กฟผ.แจงค่าเอฟทีปี 58 ลดต่อเนื่องตามต้นทุนผลิตไฟฟ้า-การพิจารณาขึ้นกับกกพ.

กฟผ.แจงค่าเอฟทีปี 58 ลดต่อเนื่องตามต้นทุนผลิตไฟฟ้า-การพิจารณาขึ้นกับกกพ.


นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการกิจการสังคม ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กรณีที่มีการเผยแพร่ความคิดเห็นทาง Social Media ที่ว่า กฟผ. ขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ในปี 58 โดยอ้างเหตุผลว่ามีความจำเป็นเนื่องจากค่าน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าสูงขึ้นตามไปด้วย และรายได้จากค่าเอฟทีได้สร้างกำไรให้ กฟผ. มากขึ้นนั้น ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ซึ่งข้อเท็จจริงคือ ในปี 2558 ไม่ได้มีการปรับขึ้นเอฟที หรือค่าไฟฟ้าผันแปรแต่อย่างใด

ในปี 2558 ที่ผ่านมาคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ปรับลดค่าไฟฟ้าเอฟที จำนวน 3 ครั้ง รวม 22.62 สตางค์ต่อหน่วย ได้แก่ งวดเดือนมกราคม-เมษายน 2558 ลดลง 10.04 สตางค์ต่อหน่วย,งวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2558 ลดลง 9.35 สตางค์ต่อหน่วย และงวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2558 ลดลง 3.23 สตางค์ต่อหน่วย และ กกพ. ได้มีมติเห็นชอบให้ปรับลดค่าเอฟทีลงอีก 1.57 สตางค์ต่อหน่วยในงวดเดือนมกราคม – เมษายน 2559 อีกด้วย

นายสหรัฐ กล่าวต่อไปว่า การกำหนดค่าเอฟทีดังกล่าวไม่ได้ทำให้ กฟผ.มีกำไรจากการดำเนินการเพิ่มหรือลดลง เนื่องจากเป็นการปรับเพิ่มหรือลดตามต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของ กฟผ.ตามสูตรการปรับค่าเอฟทีอัตโนมัติที่ต้องการให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมต่อผู้บริโภค โดย กกพ.ซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ และผู้บริโภค ร่วมเป็นคณะอนุกรรมการกำกับดูแลอัตราค่าพลังงานและค่าบริการ ทำหน้าที่พิจารณากำหนดค่าเอฟทีทุกๆ 4 เดือน

สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อค่าเอฟที ประกอบด้วย ค่าเชื้อเพลิง ค่าซื้อไฟฟ้า (ที่เปลี่ยนแปลงไปจากค่าไฟฟ้าฐาน) และผลกระทบจากนโยบายของรัฐ เช่น การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น

ทั้งนี้ ปัจจัยค่าเชื้อเพลิงเป็นส่วนสำคัญต่อค่าเอฟที เนื่องจากประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าถึงร้อยละ 70   ซึ่งการลดลงหรือเพิ่มขึ้นของราคาก๊าซธรรมชาติจะน้อยกว่าราคาน้ำมัน เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติภายในประเทศผูกกับราคาน้ำมันในตลาดโลกประมาณ ร้อยละ 30   ซึ่งราคาน้ำมันที่ลดลงในปี 2558 ร้อยละ 61 จึงส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้ผลิตไฟฟ้าลดลงร้อยละ 19 นอกจากนี้ ราคาก๊าซธรรมชาติจะเปลี่ยนแปลงตามหลังราคาน้ำมันประมาณ 6 เดือน  

ปัจจัยค่าซื้อไฟฟ้าผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ (IPP) และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ปรับขึ้นลงตามราคาเชื้อเพลิงเช่นกัน รวมถึงปัจจัยผลกระทบจากนโยบายรัฐ รัฐบาลให้การสนับสนุนค่าซื้อไฟฟ้าส่วนหนึ่ง ค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่ม (Adder, FiT- Feed-in Tariff) จากพลังงานหมุนเวียน เช่น แสงแดด ลม ชีวมวล โดยเงินอุดหนุนพลังงานหมุนเวียนในปี 2558 คิดเป็น 18.6 สตางค์ต่อหน่วย เพิ่มขึ้นจากปี 2557 จำนวน 7.3 สตางค์ต่อหน่วย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามปริมาณพลังงานหมุนเวียนที่รับซื้อมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยจากอัตราแลกเปลี่ยน ที่ส่งผลกระทบต่อค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อกระแสไฟฟ้าด้วย โดยค่าเงินบาทที่อ่อนลง จะมีผลต่อค่าเชื้อเพลิง และส่งผลต่อค่าเอฟทีเพิ่มขึ้น และในทำนองเดียวกัน ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นก็มีผลให้ค่าเอฟทีลดลงเช่นกัน  

Back to top button