“ราคาสินค้า-อาหาร” แพงขึ้น! เซ่นสภาพอากาศทั่วโลกแย่

BNNBLOOMBERG ตีข่าววิเคราะห์เหตุที่ทำราคาสินค้าอาหารปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก มาจากผลพวงของสภาพอากาศทั่วโลกตั้งแต่ ทวีปเอเชีย ไปจนถึง ทวีปอเมริกา ต่างเจอภัยธรรมชาติเล่นงานกันถ้วนหน้า ส่งผลให้พืชผลทางเกษตรถดถอย


ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (1 ต.ค.67) สำนักข่าว “บีเอ็นเอ็นบลูมเบิร์ก” รายงานถึงสภาพอากาศย่ำแย่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภัยแล้ง, ฝนตกหนักน้ำท่วม และไฟป่า ตั้งแต่ทวีปเอเชีย ลุกลามไปถึง ทวีปอเมริกา กำลังสร้างความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าอาหารหลักปรับตัวสูงขึ้น จนนำไปสู่การเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายสูงขึ้นตามไปด้วยในอนาคต

โดยล่าสุด ดัชนีราคาสินค้าเกษตรของบลูมเบิร์ก (Bloomberg Agriculture Spot Index)  ซึ่งติดตามผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรหลัก 9 รายการในอเมริกา คาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 7% ต่อเดือน โดยถือว่าเพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครนจนทำให้ราคาเริ่มพุ่งสูงขึ้นตั้งแต่ปี 65 และถึงแม้ปีดังกล่าวดัชนียังต่ำอยู่ แต่ฟาร์มต่าง ๆทั้งประเทศบราซิลไปจนถึงประเทศเวียดนาม รวมถึงประเทศออสเตรเลีย ต่างต้องต่อสู้กับภัยน้ำท่วมและภัยแล้ง ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรอย่างต่อเนื่อง ทั้ง น้ำตาล ธัญพืชต่างๆ และกาแฟ

ส่วนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคส น้ำมันปาล์ม มีการผลิตลดลงเนื่องจากปัญหาต้นปาล์มมีอายุมากขึ้น ส่งผลให้ราคาในรอบ 5 เดือนข้างหน้ามีราคาที่สูงกว่าน้ำมันถั่วเหลือง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก

ด้าน เดนนิส วอซเนเซนสกี้ รองผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐศาสตร์เกษตรและความยั่งยืนจากธนาคาร คอมมอนเวลท์ แบงก์ ออฟ ออสเตรเลีย (Commonwealth Bank of Australia) เปิดเผย หากราคายังคงเพิ่มขึ้นต่อไป ราคาอาหารตามซูเปอร์มาร์เก็ตอาจเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

ขณะที่ นักวิเคราะห์จากเจพี มอร์แกน เชส (JPMorgan Chase) ระบุว่า ภัยแล้งที่ยังคงเกิดขึ้นในตอนเหนือและตอนกลางของบราซิลจะยังคงส่งผลกระทบต่อการผลิตพืชผลทางการเกษตร  ด้วยเหตุนี้ทำให้นักลงทุนยังจับตาสถานการณ์อย่างตึงเครียดทั้งในตะวันออกกลางและทะเลดำ ตลอดถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในวันที่ 5 พ.ย.67 นี้ว่าจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนอย่างไรบ้าง ซึ่งสหรัฐฯและจีน เป็นยักษ์ใหญ่ทางการค้าของโลก ดังนั้นตลาดการเกษตรต้องตื่นตัวไม่ควรอยู่นิ่งเฉย เราต้องจับตาทั้งสภาพอากาศและข่าวการเมืองโลกไปด้วย

Back to top button