ก.ล.ต.ตามล้างตามเช็ดผู้บริหารบจ.ขี้ฉ้อ

เรียกได้ว่าเป็นคนพูดจริง ทำจริง สำหรับ “วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ” ประธานบอร์ดในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)


เส้นทางนักลงทุน

เรียกได้ว่าเป็นคนพูดจริง ทำจริง สำหรับ “วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ” ประธานบอร์ดในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ภายหลังจากที่ได้ออกมาประกาศกร้าว ณ วันเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 ว่าจะล้างบ้านก.ล.ต. โดยเฉพาะในส่วนของการเอาผิดกรณีการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่จะมีเปิดเผยออกมาทุกเดือน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนว่าก.ล.ต.เอาจริงเอาจังในการสร้างความเป็นธรรม และการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ

นับตั้งแต่ประธานบอร์ดก.ล.ต.คนใหม่เข้ามานั่งเก้าอี้ จะเห็นว่ามีคดีที่เป็นเคสใหญ่ ๆ ไหลออกมาจากสำนักงานก.ล.ต.จำนวนมาก เริ่มต้นจากวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ก.ล.ต.ดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 3 ราย ได้แก่ นางเพ็ญประภา ศิริสรรพ์, นางสาวสาธิดา ศิริสรรพ์ และ นายสุรพล อ้นสุวรรณ กรณีขายหุ้นบริษัท สหกลอิควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SQ โดยเป็นบุคคลซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน และกรณีช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการขายหุ้น SQ แก่บุคคลซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน โดยให้ผู้กระทำความผิดชำระเงินรวม 3,954,801 บาท และกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารกับผู้กระทำความผิดทั้ง 3 ราย

เคสที่ช็อกวงการตลาดทุนไทย เกิดขึ้นเมื่อก.ล.ต.แจ้งข่าวใหญ่ในเย็นวันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม 2567 กล่าวโทษบุคคล 3 ราย ประกอบด้วย นายสมโภชน์ อาหุนัย และ นายอมร ทรัพย์ทวีกุล ซึ่งเป็นกรรมการและผู้บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA รวมทั้งนายพรเลิศ เตชะรัตโนภาส ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีร่วมกระทำการทุจริต เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้แก่ตนเอง และ/หรือผู้อื่น ทำให้ EA และบริษัทย่อยเสียหาย พร้อมกันนี้ได้ส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อติดตามเส้นทางการเงินต่อไป

วันที่ 24 กรกฎาคม 2567 ก.ล.ต.ขอให้พนักงานอัยการฟ้องผู้กระทำความผิด 9 ราย ในกรณีสร้างราคาหุ้นของบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (NMG) บริษัท อุตสาหกรรม อีเล็คโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) (EIC) และบริษัท ตงฮั้ว โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TH) โดยกำหนดให้ชำระเงินรวม 33,677,137.50 บาท (ค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของก.ล.ต.เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด) และกำหนดระยะเวลาห้ามซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นระยะเวลารายละ 30 เดือน หรือ 28 เดือน หรือ 14 เดือน (แล้วแต่กรณี) และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นระยะเวลารายละ 60 เดือน หรือ 56 เดือน หรือ 28 เดือน (แล้วแต่กรณี)

ทั้งนี้ ผู้กระทำความผิดทั้ง 9 ราย ได้แก่ นายยรรยงค์ อินทรสงเคราะห์, นายภาณุรักษ์ แสงอร่าม, นายเอกวิชญ์ กมลเทพา, นายศิร์วสิษฏ์ สายน้ำผึ้ง, นางสาวกรรณิดา ตั้งกิจตรงเจริญ, นายภควันต์ วงษ์โอภาสี, นายกรวิช อัศวกุล, นางสาวกัญจนารัศม์ วงศ์พันธุ์ และนางมะลิวัลย์ วงศ์ชินศรี ซึ่งไม่ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ค.ม.พ.กำหนดพิจารณาได้ว่าผู้กระทำความผิดทั้ง 9 ราย ไม่ยินยอมที่จะระงับคดีในชั้นก.ล.ต.

