OR หนุน “โครงการพัฒนาการปลูกกาแฟอย่างยั่งยืน” ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ

OR ส่งเสริม “โครงการพัฒนาการปลูกกาแฟอย่างยั่งยืน” จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ตอกย้ำจุดยืนเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ปลูกกาแฟภาคเหนือ


นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR พร้อมด้วยนายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และคณะผู้บริหารระดับสูง OR เข้าเยี่ยมชมจุดรับซื้อและโรงแปรรูปเมล็ดกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ โดยมี นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ให้เกียรติร่วมในคณะ ซึ่ง OR เผยแนวคิดการพัฒนาอุทยานคาเฟ่อเมซอน จ.ลำปาง ตั้งเป้าปักหมุดเป็นศูนย์การเรียนรู้ธุรกิจกาแฟและแหล่งท่องเที่ยวใหม่ในภาคเหนือ พร้อมได้ร่วมมอบถุงยังชีพจำนวน 150 ชุด เพื่อส่งมอบต่อผู้ประสบภัยในพื้นที่รอบโรงแปรรูปเมล็ดกาแฟและ อ.แม่วาง ในโอกาสนี้ด้วย

ด้านนายดิษทัต เปิดเผยว่า OR ได้ทุ่มเทพัฒนา “โครงการพัฒนาการปลูกกาแฟอย่างยั่งยืน” โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการปลูกกาแฟควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ธรรมชาติในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ที่มีเป้าหมายสำคัญในการขยายผลองค์ความรู้การพัฒนาการปลูกและการผลิตกาแฟร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อเสริมสร้างทักษะและความรู้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ที่ยังขาดโอกาส ให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน รวมไปถึงการจัดตั้งจุดรับซื้อและโรงแปรรูปเมล็ดกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรับซื้อเมล็ดกาแฟกะลาอะราบิกาจากเกษตรกรโดยตรงในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ทั้งเป็นศูนย์พัฒนาทักษะความรู้ในการผลิตกาแฟให้กับเกษตรกรอีกด้วย

สำหรับโรงแปรรูปเมล็ดกาแฟ คาเฟ่ อเมซอนแห่งนี้ นอกจากช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจต้นน้ำของคาเฟ่ อเมซอน ยังถือเป็นต้นแบบในการสร้างโอกาสและพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟภาคเหนืออย่างยั่งยืนตามแนวทาง OR SDG อีกด้วย ซึ่งนับตั้งแต่เปิดดำเนินการมีการรับซื้อเมล็ดกาแฟกะลาจากเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในภาคเหนือรวมแล้วกว่า 362.7 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ารับซื้อกว่า 55 ล้านบาท โดยมีการซื้อขายผ่านระบบ KALA Web Application (กะลา เว็บ แอปพลิเคชัน) ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกษตรกร พื้นที่ปลูก คุณภาพเมล็ดกาแฟ และปริมาณกาแฟกะลาที่รับซื้อ โดยปัจจุบันมีเกษตรกรลงทะเบียนรวม 255 ราย แบ่งเป็นเกษตรกรจากเชียงราย 65% ลำปาง 18% เชียงใหม่ 12% และอีก 5% มาจากแม่ฮ่องสอน ตาก น่าน

ทั้งนี้ เผยแนวคิดโครงการพัฒนาอุทยานคาเฟ่อเมซอน (Café Amazon Park) บนพื้นที่กว่า 600 ไร่ ใน ต.กล้วยแพะ อ.เมือง จ.ลำปาง ที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจ คาเฟ่ อเมซอน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจ (ecosystem) ที่ยั่งยืน ซึ่ง “Café Amazon Park” จะเป็นทั้งแปลงเพาะปลูก ศูนย์วิจัยและพัฒนากาแฟสายพันธุ์ดี โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัยและแนวทางการเกษตรแบบผสมผสาน อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาพื้นที่และชุมชนในจังหวัดลำปางให้มีแลนด์มาร์คแห่งใหม่ ซึ่งจะเป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับธุรกิจกาแฟแบบครบวงจร

OR ตั้งใจที่จะให้อุทยานคาเฟ่อเมซอนเป็นต้นแบบศูนย์เรียนรู้ ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านกาแฟ เพื่อต่อยอดห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจต้นน้ำกาแฟแบบครบวงจร ทั้งการปลูก วิจัย และพัฒนาสายพันธุ์ตรงตามความต้องการของตลาด รวมถึงพัฒนาให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ พื้นที่ทำกิจกรรมต่างๆ ระหว่าง ORกับชุมชนจังหวัดลำปาง เป็นการผสมผสานวิถีชีวิต เกษตรกรรม วัฒนธรรมให้เข้ากับและระบบนิเวศได้อย่างลงตัว รวมถึงเป็นพื้นที่ให้องค์ความรู้กับผู้ประกอบการ นักศึกษา เพื่อเป็นการสร้างความภูมิใจในแบรนด์ และยังสร้างรายได้ในเชิงท่องเที่ยวให้กับจังหวัดลำปางอีกทางหนึ่งด้วย” นายดิษทัต กล่าว

สำหรับในพื้นที่ภาคเหนือนอกจาก 2 โครงการข้างต้น ที่ผ่านมา OR ได้เข้าไปมีส่วนร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในหลายพื้นที่ อาทิ กิจกรรมมอบชุดโต๊ะเก้าอี้ให้กับโรงเรียนวัดหลวงวิทยาและโรงเรียนวัดพระเจ้านั่งแท่น ต.กล้วยแพะ อ.เมือง จ.ลำปาง ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้ “โครงการ เซฟโลก เซฟรถ เพื่ออนาคตน้อง ๆ” โดยจะเก็บรวบรวมแกลลอนน้ำมันหล่อลื่นพีทีที ลูบริแคนท์ส (PTT Lubricants) ที่ใช้แล้วจาก ฟิต ออโต้ (FIT Auto) ผ่านกระบวนการ Upcycling แปรรูปเป็นโต๊ะและเก้าอี้ที่มีความแข็งแรงคงทน เป็นการช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤตขยะพลาสติกและการขาดแคลนโต๊ะของโรงเรียนต่าง ๆ

นอกจากนี้มีโครงการไทยเด็ด ข้าวแต๋นทวีพรรณ อ.เกาะคา จ.ลำปาง ขนมโบราณของภาคเหนือ ที่ได้รับรางวัล OTOP 3 ปีซ้อน ปัจจุบันวางจำหน่ายในร้านขายของฝากทั่วไป รวมถึงร้านไทยเด็ดในลำปาง, เชียงใหม่, พิจิตร, สมุทรสาคร, อุบลราชธานี และกรุงเทพมหานคร รายได้เฉลี่ยประมาณ 500,000 บาทต่อปี สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับครอบครัวและชุมชนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน

Back to top button