข้าส่งมอบพื้นที่โครงการห้างพีเพิลพาร์ค ตั้งอยู่บริเวณถนน อ่อนนุช (สุขุมวิท 77) ก่อนเกิดวิวาทะระหว่างผู้เช่าพื้นที่เดิมนั้น

ล่าสุด นาย พัชรพล ชันคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ACAP แจ้งผ่านตลาดหลีกทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ก่อนหน้านี้ ACAP ได้ปล่อยสินเชื่อให้แก่ บริษัท พีเพิล โซไซตี้ จํากัด เพื่อดำเนินการก่อสร้างห้างสรรพสินค้า โครงการ พีเพิล พาร์ค ในช่วงปี 2561 โดย บริษัท พีเพิล โซไซตี้ จํากัด ได้นําสิทธิการใช้ประโยชน์โครงการพัฒนาที่ดินบริเวณถนนอ่อนนุช สุขุมวิท 77 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาประกันการชําระหนี้

หลังจากที่ บริษัท พีเพิล โซไซตี้ จํากัด ทำสัญญากู้ยืมเงินไปแล้ว บริษัท พีเพิล โซไซตี้ จํากัด ได้ส่งหนังสือถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขออนุญาตนําสิทธิการใช้ประโยชน์ไปเป็นหลักประกันการชําระหนี้ให้กับบริษัทและต่อมาจุฬาฯ ได้อนุญาตให้ บริษัท พีเพิล โซไซตี้ จํากัด นําสิทธิใช้ประโยชน์ตามสัญญาให้สิทธิไปใช้ประโยชน์โครงการพัฒนาที่ดินบริเวณถนนอ่อนนุช สุขุมวิท 77 มาเป็นหลักประกันเงินกู้ยืมให้แก่ ACAP ตามที่ บริษัท พีเพิลฯ ร้องขอ

โดย เมื่อวันที่ 31 กรกฏาคม 2561 บริษัท พีเพิล โซไซตี้ จํากัด , จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ACAP ได้ร่วมกันทำสัญญานําสิทธิการเช่าไปประกันการชําระหนี้หลังจากทำสัญญานําสิทธิการเช่าไปประกันการชําระหนี้แล้ว บริษัท พีเพิล โซไซตี้ จํากัด ได้รับเงินกู้จาก ACAP ไปหลายครั้ง คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 481,000,000 บาท และยังไม่ดำเนินการชําระเงินคืนทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นแต่อย่างใด

นอกจากนี้บริษัท พีเพิล โซไซตี้ จํากัด ก็ไม่เสนอแผนการคืนเงินภายในกําหนดระยะเวลาแต่อย่างใด บริษัทฯ จึงมีหนังสือแจ้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2562 ให้ดําเนินการเปลี่ยนคู่สัญญาและโอนสิทธิต่างๆ ตามสัญญานําสิทธิการเช่าไปประกันการชําระหนี้ให้แก่บริษัท โอเค แคช จํากัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทฯ เนื่องจากบริษัทฯ ประกอบธุรกิจปล่อยสินเชื่อภาคธุรกิจ

ทำให้ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ACAP และ บริษัท โอเค แคช จํากัด ได้ทําบันทึกข้อตกลงโอนสิทธิการเช่าและเมื่อวันที่ 15 กรกฏคม 2563 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับ บริษัท โอเค แคช จํากัด ได้ทําสัญญาให้ใช้ประโยชน์โครงการพัฒนาที่ดิน บริเวณถนนอ่อนนุช (สุขุมวิท 77) และบริษัทฯ ได้ฟ้อง บริษัท พีเพิล โซไซตี้ จํากัด ต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 เพื่อขอให้ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้จําเลยเป็นบุคคลล้มละลายต่อไป

ศาลอุทธรณ์ชํานาญพิเศษ พิพากษาให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของบริษัท พีเพิล โซไซตี้ จํากัด อ่านเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 ทําให้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ มีอํานาจจัดการและรวบรวมทรัพย์สินทั้งหมดของ บริษัท พีเพิล โซไซตี้ จํากัด ซึ่งส่งผลทําให้กรรมการของบริษัทพีเพิลฯ ไม่มีอํานาจดําเนินการเกี่ยวกับกิจการใดๆ ของบริษัท พีเพิล โซไซตี้ จํากัดอีกต่อไป

