SCC เพิ่มการลงทุน..ลดความเสี่ยง..!?

ถือเป็นความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ (อีกครั้ง) ของ SCC โดย “ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ประกาศแผนลงทุน 5 ปี มูลค่า 200,000 ล้านบาท


ถือเป็นความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ (อีกครั้ง) ของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC โดย “ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ประกาศแผนลงทุน 5 ปี (ปี 2568-2572) มูลค่า 200,000 ล้านบาท (เฉลี่ยปีละ 40,000 ล้านบาท หลังจาก SCC เผชิญปัญหากำไรสุทธิถดถอยและอัตรากำไรหดแคบลงอย่างต่อเนื่อง ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา

นั่นถือว่า..ท้าทายกับแผนการขยายการลงทุน 5 ปี มูลค่า 200,000 ล้านบาท อย่างน่าสนใจเลยทีเดียว 

เริ่มจาก “ธุรกิจซีเมนต์และโซลูชั่น” มีแผนขยายตลาดสำหรับซีเมนต์คาร์บอนต่ำจากประเทศไทย ขยายเข้าสู่ตลาดอื่น ๆ ทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตลาดตะวันตก (สหรัฐฯ, แคนาดา, ออสเตรเลีย) พร้อมอัพเกรดซีเมนต์คาร์บอนต่ำ ไปสู่รุ่นที่ 3 ที่มีปริมาณคาร์บอนต่ำลงอีก 40-50% ภายในปี 2569

ถือเป็นการขยายฐานตลาดให้กว้างขึ้นและช่วยเพิ่มอัตรากำไรของผลิตภัณฑ์ (มาร์จิ้น) ด้วยเช่นกัน

ตามด้วย “ธุรกิจปิโตรเคมี” มีแผนอัพเกรดโครงการลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ (LSP) เพื่อใช้อีเทนเป็นวัตถุดิบหลักอีกชนิดหนึ่ง นอกเหนือจากแนฟทาและโพรเพน โดยโครงการนี้จะเสร็จสิ้นภายในปลายปี 2570 หรืออย่างช้าต้นปี 2571

ผลลัพธ์ที่ได้คือการประหยัดต้นทุนวัตถุดิบประมาณ 200-400 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

สำหรับปัจจุบันโครงการ LSP ผ่านขั้นตอนการทดสอบต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว โดยจะประกาศการเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในปีนี้ แต่ว่าอัตราการใช้กำลังผลิตของโรงงาน จะเผชิญความท้าทายจากการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี ที่เป็นไปอย่างเชื่องช้า ๆ..!!??

ขณะที่ “ธุรกิจสมาร์ทลิฟวิ่งโซลูชัน” จากแผนดำเนินงานใหม่นี้ มีเป้าหมายเพื่อค้นหาตลาดที่เหมาะสมสำหรับผลิตภัณฑ์ของ SCC และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เมื่อจำเป็นต้องแข่งขันกับผลิตภัณฑ์จากจีน โดยวัสดุที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ SCC จะเน้นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วัสดุใหม่ที่ยั่งยืนและผลิตภัณฑ์ที่มีราคาสามารถจับต้องได้มากขึ้น

“การนำเสนอโซลูชันและระบบอัจฉริยะ” ให้กับลูกค้าจะสร้างความแตกต่างและปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ของ SCC ให้แตกต่างกว่าคู่แข่งมากขึ้น

ขณะที่ธุรกิจใหม่อย่าง “ธุรกิจพลังงานสะอาด” มีการตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียน เป็น 3,500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 จากกำลังการผลิตในปัจจุบัน 600 เมกะวัตต์ พร้อมวางแผนขยายธุรกิจแบตเตอรี่ความร้อน (เทคโนโลยี RONDO) เป็น 1,500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573

นี่อาจเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตสูงและมีเป้าหมายระยะยาวในการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ปี 2593

ส่วนเรื่องการเงินจะเกี่ยวข้องกับการลดอัตราส่วนหนี้สิน การจัดลำดับความสำคัญของค่าใช้จ่ายการลงทุน (capex) และการขายสินทรัพย์หรือเงินลงทุนที่ให้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า พร้อมกับมีเป้าหมายลดอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากปัจจุบันมีสูงเกือบ 6 เท่า แต่ไม่มีเงื่อนไขทางการเงินเกี่ยวกับอัตราส่วนดังกล่าวกับธนาคารหรือผู้ถือหุ้นกู้แต่อย่างใด

จากข้อมูลตลอดช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา “มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด” (Market Cap) ปรับลดลงจากระดับ 453,600 ล้านบาท (ปี 2563) มาอยู่ที่ระดับ 285,600 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิจากระดับ 9.16% เหลือเพียง 2.19 % และอัตราเงินปันผลตอบแทนจาก 3.70% เหลือพียง 2.52%

นั่นทำให้บรรดานักลงทุนต่างคาดหวังว่า..ด้วยแผนลงทุนมากถึง 200,000 ล้านบาท น่าจะเพียงพอที่ช่วยทำให้ตัวเลขต่าง ๆ  ที่เคยตกหล่นลงไป..ฟื้นคืนกลับมาได้บ้างไม่มากก็น้อย..!!??

สุภชัย ปกป้อง

Back to top button