วันที่ 1 สิงหาคม 2567 ก.ล.ต.ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งนายวรวุฒิ อุ่นใจ และนางสาวพชรพัชร์ ทองแว่น กรณีร่วมกันซื้อขายหุ้นบริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) (COL) เนื่องจากอาศัยข้อมูลภายในที่รู้หรือครอบครอง โดยให้ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ ชดใช้ค่าใช้จ่ายของก.ล.ต.เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด รวมกว่า 4.23 ล้านบาท และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ เป็นเวลา 14 เดือน และเป็นเวลา 12 เดือน ตามลำดับ

และล่าสุดเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 ก.ล.ต.ได้กล่าวโทษกรรมการ อดีตกรรมการและผู้บริหาร บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) (NUSA) และพวกรวม 6 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีธุรกรรมการเข้าลงทุนซื้อโรงแรมที่ต่างประเทศในราคาไม่สมเหตุสมผลอย่างมีนัยสำคัญ ธุรกรรมการขายห้องชุดของ NUSA ในราคาที่ต่ำกว่าราคาประเมิน รวมทั้งการผ่องถ่ายเงินจาก NUSA เข้าบัญชีส่วนตัวและบุคคลใกล้ชิด และกรณีการแสดงเอกสารและข้อมูลเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และ/หรือก.ล.ต. และผู้สอบบัญชี พร้อมกันนี้ได้ส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)

ประกอบด้วย นางศิริญา เทพเจริญ, นายวิษณุ เทพเจริญ, นายสมพิจิตร ชัยชนะจารักษ์, นายนนทวัชร์ ธนสุวิวัฒน์, นางสาววรินภร จันทรโรจน์วานิช และนางโฉมสุดา รุ่งเรืองเนาวรัตน์

ซึ่งประธานบอร์ดก.ล.ต.ประกาศก่อนหน้านี้ว่า นับจากนี้ไปแต่ละคดีจะต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการไม่นานเป็นปี ๆ ทำให้เห็นว่าเคสล่าสุดนี้ก.ล.ต.ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อปี 2566 และดำเนินการกล่าวโทษในปี 2567 เป็นระยะเวลาที่ไม่นาน

นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 23 กันยายน 2567 ก.ล.ต.ได้ดำเนินคดีอาญาด้วยการกล่าวโทษผู้กระทำผิดต่อพนักงานสอบสวน (บก.ปอศ.และ DSI) ฐานความผิดการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์/สินทรัพย์ดิจิทัล แบ่งเป็น การสร้างราคา 2 คดี จำนวน 21 ราย การแพร่ข่าว 2 คดี จำนวน 7 ราย การทุจริต จำนวน 5 คดี 15 ราย รวมเป็นจำนวนคดีทั้งสิ้น 9 คดี 43 ราย

ส่วนการดำเนินการตามมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำผิด กรณีการสร้างราคา มีจำนวน 6 คดี 62 ราย การใช้ข้อมูลภายใน/การเปิดเผยข้อมูลภายใน 3 คดี 9 ราย รวมเป็น 9 คดี 71 ราย โดยตกลงยินยอมชำระค่าปรับทางแพ่ง 8 คดี 39 ราย คิดเป็น ค่าปรับทางแพ่ง 268.58 ล้านบาท ชดใช้เงินเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับ 173.17 ล้านบาท และชดใช้เงินค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ 2.68 ล้านบาท

คำพูดที่ประธานบอร์ดก.ล.ต.ประกาศ ณ วันรับตำแหน่งว่าจะตามล้างตามเช็ดผู้บริหารบจ.ฉ้อฉล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับตลาดทุนไทย คือภารกิจที่ได้รับมอบหมายมา …ได้เริ่มขึ้นแล้ว!!!!

Back to top button