ตลาดที่เปราะบางพลวัต 2016

ตลาดหุ้นไทยทำท่าบวกขึ้นมาได้แค่ 2 วัน โดยที่เมื่อวานนี้ ก็ยังมีแรงซื้อเข้ามาต่อเนื่องทำให้ตลาดปิดบวกไป 10.11 จุดเหนือระดับ 1,288 จุด และมีโอกาสที่จะไปท้าทายแนวต้านที่ 1,300 จุด แต่ตอนปิดตลาด สัญญาณทางเทคนิค ซึ่งสะท้อนว่า แรงซื้อกำลังจะสิ้นสุดลงได้เกิดขึ้นแล้ว เมื่อสัญญาณแท่งเทียนปรากฏเป็นลักษณะ ค้อนหัวกลับ หรือ reversed hammer พอดี


วิษณุ โชลิตกุล

 

ตลาดหุ้นไทยทำท่าบวกขึ้นมาได้แค่ 2 วัน  โดยที่เมื่อวานนี้ ก็ยังมีแรงซื้อเข้ามาต่อเนื่องทำให้ตลาดปิดบวกไป 10.11 จุดเหนือระดับ 1,288 จุด และมีโอกาสที่จะไปท้าทายแนวต้านที่ 1,300 จุด แต่ตอนปิดตลาด สัญญาณทางเทคนิค ซึ่งสะท้อนว่า แรงซื้อกำลังจะสิ้นสุดลงได้เกิดขึ้นแล้ว เมื่อสัญญาณแท่งเทียนปรากฏเป็นลักษณะ ค้อนหัวกลับ หรือ reversed hammer พอดี

ไม่เพียงเท่านั้น หลังปิดตลาดหุ้นไทยได้ไม่กี่ชั่วโมง ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก 2 แห่งสำคัญ ที่ทำท่าจะบวกทะลุไปยืนเหนือ 33 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากข่าวเรื่องการที่รัสเซีย ซึ่งเป็นชาตินอกโอเปกที่ส่งออกน้ำมันมากที่สุด (แต่ไม่ได้ผลิตมากสุดเหมือนสหรัฐฯ) หาทางเจรจาเพื่อยุติการหั่นราคาส่งออกรุนแรงกับโอเปก ที่ผลักดันราคาน้ำมันให้พุ่งขึ้นมาได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง ก็ร่วงทันตา เมื่อตัวแทนฝ่ายรัสเซียออกมาให้ข่าวว่า การเจรจารอบแรก ทำท่าส่อเค้าล่ม

เหตุผลก็ดูง่ายมากคือ รัสเซียกำลังหารือในประเด็นความไม่มีเสถียรภาพของตลาดน้ำมันร่วมกับซาอุดีอาระเบีย และโอเปก แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปในการหารือดังกล่าวแต่อย่างใด เพราะทางฝ่ายรัสเซียยังไม่มีแผนการที่เป็นรูปธรรมในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันร่วมกับซาอุดีอาระเบีย และโอเปก

ปฏิกิริยาทันทีทันควันคือ ราคาน้ำมันดิบร่วงลงจากจุดสูงสุดทันที เพราะความมั่นใจที่ว่าการเจรจาจะคืบหน้าไปได้ แหลกสลายไปในพริบตา ส่งผลให้ราคาหุ้นในตลาดและดัชนีตลาดยูโรโซนที่เปิดทำการอยู่ในยามนั้น ร่วงลงแรงรับข่าวทันทีจากที่ทำท่าลบอยู่เล็กน้อย

 อันที่จริงแล้ว ความเป็นไปได้ของการเจรจาระหว่างรัสเซียกับโอเปกนั้น เป็นสิ่งที่ควรคาดเดาเอาไว้แล้วว่าจะไม่ราบรื่นและลงตัวง่ายๆ แต่โลกยามนี้ก็เปรียบได้กับคนที่ตกอยู่ในสภาพเรือแตกที่ลอยคอกลางทะเลลึกที่เต็มไปด้วยมรสุม พร้อมจะแสดงความยินดีกับ “ขอนไม้ผุๆ” ที่ลอยมาใกล้ตัวได้ทุกเมื่อในฐานะเครื่องช่วยชีวิต ทั้งที่ความจริงแล้ว ไม่มีใครรู้ว่านั่นจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

