“แม่ริม” อ่วมหนัก! น้ำป่าซัดบ้านเรือน ปชช. ริมตลิ่งพังหลายหลัง

เชียงใหม่อ่วม “น้ำป่าทะลัก" กระทบพื้นที่ อำเภอแม่ริม ทำบ้านเรือนประชาชนถล่มหลายหลัง ฟาก “ปภ.” ชี้ ยอดผู้เสียหายจากอุทกภัย ในพื้นที่เชียงใหม่กว่า 1,025 ครัวเรือน


ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (24 ก.ย.67) จากสถานการณ์ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือ ทำให้ปริมาณน้ำในดินสะสมจนเกิดน้ำป่าไหลหลาก ล้นเข้าท่วมถนนและบ้านเรือนประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย, อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ และ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบกได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ขณะที่ในพื้นที่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย มณฑลทหารบกที่ 33 ซึ่งมีชุดบรรเทาสาธารณภัยเคลื่อนที่เร็วของ กองพลทหารราบที่ 7 พร้อมยุทโธปกรณ์ และยานพาหนะ ร่วมกับส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยน้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ บ.ห้วยโจ้, บ.ต้นแก้ว บ.ท้องฝาย และ บ.โฮ่ง ใน ต.แม่แรม โดยได้ช่วยอพยพประชาชนไปยังพื้นที่ปลอดภัยและขนย้ายสิ่งของเครื่องใช้ภายในบ้านเรือนของประชาชนขึ้นที่สูง

ส่วนพื้นที่ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ได้รับผลกระทบจากน้ำป่าดอยขุนตาลไหลหลากจนล้นห้วยแม่ตาลเข้าท่วมบ้านเรือน ประชาชนเสียหายกว่า 500 หลัง รวมถึงเส้นทางคมนาคมถูกน้ำกัดเซาะจนเกิดความเสียหายทำให้ไม่สามารถสัญจรในพื้นที่ได้ ซึ่งศูนย์บรรเทาสาธารณภัยมณฑลทหารบกที่ 32 จัดชุดบรรเทาสาธารณภัยและกำลังพลจิตอาสา นำเครื่องอุปโภค – บริโภค เข้ามอบให้ประชาชนในพื้นที่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อเข้าช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ล่าสุด ในตำบลริมใต้ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ มีบ้านเรือนถูกน้ำในลำน้ำแม่สาที่เพิ่มสูงขึ้นจากน้ำป่ากัดเซาะตลิ่งทำให้บ้านทรุดพังถล่มลงไปทั้งหลังเมื่อช่วงเย็นววานนี้
อีกทั้งมีรายงานว่าเมื่อคืนที่ผ่านมาประมาณ 01:00 น มีบ้านเรือนของ นางคำ วงนาค อายุ 72 ปี ถูกน้ำกัดเซาะตลิ่งจนพังถล่มลงไปเพิ่มอีกหลังหนึ่ง สร้างความตื่นตกใจให้กับชาวบ้านในบริเวณนี้ ขณะที่เจ้าของบ้านได้ย้ายออกไปอยู่บ้านญาติตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมาหลังจากเห็นสถานการณ์ไม่ดี ทำให้ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

ขณะที่ นางมุกดา วงนาค อายุ 65 ปี เจ้าของบ้านหลังแรกที่พังถล่มเมื่อช่วงเย็นวานนี้ และ นางคำ วงนาค อายุ 72 ปี เจ้าของบ้านหลังที่ 2 ที่เสียหายได้กลับมาดูสภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบ้านของ

