“เผ่าภูมิ” ค้านจำกัดไลเซนส์ “Virtual Bank” แนะใช้เกณฑ์คุณสมบัติตัดสิน

“รมช.คลัง" ค้านจำกัดจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา “Virtual Bank” เฟสแรก 3 ใบ แนะใช้เกณฑ์คุณสมบัติตัดสินให้ ใบอนุญาตประกอบธุรกิจมากกว่า


นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (รมช.คลัง) เปิดเผยถึงการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ว่า กระทรวงคลัง ไม่เห็นด้วยในการจำกัดจำนวนรายของผู้ที่จะได้รับการอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ Virtual Bank โดยมองว่าควรใช้การพิจารณาจากคุณสมบัติ มาเป็นเกณฑ์หลักในการพิจารณาให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจมากกว่า

ส่วนที่มีรายชื่อผู้ประกอบการ 5 ราย ที่ยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank กับธปท.นั้น นายเผ่าภูมิ มองว่า ถ้าทั้ง 5 ราย คุณสมบัติผ่านเกณฑ์ทั้งหมด ก็สมควรได้รับใบอนุญาตทั้งหมด ไม่ควรไปจำกัดจำนวนราย

“กระบวนการอยู่ระหว่างการพิจารณาของแบงก์ชาติ ซึ่งในขั้นตอนของแบงก์ชาติ คาดว่าจะใช้เวลา 6 เดือนเป็นอย่างน้อย และหลังจากน้นจะส่งรายละเอียดให้กระทรวงคลังพิจารณาต่อไป” นายเผ่าภูมิ ระบุ

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ ธปท. เคยออกมาระบุว่า จำนวนที่เหมาะสมสำหรับการจัดตั้ง Virtual Bank ในประเทศไทย ควรอยู่ที่ 3 ราย เนื่องจากเป็นจำนวนที่จะทำให้ได้เห็นความหลากหลายได้อย่างเพียงพอ และมี impact ในแง่ของการแข่งขัน

อนึ่งเมื่อวันที่ (23 ก.ย.67) นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงการคลัง และ ธปท. ได้ เปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจ ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) มายัง ธปท. จนถึงวันที่ 19 กันยายน 2567 นั้น

ปรากฏว่ามีผู้ยื่นคำขอจำนวนทั้งสิ้น 5 ราย ซึ่ง ธปท. จะพิจารณาคุณสมบัติ ศักยภาพ และความสามารถที่จะประกอบธุรกิจ Virtual Bank ของผู้ขออนุญาต ให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงการคลังเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ที่เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567

ขณะที่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจการเงินไทยโดยรวมและความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน ก่อนเสนอรายชื่อผู้ที่สมควรได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าจะสามารถประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้จัดตั้ง Virtual Bank ได้ภายในช่วงกลางปี 2568 โดยผู้ที่ได้รับความเห็นชอบจะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถเปิดดำเนินธุรกิจได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ

ส่วนก่อนหน้าหากดูตามข้อมูลปรากฏตามสื่อ พบว่า มีผู้ที่ทำการเสนอยื่นขอชิงไลเซนส์ ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ไปยังแบงก์ชาติจำนวน 5 กลุ่ม ดังนี้

1.บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB โดยร่วมมือกับพันธมิตรอย่าง “WeBank” ธนาคารดิจิทัลชั้นนำในประเทศจีนและ KakaoBank ธนาคารยักษ์ใหญ่ของจากเกาหลีใต้

2.กลุ่มพันธมิตรธุรกิจ ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC, ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB, และบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ได้ยื่นขอจัดตั้ง Virtual Bank เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยไม่มีบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เข้าร่วมในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนครั้งนี้ด้วย เนื่องจาก GULF ต้องการลงทุนใน Virtual Bank ผ่านทาง ADVANC ที่กัลฟ์ถือหุ้นอยู่กว่า 40% แล้ว จึงมองว่าจะเป็นการซ้ำซ้อนหากจะเข้าไปลงทุนร่วมกับ AIS

3.กลุ่ม Ascend Money ผู้ให้บริการอีวอลเล็ตภายใต้ชื่อ “ทรูมันนี่” ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทในเครือของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF จับมือ “แอนท์ กรุ๊ป” (Ant Group) ซึ่งเป็นผู้นำในฟินเทครวมถึงเป็นบริษัทลูกของ อาลีบาบา (Albaba) จากประเทศจีน

4.Sea Group ร่วมมือกับ 4 พันธมิตร อาทิ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL, บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ BTS โดยส่งบริษัทย่อย คือ บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI เป็นผู้ลงสนามดังกล่าว เครือสหพัฒน์ และ ไปรษณีย์ไทย

5.กลุ่ม Lightnet ภายใต้การก่อตั้งโดย นายชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ร่วมกับ Lightnet Group ร่วมมือกับ WeLab ผู้นำด้าน Virtual Bank ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ประสบความสำเร็จในฮ่องกงและอินโดนีเซียรองรับลูกค้ากว่า 65 ล้านราย และมีใบอนุญาตการให้บริการทางการเงินกว่า 20 ใบ ทั้งในเอเชียและยุโรปรวมถึงประเทศไทย

Back to top button