ตลาดเก็งกำไรที่มี “ชีวิตอยู่กับความคาดหวังเชิงบวก” จึงมีความเปราะบางอย่างมากในยามนี้  เพราะข้อมูลอีกด้านหนึ่งเมื่อวานนี้ก็คือ  สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐฯ (EIA) ระบุว่า สต๊อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯเพิ่มขึ้นมากเกินคาดในสัปดาห์ที่แล้ว ถึง 8.4 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 494.9 ล้านบาร์เรล โดยเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 3.3 ล้านบาร์เรล  ซึ่งทำให้คำปลอบโยนที่เลื่อนลอยของ ประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานี แห่งอิหร่านที่ว่า ภาวะราคาน้ำมันต่ำจะไม่ดำรงอยู่เป็นเวลานาน เนื่องจากผู้ผลิตจะสามารถรื้อฟื้นภาวะสมดุลในตลาดได้ หมดความหมายในทันที

ความเปราะบางของตลาดหุ้นในยูโรโซนก็เช่นกัน เมื่อมีตัวเลขผลสำรวจของ คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ (ESI) ซึ่งวัดความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจพบว่า ร่วงลงสู่ระดับ 105.0 ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.ปีที่แล้ว จากระดับ 106.7 ในเดือนธ.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 106.5 โดยมีรายละเอียดเสริมคือ  ความเชื่อมั่นลดลงอย่างมากในสเปนและเยอรมนี แต่ดีดตัวขึ้นในฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์

ที่มีอิทธิพิลต่อตลาดหุ้นมากที่สุดคือ  ความเห็นของ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟดฯสหรัฐฯ หลังมติให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ในช่วง 0.25-0.50% ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ ได้แสดงความกังวลครั้งใหม่เกี่ยวกับภาวะผันผวนในตลาดการเงิน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจในต่างประเทศ ส่งผลต่อค่าดอลลาร์รุนแรงในทันที

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อวานนี้ ดัชนีตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ยังแสดงอาการวิปริตจากการขายออกที่ไม่ยอมหยุดของนักลงทุน ทำให้ดัชนีหลุดแนวรับไปใต้ 2,700 จุดไปแล้ว ซึ่งเท่ากับทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศมากกว่า 3.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐของจีนที่ออกมาอุ้มตลาดในระยะ 6 เดือนที่ผ่านมา เพื่อพยุงดัชนีตลาดให้อยู่เหนือแนวรับ 3,000 จุดให้ได้ (ไม่นับเงินอัดฉีดสภาพคล่องในตลาดเงินจำนวนไล่เลี่ยกันอีกต่างหาก) กลายเป็นความสูญเปล่าที่หายวับไปทันที

ยุคของราคาน้ำมันถูกที่กำลังเกิดขึ้นโดยที่ผู้บริโภคจะเริ่มคุ้นชินกับยุคนี้ อาจจะยาวนานกว่าที่ทุกคนคาดหมาย และตลาดเก็งกำไรทุกชนิด ยังคงเป็นตลาดที่เปราะบางไปอีกนานหลายเดือน

หลายเดือนมาแล้วที่นักลงทุนไม่รู้สึกศรัทธาต่อนักวิเคราะห์หรือผู้ช่ำชองด้านตลาดเก็งกำไรที่ว่า “ตลาดได้พ้นจุดต่ำสุดมาแล้ว” แต่หันมาเริ่มชินชากับภาวะ “แมวตายเด้ง” จากการรีบาวด์สั้นๆ เพื่อลงต่อของดัชนีราคา หรือตลาดทุกแห่งทั่วโลก จากปัจจัยลบมากกว่าปัจจัยบวก ที่โหมกระหน่ำจากหลายด้านพร้อมกันเหมือน “สหบาทา”ในภาวะที่ตลาดโลกกำลังปรับโฉมใหม่ ที่ถือเป็นการ “เปลี่ยนกระบวนทัศน์” อย่างมีนัยสำคัญ

“ก้นเหว” กลายเป็นคำที่หมายถึงมายาภาพที่หลอกนักลงทุนครั้งแล้วครั้งเล่า ในยามที่ตลาดมีความเปราะบางเช่นนี้เสมอ

คำถามอยู่ที่ว่า นักสู้ในสนามตลาดเก็งกำไรที่ช่ำชองนั้น สามารถดูดซับประสบการณ์นี้และแปรเป็นกำไรได้มากน้อย หรือไม่ได้เลยต่างหาก เป็นโจทย์ที่ต้องตอบ

เสมือนที่มีคนบอกว่ายามนี้ มีแต่มือสมัครเล่นเกลื่อนตลาด ซึ่งก็ไม่ผิด เพราะมืออาชีพนั้นกลายเป็น “เซียนอยู่รู” ได้ง่ายเหลือเกิน

Back to top button