โดย นางคำ เปิดเผยว่า บ้านหลังนี้สร้างมา 10 ปี ที่ ซึ่งที่ผ่านมาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ได้มาช่วยเสริมความมั่นคงแข็งแรงให้กับตลิ่งโดยใช้ท่อนไม้มาปักและวางแนวกระสอบทราย แต่ปีนี้กระแสน้ำมาแรงมาก จนซัดกระสอบทรายหายไปกับสายน้ำ และใช้เวลาไม่ถึงครึ่งวันกัดเซาะดินขอบตลิ่งจนทำให้บ้านทรุดตัวดังกล่าว หลังจากนี้ไปก็คงจะไม่ซ่อมแซมหรือสร้างบ้านใหม่ตรงจุดเดิมเพราะกลัวจะเกิดอันตรายในปีต่อๆไป พร้อมกับขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้การช่วยเหลือ

ขณะที่ นางมุกดาเจ้าของบ้านหลังแรก บอกว่าบ้านหลังนี้กู้เงินธนาคารประมาณ 500,000 บาท มาสร้าง แต่อาศัยอยู่ได้ประมาณ 4 ปี ก็มาพังเสียหายไปทั้งหมด ซึ่งวินาทีที่บ้านพังถล่มต่อหน้าต่อตาทำให้ถึงกับเข่าทรุดทำอะไรไม่ได้ และหลังจากนี้ก็คงจะหาเงินไปสร้างบ้านที่ใหม่ที่ไม่อยู่ติดแม่น้ำอีก

อย่างไรก็ตาม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้สรุปรายงานมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย, เชียงใหม่, น่าน, ลำปาง, แพร่, พิษณุโลก, เลย, หนองคาย และพระนครศรีอยุธยา รวม 34 อำเภอ 157 ตำบล 630 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 22,253 ครัวเรือน

ขณะที่ ระหว่างวันที่ 16 ส.ค. – 24 ก.ย. 67 เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 33 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย, เชียงใหม่, แม่ฮ่องสอน, ตาก, พะเยา, น่าน, ลำพูน, ลำปาง, แพร่, อุตรดิตถ์, สุโขทัย, พิษณุโลก, นครสวรรค์, เพชรบูรณ์, เลย, อุดรธานี, หนองคาย, นครพนม, บึงกาฬ, หนองบัวลำภู, ปราจีนบุรี, อ่างทอง, พระนครศรีอยุธยา, ปทุมธานี, ระยอง, ชุมพร, สุราษฎร์ธานี, ภูเก็ต, ยะลา, นครศรีธรรมราช, พังงา, ตรัง, สตูล รวม 179 อำเภอ 788 ตำบล 4,135 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 163,025 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิตรวม 46 ราย และได้รับบาดเจ็บรวม 24 คน

ซึ่งปัจจุบัน ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย, เชียงใหม่, น่าน, ลำปาง, แพร่, พิษณุโลก, เลย, หนองคาย และพระนครศรีอยุธยา รวมพื้นที่ได้รับผลกระทบ 34 อำเภอ 157 ตำบล 630 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 22,253 ครัวเรือน รายละเอียด ดังนี้

1) เชียงราย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่สาย อ.เมืองฯ และ อ.เวียงป่าเป้า รวม 10 ตำบล 35 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,093 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง

2) เชียงใหม่ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ อ.แม่ริม รวม 6 ตำบล 40 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,025 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง

3) น่าน เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.นาน้อย อ.นาหมื่น และ อ.เวียงสา รวม 6 ตำบล 7 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 25 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง

4) ลำปาง เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อ.งาว อ.เมืองฯ อ.เกาะคา อ.ห้างฉัตร อ.แม่พริก อ.สบปราบ อ.เถิน อ.แม่เมาะ และ อ.วังเหนือ รวม 25 ตำบล 66 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,871 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง

5) แพร่ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.ลอง และ อ.วังชิ้น รวม 6 ตำบล 10 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 108 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง

6) พิษณุโลก เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.พรหมพิราม อ.บางระกำ และ อ.เมืองฯ รวม 7 ตำบล 15 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 576 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว

7) เลย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ อ.นาด้วง และ อ.ภูเรือ รวม 4 ตำบล 10 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 136 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง

Back to top button