นอกจากนี้ ACAP และ บริษัท โอเค แคช จํากัด ได้ฟ้อง บริษัท พีเพิล โซไซตี้ จํากัด ต่อศาลแพ่ง เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2563 เพื่อให้ดําเนินการส่งมอบพื้นที่โครงการพีเพิล พาร์ค พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่บริษัท โอเค แคช จํากัด และห้ามจําเลยทั้งหมดเข้ายุ่งเกี่ยวกับ โครงการดังกล่าวอีกต่อไป ซึ่งศาลแพ่งมีคำพิพากษาตามที่ร้องขอ หากไม่สามารถปฏิบัติตามได้ต้องใช้เงิน 1,500,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง และให้ชําระค่าขาดประโยชน์เดือนละ 20,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบโครงการพีเพิล พาร์ค ให้ได้

หลังจากนั้นบริษัทฯ ได้ขอศาลออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดี ดําเนินการส่งมอบพื้นที่ให้แก่บริษัท โอเค แคช จํากัด ตามคําพิพากษา แม้บริษัท พีเพิล โซไซตี้ จํากัด จะอ้างว่าตนยังอุทธรณ์อยู่ คดียังไม่ถึงที่สุด แต่การอุทธรณ์นั้น ไม่เป็นเหตุแห่งการให้ทุเลาบังคับคดีหากไม่มีคําสั่งศาลให้ทุเลาบังคับคดี ดังนั้นในวันที่ 9 สิงหาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่ปรากฏในคลิป เจ้าพนักงานบังคับคดี ได้ดําเนินการส่งมอบพื้นที่ให้แก่ บริษัท โอเค แคช จํากัด

โดยในวันดังกล่าวได้มีเจ้าหน้าที่ตํารวจหลายนาย ร่วมกันสังเกตุการณ์และคอยป้องกันระงับเหตุ แต่หลังจากที่เจ้าพนักงานบังคับคดีและเจ้าหน้าที่ตํารวจได้เดินทางออกจากพื้นที่แล้ว กลุ่มบุคคลของบริษัท พีเพิล โซไซตี้ จํากัด ได้ดําเนินการล้อมพนักงานและทนายความของบริษัทฯ เอาไว้ จึงเกิดมีการโต้เถียงกันตามที่ปรากฎเป็นภาพข่าวดังกล่าว

ส่วนชายที่ปรากฎตามภาพข่าวเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ของ บริษัท พีเพิล โซไซตี้ จํากัด และเป็นบิดาของกรรมการของบริษัท พีเพิลฯ เป็นบุคลที่มีชื่อเสียงในวงการตลาดทุน เคยเป็นอดีตนักการเมืองมาก่อน รู้จักสื่อมากมายทั้งหนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์ จึงไม่แปลกที่จะนําข่าวด้านเดียวนําเสนอให้แก่ นักข่าว นักหนังสือพิมพ์ ให้เสนอข่าวในเชิงลบแก่บริษัทฯ ปลุกปั่นสร้างกระแสทุกวิถีทางเพื่อทําลายความน่าเชื่อถือของบริษัทฯ ที่มีต่อนักลงทุนและเจ้าหนี้หุ้นกู้ และยังมีความพยายามที่จะกลั่นแกล้งดําเนินคดี กับกรรมการและพนักงานของบริษัทฯ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อทําลายชื่อเสียง พนักงานของบริษัทฯ

บริษัทฯ จําเป็นต้องดําเนินการตามกฎหมายคือการบังคับหลักประกันเพื่อนํามาชําระหนี้ นี่คือหลักปฏิบัติที่บริษัทฯ ดําเนินการกับลูกหนี้ทุกราย ขณะเดียวกัน บริษัทฯ มีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาหนี้สินของบริษัทฯ เพื่อให้กลับมาทําธุรกิจมีผลกําไรได้ตามเดิม บริษัทฯ ได้ดําเนินการยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักทรัพย์ไว้แล้วเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 และได้มีการจัดประชุมเจ้าหนี้ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา มีเจ้าหนี้ได้ยื่นขอแก้ไขแผน บริษัทฯจึงจําเป็นต้องกลับมาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป และจะมีการนัดประชุมเจ้าหนี้เพื่ออนุมัติแผนฟื้นฟู กิจการอีกครั้งในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567

Back to top button